Column: Women in Wonderland
ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลมีการออกนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ในรายงานของ The Global Gender Gap Report ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum พบว่าในปี 2014 ประเทศออสเตรเลียถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 24 ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศจากทั้งหมด 142 ประเทศ
ใน The Global Gender Gap Report นี้จัดอันดับแต่ละประเทศในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง โดยวัดจากตัวชี้วัดหลักๆ ด้วยกัน 4 ด้านคือ 1) ผู้หญิงมีโอกาสในการทำงานและเลื่อนตำแหน่งเหมือนกับผู้ชายหรือไม่ 2) ผู้หญิงมีโอกาสเข้ารับการศึกษาในทุกระดับเหมือนกับผู้ชายหรือไม่ 3) อัตราการเกิดของเด็กผู้หญิงและผู้ชายมีจำนวนพอๆ กันหรือไม่ เพราะในบางประเทศจะนิยมมีลูกชายมากกว่าลูกสาว และ 4) ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสในทางการเมืองเท่ากันหรือไม่ โดยเฉพาะจำนวนของผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาล
จากการจัดอันดับนี้จะเห็นได้ว่าประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ประเทศออสเตรเลียเองก็เคยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงเหมือนกัน คือ Julia Gillard ซึ่งเธอได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2010 และได้ทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศออสเตรเลียเองก็ให้โอกาสผู้หญิงทำงานในตำแหน่งบริหารเหมือนกัน
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ สิ่งที่คนและรัฐบาลออสเตรเลียกำลังคิดและเชื่อว่าประเทศของตัวเองกำลังเดินไปในทางที่ถูกต้องในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเชื่อว่าผู้หญิงในออสเตรเลียมีโอกาสเกือบจะเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกๆ เรื่องนั้น กลับเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันทั้งสิ้น เรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงนั้นไม่ได้ดีขึ้นมาจากเดิมเลย ที่สำคัญเรื่องนี้กลับแย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ
The Global Gender Gap Report ของปี 2016 ได้รายงานว่า ประเทศออสเตรเลียถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 46 จากทั้งหมด 144 ประเทศ เพราะผู้หญิงในประเทศอื่นมีโอกาสในด้านต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียยังอยู่ที่เดิมหรือแย่ลงกว่าด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของช่องว่างระหว่างรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ที่ผู้ชายมีรายได้มากกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด
ผลจากการจัดอันดับของ The Global Gender Gap Report ก็สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมาธิการเรื่องเลือกปฏิบัติทางเพศของประเทศออสเตรเลีย ที่เพิ่งออกมาเปิดเผยเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า ในประเทศออสเตรเลียยังมีปัญหาอีกหลายๆ อย่างที่ทำให้ประเทศออสเตรเลียไม่สามารถขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงได้
Kate Jenkins หนึ่งในคณะกรรมาธิการเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่พบในรายงานครั้งนี้ว่า มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนออสเตรเลียรวมไปถึงรัฐบาลเข้าใจว่า ประเทศออสเตรเลียประสบความสำเร็จในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศออสเตรเลียยังมีปัญหาในเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ซึ่งในรายงานเล่มนี้ได้สัมภาษณ์ผู้หญิงมากกว่า 1,000 คน และผู้หญิงที่ถูกสัมภาษณ์เหล่านี้มาจากทุกรัฐในประเทศออสเตรเลีย คณะกรรมาธิการใช้เวลาสัมภาษณ์มาก 6หกเดือน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม
จากการสัมภาษณ์และศึกษาจากงานวิจัยต่างๆ รายงานเล่มนี้สรุปว่า ปัญหาสำคัญ 3 อย่างที่ทำให้ไม่สามารถขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงได้คือ 1) ผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสเท่ากับผู้ชายในการเข้าทำงาน 2) ผู้หญิงยังคงไม่ได้รับโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งเพื่อทำงานในระดับผู้บริหาร และ3) ยังคงมีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกลวนลามในที่ทำงาน
ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Lyn ทำงานเป็นคนทำความสะอาดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เล่าว่า เธอมักจะถูกลวนลามจากหมอและคนไข้เป็นประจำ เธอเล่าให้ฟังว่า สามีของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพยายามที่จะลวนลามเธอในที่ทำงาน เธอนำเรื่องนี้ไปบอกหัวหน้างานเพื่อให้หัวหน้าจัดการเรื่องนี้ แต่หัวหน้าของเธอกลับทำเพียงแค่รับฟังและไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก Lyn ทำงานที่โรงพยาบาลแห่งนี้มา 8 ปี และยังคงถูกคนไข้หรือหมอลวนลามตลอดเวลา แต่กลับไม่มีใครช่วยเธอ
