หากตั้งประเด็นคำถามว่ารัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายเศรษฐกิจ หรือจัดวางน้ำหนักในการพัฒนาประเทศไว้ที่เรื่องใด เชื่อว่า โครงการเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) คงเป็นโครงการที่ผุดขึ้นในกระแสสำนึกอย่างทันที ด้วยเหตุที่สื่อประชาสัมพันธ์ภาครัฐต่างโหมประโคมโครงการที่ว่านี้ อย่างต่อเนื่องและเป็นประหนึ่งโครงการแห่งความหวังว่าจะช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ให้หลุดพ้นจากหุบเหวของความตกต่ำที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเสียที
แม้ว่าในความเป็นจริงโครงการที่ว่านี้ไม่ได้มีอะไรใหม่มากไปกว่าการพัฒนาพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือ การสานต่อและเติมเต็มโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ดำเนินมาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ให้มีความสดใหม่เพิ่มขึ้นและขยับให้ EEC เป็นประหนึ่งข้อต่อเชื่อมที่จะทำให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเสร็จสมบูรณ์เต็มตามเป้าประสงค์
ภายใต้แผนการพัฒนา EEC รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดวางแผนงานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ไว้ 8 แผนงาน ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบและบริการลอจิสติกส์ต่อเนื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ การพัฒนาศูนย์กลางการเงิน การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง และที่ดูจะให้ความสำคัญมากก็คือ การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยรวม
โดยก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จำนวน 212 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่การบริหารสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) ในการจัดทำแผนการลงทุน เสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสาร จัดทำมาตรการชักชวนนักลงทุนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว ในปีงบประมาณ 2560
เงินงบประมาณในส่วนนี้จำแนกเป็นค่าใช้จ่ายบริหารสำนักงาน จำนวน 10,905,900 บาท ค่าจัดทำแผนการลงทุน จำนวน 121,956,000 บาท ค่าเสริมสร้างภาพลักษณ์และการสื่อสาร จำนวน 30,000,000 บาท ค่าจัดทำมาตรการชักชวนนักลงทุน จำนวน 11,052,800 บาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศชั่วคราว จำนวน 38,358,800 บาท
ความพยายามของภาครัฐในการปลุกปั้น EEC ให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติตามเป้าหมายได้ส่งผลให้กลไกและบุคลากรภาครัฐกล่าวถึง EEC ประหนึ่งว่าเป็นแก้วสารพัดนึก และฝากความหวังไว้กับโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และการยกระดับสินค้าส่งออกไปสู่การผลิตสินค้าคุณภาพสูงในอนาคต
ความเป็นไปของ EEC ในด้านหนึ่งจึงผูกติดอยู่กับคาถาและวาทกรรมว่าด้วยการผลักดันให้เกิดเป็น ไทยแลนด์ 4.0 หรือการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม โดยการพัฒนาพื้นที่ใน EEC จะจัดวางและหยิบเอานโยบาย Thailand 4.0 สมาร์ทเทคโนโลยี-สมาร์ทประชาชน มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่
หากแต่ในอีกด้านหนึ่งดูเหมือนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะได้รับการสื่อสารให้กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ไร้ความหมายที่เด่นชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่แวดวงราชการไทยที่ยังพะวักพะวงอยู่กับงานเอกสารแบบอนาล็อก ทั้งที่สังคมรอบข้างได้พัฒนาไปสู่ยุคดิจิทัลไร้สายกันไปนานแล้ว
