วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > จาก “ม้าพยศ” สู่ “แพะรับบาป” สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจไทย?

จาก “ม้าพยศ” สู่ “แพะรับบาป” สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจไทย?

 
หากปี 2557 ที่ผ่านมา จะเป็นปีนักษัตรแห่งม้า ที่ทำให้หลายฝ่ายคาดหมายว่าจะเป็นปีแห่งการพุ่งทะยานทางเศรษฐกิจ หากแต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงที่ปรากฏตลอด หนึ่งขวบปี กลับกลายเป็นว่าปีแห่งจอมอาชาได้มีสภาพเป็นปีแห่งม้าพยศ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถผลักดันให้เดินหน้าไปตามเป้าประสงค์ ในหลายกรณียังไม่อาจควบคุมทิศทาง และอาจถึงกลับทำให้ผู้กุมบังเหียนตกจากหลังม้าได้รับบาดเจ็บอีกด้วย
 
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยุค คสช. “คืนความสุขให้ประชาชน” ถูกโหมกระหน่ำด้วยภาวะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำทั้งราคายางถอยหลังลงไปเป็นประวัติการณ์ ราคาข้าวทรุดต่ำหลังสิ้นยุคแห่งการประกันราคาและจำนำข้าว ที่ทำให้ถึงกับมีแนวความคิดจ้างชาวนาเลิกปลูกข้าวกันเลยทีเดียว
 
แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานและสถาบันคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐจะพยายามเร่งระดมความเชื่อมั่นด้วยการระบุว่าภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังดำเนินไปด้วยดี หรืออย่างน้อยก็กำลังกลับมาสู่ร่องรอยที่พึงประสงค์ จากผลของทิศทางและความชัดเจนทางการเมือง
 
แต่ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าจะไม่ได้สื่อแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการไปในทางที่ดีอย่างที่กลไกรัฐพยายามประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด และในทางกลับกันยิ่งสะท้อนภาพ “ม้าพยศ” ที่โพ้นไปจากความสามารถทางปัญญาที่จะควบคุมเสียอีกด้วย
 
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงกับระบุว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและต่ำกว่าที่คาดการณ์ รวมถึงส่งออกที่ชะลอตัว การท่องเที่ยวที่อาจจะต่ำกว่าประมาณการ การดำเนินนโยบายการเงิน ยังจำเป็นต้องผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในระยะยาว
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากก็คือกลไกรัฐอย่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ตระหนักและออกจะเป็นกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจมีการผ่อนคลายเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจไม่เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งที่ในปัจจุบันก็ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนปรนอยู่แล้ว โดยดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 2% เท่านั้น
 
ความหมายของการผ่อนคลายนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเป็นการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงและเป็นการยอมรับโดยนัยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยที่เป็นจริงไม่ใช่มายาภาพนั้น อยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่ดีจริงๆ ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ก็ตั้งไว้ไม่สูงเช่นกัน เพราะคงไม่สามารถหาเงินมาอุดหนุนงบประมาณได้
 
ความถดถอยทางเศรษฐกิจไทยในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคการส่งออกไม่สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระดับ 2 digit มาอย่างต่อเนื่องเหมือนในอดีต และไม่มีความสามารถที่จะสร้างให้เกิดการเติบโตในระดับแม้เพียงเลขหลักเดียวด้วยซ้ำ โดยในปี 2557 คาดว่าภาคการส่งออกจะมีผลสรุปอยู่ที่การเติบโตติดลบ ซึ่งคงไม่ใช่ประเด็นที่ควรมองข้ามแน่นอน
 
ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไปจึงอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 1.5 ในปี 2557 ซึ่งในความเป็นจริงอาจต่ำกว่านั้น ควรจะมีหน้าตาหรือทิศทางอย่างไรต่อไปเพื่อให้สามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับร้อยละ 3-4 ในปีถัดไป
 
ดูเหมือนว่าคำตอบของคำถามที่อยู่ในใจกูรูทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะดำเนินไปในทิศทางที่ระบุว่า ไทยจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นรวมถึงการให้ความสนใจกับ AEC ให้มากขึ้น ซึ่งทำให้ AEC กลายเป็นประหนึ่งยาสามัญประจำบ้านในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยไปแล้ว
 
แต่ประเด็นที่ชวนให้ต้องตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจที่มุ่งหน้าสู่ความถดถอยอย่างชัดเจน น่าจะอยู่ที่ทัศนะของสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่าสังคมไทยกำลังส่งสัญญาณของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ด้วยเหตุที่ผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศหางานทำได้ยากหรืออยู่ในภาวะตกงาน จึงส่งผลให้ขาดกำลังซื้อไปโดยปริยาย
 
สอดรับกับข้อมูลที่ พิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรสซิเดนฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา มาม่า ซึ่งระบุว่า ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยปี 2557 ที่มีมูลค่ากว่า 15,400 ล้านบาท เติบโต 1.4% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 42 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ จึงฉุดให้กำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรากหญ้าหรือระดับล่างมีลดลง
 
ดัชนีมาม่ากลายเป็นข่าวที่สะท้อนภาพความเป็นไปของสังคมไทยได้อย่างแหลมคมในช่วงปลายปี 2557 เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีอย่างไร มาม่าก็ไม่เคยประสบปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน
 
ขณะที่ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า การขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2557 จะติดลบประมาณ 10% แต่เขาก็ยังเล็งผลเลิศด้วยการคาดหวังว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์จะก้าวกระโดดกลับมาฟื้นตัวในปี 2558 โดยอาจกลับไปขยายตัวได้อัตราร้อยละ 10 เลย
 
เช่นเดียวกับกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือ เอสซีจี ที่ระบุว่าตัวเลขความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปี 2557 มีการขยายตัวเท่ากับศูนย์ คือไม่มีอัตราการเติบโตเลย แต่เขาก็มองไปในอนาคตว่าในปี 2558 ปูนซีเมนต์จะกลับมาขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 5
 
แต่สำหรับคนที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยว่าเป็นลบ โดยระบุว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจได้ปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3%
 
“จีดีพีทั้งปี 2557 คาดว่าน่าจะเติบโตที่ 1% ส่วนไตรมาสที่ 1 ปี 2558 จีดีพีมีสัญญาณจะโตถึง 4% และในปี 2558 คาดว่าจีดีพีน่าจะโต 4.5%”
 
พร้อมกับสำทับว่าหลังจากฟังรายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศในครั้งนี้ เชื่อว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่
 
ภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2557 จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องประเมินและเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดว่า ท่ามกลางการโหมประชาสัมพันธ์โดยกลไกรัฐ เทียบกับข่าวดีหรือข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การส่งออกที่ปรากฏออกสู่สาธารณะน้อยมากๆ นี้ สิ่งใดช่วยสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมได้มากกว่ากัน
 
บางทีหลังจากปี 2557 ที่เราได้เห็น ม้าพยศ จนคนกุมบังเหียนต้องตกจากหลังที่นำไปสู่การวิ่งเตลิดอย่างไร้ทิศทางและการควบคุม ในปี 2558 ปีแห่งนักษัตรแพะ เราท่านซึ่งเป็นสามัญชนคนเดินบนดิน อาจต้องเผชิญชะตากรรมแห่ง “แพะรับบาป” ที่อาจบอบช้ำและเจ็บปวดกว่าปีที่ผ่านมาก็ได้
 
โปรดพิจารณาสัญญาณเตือนภัยอย่างใกล้ชิด!!