วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ: มากกว่าเจรจาการค้า แต่คือการแสวงหาอนาคตร่วมกัน

ญี่ปุ่น-สหรัฐฯ: มากกว่าเจรจาการค้า แต่คือการแสวงหาอนาคตร่วมกัน

การเจรจาทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่นำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศ ซึ่งประกอบส่วนด้วย Mike Pence รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ Taro Aso รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ในฐานะหัวหน้าคณะในการเจรจา ดำเนินไปท่ามกลางความคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาบทสรุปลงตัวร่วมกัน หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือ 12 ชาติใน Trans-Pacific Partnership: TPP ขณะที่ความตึงเครียดครั้งใหม่บนคาบสมุทรเกาหลีทวีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพของภูมิภาคอีกด้วย

ท่าทีของ Mike Pence ที่ระบุว่า TPP เป็นเรื่องราวในอดีตและสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการที่จะรอคอยความสำเร็จจากการเจรจาครั้งใหม่นี้อย่างเนิ่นนานและหวังที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันในอนาคตอันใกล้ พร้อมกับสำทับว่า เมื่อประธานาธิบดี Donald Trump ตกลงที่จะเริ่มการเจรจาทวิภาคีนี้ วิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ ก็คือการสร้างกลไกในการส่งเสริมความร่วมมือและความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเขาปรารถนาที่จะเห็นความสำเร็จอย่างใจจดใจจ่อ

ขณะที่ Taro Aso ก็ย้ำให้เห็นว่าอุปสรรคทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศอยู่ในภาวะเสื่อมถอยตลอดช่วงทศวรรษ 1980-1990 เป็นเพียงภาพอดีตที่ห่างไกลออกไปจากข้อเท็จจริงในวันนี้ ที่ทั้งสองประเทศกำลังแสวงหาความร่วมมือ เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีกว่า ในลักษณะที่ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบงการหรือออกคำสั่งให้อีกฝ่ายดำเนินการ หากแต่เป็นการถกแถลงเพื่อหาบทสรุปที่นำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมและมีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน

ท่วงทำนองของทั้ง Mike Pence และTaro Aso ก่อนและหลังการเจรจา สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกันของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งต่างหวังพึ่งพาและสร้างหมุดหมายใหม่ของความร่วมมือเพื่อพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยยาวนานให้กลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง

ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยยาวนานมากว่า 2 ทศวรรษ หรือที่รู้จักเรียกขานกันในนาม Lost Decade ที่เริ่มจากปี 1991-2000 และลุกลามต่อเนื่องมาสู่ปี 2001-2010 ที่กลายเป็น Lost 20 Years ควบคู่กับการสูญเสียสถานภาพนำในหลากหลายอุตสาหกรรมให้กับผู้ท้าทายและคู่แข่งขันหน้าใหม่ๆ ทั้งจากเกาหลีใต้และจีน ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจญี่ปุ่นตกต่ำลงจนต้องหันไปหาการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นกลับกลายเป็นกับดักให้ธุรกิจญี่ปุ่นจมดิ่งสู่หายนะอย่างรวดเร็วไปอีก

ความพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยวลี Beautiful Japan ก็ดี รวมถึง Abenomics ในช่วงที่ผ่านมาในด้านหนึ่งอาจมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากวลี “American First” ที่ถูกใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของ Donald Trump ในช่วงที่ผ่านมาด้วย

ความเป็นมาและเป็นไปของการเจรจาทวิภาคีในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ Donald Trump เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ และประกาศถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือ TPP ได้ไม่นาน ก่อนที่ทั้ง Abe และ Trump จะออกแถลงการณ์ร่วมที่จะเริ่มเจรจาข้อตกลงทางการค้าการลงทุนครั้งใหม่ โดยระบุว่า “ผู้นำทั้งสองย้ำความมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยยึดตามหลักการค้าที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง”

ก่อนหน้านี้ Trump ได้ชูประเด็นนโยบายว่าด้วย “America First” หรืออเมริกาต้องมาก่อน ในระหว่างช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีว่า เขาจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก TPP ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง และได้ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นไปที่การทำข้อตกลงระดับทวิภาคีมากกว่า โดยหวังว่าการเจรจาแบบทวิภาคีจะสามารถสร้างอำนาจต่อรองและความได้เปรียบทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกาเหนือคู่ค้าแต่ละประเทศมากขึ้น

ประเด็นว่าด้วยการขาดดุลการค้าที่สหรัฐอเมริกาเผชิญอยู่กับประเทศคู่ค้าทั่วโลกในระดับที่คิดเป็นเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ทำให้สหรัฐฯ ต้องพยายามแสวงหาหนทางในการเจรจาต่อรองและทำข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศใหม่ โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา จีนถือเป็นประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึงระดับ 3.47 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดการขาดดุลการค้าทั้งหมดที่สหรัฐฯ มีเลยทีเดียว

กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ภายใต้กรอบของข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2012 กลับทำให้สหรัฐอเมริกาเสียดุลทางการค้าให้กับเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากเดิมที่เคยขาดดุลการค้าในระดับ 1.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2011 มาสู่ระดับ 2.76 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา

ซึ่งนั่นหมายความว่า ภายใต้กรอบเจรจาและความร่วมมือแบบทวิภาคีที่สหรัฐอเมริกาคาดหวังว่าจะเป็นช่องทางในการลดทอนการเสียดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า อาจไม่ใช่ยาวิเศษเสมอไป และนั่นทำให้ Mike Pence ระบุต่อที่ประชุมสมาชิกหอการค้าอเมริกันในกรุงโซลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนเดินทางเข้าร่วมเจรจาในกรุงโตเกียวว่า กรณีดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการเจรจาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงและแก้ไขข้อตกลงทางการค้า สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ครั้งใหม่ เพื่อลดช่องว่างของการขาดดุลนี้