Lyn เป็นเพียงตัวอย่างของผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ถูกลวนลาม และหัวหน้างานไม่ช่วยอะไรเลย Jenkins ได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ถูกลวนลามหรือถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และเมื่อพวกเธอไปบอกหัวหน้างานถึงปัญหานี้ หัวหน้างานกลับไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาแต่อย่างไร ซึ่งการที่หัวหน้าเพิกเฉยถือว่าเป็นการกระทำที่แย่กว่าคนที่ลวนลามหรือเลือกปฏิบัติต่อคนอื่นเสียอีก
Jenkins ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ หรือพื้นที่ที่ค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมืองจะพบปัญหาเลือกปฏิบัติมากกว่าผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งทำงานเป็นคนเก็บผลไม้ในสวน และเจ้าของสวนได้บอกกับผู้หญิงคนนี้ว่า ถ้าหากเธออยากได้เงินโบนัสให้เธอใส่ชุดว่ายน้ำมาเก็บผลไม้ แล้วเขาจะจ่ายเงินโบนัสให้ และแน่นอนว่าผู้หญิงเหล่านี้ก็จะต้องพบปัญหาถูกลวนลามในที่ทำงานเช่นกัน หรืออาจจะเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงกว่าก็เป็นได้ และในขณะเดียวกันหัวหน้างานก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจหรือสนใจที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน
ในรายงานฉบับนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงที่เป็นคนพิการมีโอกาสสูงกว่าผู้หญิงปกติถึง 40% ที่จะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว และผู้หญิงที่เป็นชนเผ่า Aborigine หรือคนพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย มีโอกาสตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าผู้หญิงทั่วไป สถิติของประเทศออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงชนเผ่า Aborigine มีโอกาสสูงกว่าถึง 32 เท่าที่จะต้องเข้าไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว
ยกตัวอย่างเช่น มีหญิงสาวชาว Aborigine คนหนึ่งถูกสามีข่มขืนเป็นประจำ แม้กระทั่งขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ก็ยังถูกสามีข่มขืน และหลังจากถูกสามีข่มขืน สามีของเธอจะพยายามบอกและพูดจูงใจให้เธอเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ถึงวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความคิดและความเชื่อแบบนี้ และควรจะได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้หญิง
ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องถูกลวนลามในที่ทำงานและการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเท่านั้นที่เป็นปัญหาในประเทศออสเตรเลีย ในรายงานเล่มนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงยังขาดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในบางอาชีพ อย่างเช่นตำรวจและหมอศัลยกรรม ที่ผู้หญิงขาดโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปทำงานในระดับบริหาร
Jenkins ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายว่า รายงานนี้ต้องการบอกเล่าประสบการณ์ของผู้หญิงที่ได้รับการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนออสเตรเลียทุกคนได้มีความเข้าใจตรงกันว่า ประเทศออสเตรเลียยังไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างที่ทุกคนเข้าใจ ในความเป็นจริงผู้หญิงในประเทศของเรายังคงพบปัญหาต่างๆ มากมาย และการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เราต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ชายที่จะเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยสนับสนุนให้ประเทศของเราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
ลองย้อนกลับมามองประเทศไทยของเราบ้าง The Global Gender Gap Report ของปี 2016 ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 จากทั้งหมด 144 ประเทศ ซึ่งเราถูกลดอันดับลงมาจากเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้ในประเทศฟิลิปปินส์ ลาว และเวียดนามยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ดีกว่า เรื่องนี้ World Economic Forum ให้เหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับลงมานั้นเป็นเพราะ (1) ความแตกต่างของรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานที่เดียวกันมีมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว (2) จำนวนผู้หญิงที่เลื่อนขึ้นไปทำงานในตำแหน่งผู้บริหารมีน้อยลงกว่าปีที่แล้ว และ (3) จำนวนผู้หญิงที่เข้าไปศึกษาในระดับต่างๆ มีน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว
ปัญหาที่กล่าวมานี้สามารถช่วยกันแก้ไขได้ ถ้าหากว่าทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ชายในสังคมจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การกระทำใดเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และถ้าหากทุกคนช่วยกันคนละนิดในการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในประเทศไทยก็จะดีขึ้น และช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
(Photo Credit: http://www.freeimages.com/photo/working-woman-1440176)