เป้าประสงค์สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานับจากนี้ ในด้านหนึ่งอยู่ที่ความพยายามหลีกหนีจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ซึ่งต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างขนานใหญ่ ซึ่ง EEC ก็ถูกระบุให้เป็นประหนึ่งต้นแบบในการลงทุนขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรมที่ห่างหายไปจากสังคมไทยมาเกือบ 3 ทศวรรษ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าหากสามารถผลักดันให้ EEC เกิดเป็นจริงได้ตามแผนจะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางนี้ได้ภายใน 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ค่าแห่งการเสียโอกาสและเวลาในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ฉุดกระชากให้ไทยถอยหลัง และขาดแคลนการลงทุนด้านเทคโนโลยีไปอย่างน่าเสียดาย การปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีในห้วงเวลานับจากนี้จึงดำเนินไปภายใต้แรงเฉื่อยและต้องระดมสรรพกำลังในการวิ่งไล่ตามให้ทันกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว
ประเด็นที่น่าสนใจของการลงทุนใน EEC อยู่ที่มูลค่าการลงทุนที่เชื่อว่าจะมีมูลค่ารวมถึงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 4-5 ปีนับจากนี้ จะเป็นงบประมาณการลงทุนในโครงการก่อสร้างจากภาครัฐเพียงร้อยละ 10-20 ส่วนที่เหลือจำนวนกว่าร้อยละ 80 เป็นการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน ในรูปของ Public-Private-Partnership: PPP ซึ่งการจะบรรลุสู่เป้าหมายที่ว่านี้ได้ กลไกรัฐจะต้องสามารถตอบคำถามในเชิงนโยบายและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เพราะนอกจากข้อกังวลว่าการพัฒนา EEC จะดำเนินไปตามแผนที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใดแล้ว ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่การพัฒนาบุคลากรภาคแรงงานให้สอดรับกับพัฒนาการของกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยประวิงเวลาที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในความฝันครั้งใหม่ของรัฐบาล คสช. นี้
Roadmap ของ EEC ที่กำหนดระยะเวลา 5 ปีแรกไว้ที่การผลักดัน 5 โครงการหลักให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นก่อนทั้งการยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์การบินนานาชาติ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด แหลมฉบังและสัตหีบ การพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) การพัฒนาเมืองใหม่ (ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง) และการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย-ยานยนต์ไฟฟ้า ดูจะเป็นการมุ่งเน้นพัฒนาการด้านกายภาพอย่างเป็นด้านหลัก ขณะที่การตั้งเขตส่งเสริมดิจิตัลพาร์ค (EECd) และเขตส่งเสริมเมืองนวัตกรรม (EECi) ที่ดูจะเป็นความหวังแห่งอนาคต ดูจะต้องรอเวลาแห่งการก่อเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมอีกพอสมควร
ยังไม่นับรวมการอพยพย้ายถิ่น หรือแม้กระทั่งกระแสไหลบ่าของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน AEC ที่อาจเข้ามาเติมเต็มพื้นที่ว่างจากการขาดแคลนแรงงานในแต่ละระนาบแทนที่แรงงานไทย ซึ่งย่อมส่งผลกระเทือนต่อภูมิทัศน์และโครงสร้างทางสังคมระลอกใหม่ให้ต้องปรับเปลี่ยนอีกในอนาคต
ความคาดหวังที่จะเห็นผลสัมฤทธิ์จากโครงการตามแผน roadmap ที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นไปในมิติของการจ้างงาน การเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเติบโตและใช้ประโยชน์จากธุรกิจ e-commerce ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชุมชนดูจะเป็นการเล็งผลเลิศที่อาจสร้างมายาภาพให้คล้อยตามได้โดยง่าย หากปราศจากการพิจารณาข้อเท็จจริงที่อยู่แวดล้อมวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งประชาชนทั่วไปต่างประสบปัญหาฝืดเคืองกันอย่างถ้วนหน้า
หรือถึงที่สุดแล้ว EEC อาจเป็นได้แค่เพียงอีกหนึ่งในอภิมหาโครงการที่อำนวยประโยชน์ให้กับผู้คนเฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีพดำรงชีวิตต่อไป พร้อมกับคาถาไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งอาจไม่มีความแตกต่างจากสำนึกของไทยแลนด์เมื่อ 40 หรือ 50 ปีที่ผ่านมาเลย