ขณะที่ในกรณีของญี่ปุ่น ซึ่งได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริกามากถึง 6.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปีที่ผ่านมา ตัวเลขการขาดดุลทางการค้าดังกล่าวถือเป็นเงามืดที่ปกคลุมบรรยากาศการเจรจาอยู่ไม่น้อย หากแต่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายต่างพยายามแสวงหาบริบททางธุรกิจและพื้นที่ที่ต่างสามารถให้ความร่วมมือกันในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรมพลังงานและกิจการขนส่ง ซึ่งเชื่อว่าหากสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าในกิจกรรมเหล่านี้ได้ จะเป็นประโยชน์ทั้งในมิติของการสร้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันด้วย

ประเด็นสำคัญในการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในครั้งนี้นอกจากจะห้อมล้อมด้วยความพยายามที่จะปูทางไปสู่การเปิดประตูให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนด้านโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในสหรัฐฯ และความต้องการของสหรัฐฯ ที่จะเปิดช่องทางให้สินค้าอเมริกันเข้าไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคการเกษตร โดยเฉพาะปศุสัตว์ ที่เดิมคาดหมายว่าจะได้ประโยชน์จากข้อตกลง TPP ที่จะช่วยหนุนเสริมการส่งออกมายังญี่ปุ่น

โดยก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นยอมลดภาษีนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ จากอัตราร้อยละ 38.5 ในปัจจุบันลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ภายในกรอบระยะเวลา 15 ปีภายใต้ข้อตกลง TPP แต่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Trump กลับถอนตัวจากข้อตกลงนี้ ดังนั้น ผู้เลี้ยงปศุสัตว์สหรัฐฯ จึงหวังที่จะให้มีการเจรจากันอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกันกับ TPP หรืออาจจะเรียกร้องมากขึ้น เพื่อรักษาฐานคะแนนเสียงในหมู่ผู้ประกอบการปศุสัตว์สหรัฐฯ

เช่นเดียวกับความเป็นไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในวาระนโยบายการค้า 2560 ของประธานาธิบดี Trump ที่เสนอต่อรัฐสภาในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเด็นว่าด้วยความพยายามกดดันตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นถือเป็นประเด็นที่มีความต่อเนื่องยาวนาน เพราะแม้ว่าญี่ปุ่นจะยกเลิกภาษีนำเข้ายานยนต์สหรัฐฯ แต่รถยนต์อเมริกันก็ยังไม่ได้รับความนิยมในตลาดญี่ปุ่นมากนัก แต่ในทางกลับกันรถยนต์ญี่ปุ่นต่างหากที่สามารถรุกเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ในตลาดอเมริกันได้อย่างต่อเนื่อง และการหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาอาจสามารถสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นในหมู่คนงานชาวอเมริกันผิวขาวที่เป็นฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาล Trump ได้บ้าง

นัยความหมายของการเจรจาด้านเศรษฐกิจระดับทวิภาคีรอบแรก ซึ่งได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และคาดว่าจะมีการเจรจาครั้งต่อไปในช่วงปลายปีนี้ นอกจากจะบ่งบอกทิศทางและความต้องการของทั้งสองประเทศ ที่มุ่งหมายจะเป็นผู้นำในการผลักดันเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก ผ่านการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แล้ว

ประเด็นว่าด้วยความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีก็ได้รับการหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง และก้าวล่วงไปสู่ความพยายามที่จะให้จีน ซึ่งถือเป็นผู้มีบทบาทและมีส่วนเกี่ยวข้องรายใหญ่อีกรายได้เข้ามาสู่กระบวนการในการป้องปรามการกระทำที่ยั่วยุและเสี่ยงต่อการเป็นภัยคุกคามสันติภาพในภูมิภาคนี้ด้วย

โดยท่าทีของทั้ง Mike Pence และ Shinzo Abe ต่างส่งสัญญาณไปถึงทางการจีนอย่างเปิดเผยด้วยการระบุว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะผลักดันให้จีนมีบทบาทมากขึ้นในการป้องกันการกระทำที่ยั่วยุของเกาหลีเหนือในอนาคต โดยสหรัฐฯ จะร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงจีน เพื่อบรรลุแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติและยับยั้งโครงการนิวเคลียร์บริเวณคาบสมุทรเกาหลี

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางเยือนเกาหลีใต้และการเข้าร่วมเจรจาทวิภาคีในญี่ปุ่นของ Mike Pence รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดอย่างรุนแรงบริเวณคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนืออยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งต่อไป ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและกองเรือออกสู่น่านน้ำใกล้คาบสมุทรเกาหลี เพื่อกดดันเกาหลีเหนือทันที

กรณีดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่าสัมพันธภาพของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ไม่สามารถจำกัดบริบทอยู่เฉพาะในประเด็นว่าด้วยเศรษฐกิจการค้าแต่เพียงลำพัง หากยังมีประเด็นว่าด้วยเสถียรภาพความมั่นคง และยุทธศาสตร์ทางด้านกลาโหม เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นตลอดเวลา

ประเด็นที่น่าสนใจติดตามต่อจากนี้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็น “Beautiful Japan” หรือ “Abenomics” มาสู่วาทกรรมล่าสุดว่าด้วย “American First” ทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจะปฏิสัมพันธ์กับจีนที่กำลังถักทอเส้นทางสายไหมและพร้อมขยายบทบาททั้งในระดับรัฐและเอกชนไปทั่วทุกมุมโลกอย่างไร

ใส่ความเห็น