Column: Well – Being
แปลกแต่จริง!
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เสื้อผ้าที่คุณสวมใส่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณได้อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน!
เมื่อสวมเสื้อผ้าและแต่งตัวในตอนเช้า คุณอาจใส่ใจเพียงแค่ว่า ชุดที่สวมใส่ดูดีแล้วยัง และเหมาะสมกับสภาพอากาศในวันนั้นหรือเปล่า แทบไม่มีความคิดที่ว่า ชุดนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องคิดถึงประเด็นนี้ให้มาก โดยเฉพาะในบางสถานการณ์ เสื้อผ้าของคุณอาจกระตุ้นให้เกิดผลที่ตามมาอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งนิตยสาร GoodHealth นำเสนอให้พึงระวังดังนี้
สายเสื้อในเล็กไปทำให้ปวดศีรษะ
ประเด็นนี้เป็นความจริง โดยเฉพาะเมื่อคุณมีขนาดเต้านมคัพซีหรือใหญ่กว่านั้น “สายเสื้อในที่คล้องตรงหัวไหล่ต้องรับน้ำหนักของเต้านม แต่ถ้าสายมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับขนาดเต้านมของคุณ สายเสื้อในสามารถกดลงบนหัวไหล่และบีบรัดเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ แขน คอ หรือศีรษะได้” ทิม อัลลาร์ไดซ์ นักกายภาพบำบัดอธิบาย
เขายังกล่าวเสริมว่า โดยทั่วไปแล้วเสื้อในที่ไม่พอดีตัวยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ “ถ้าเสื้อในหลวมเกินไป กล้ามเนื้อที่คอและศีรษะต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บปวด”
ผ้าใยสังเคราะห์ทำให้เกิดกลิ่นตัว
แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของกลิ่นตัวไม่ได้อาศัยอยู่บนผิวหนังเท่านั้น มันยังเจริญเติบโตได้ดีบนเสื้อผ้าโดยเฉพาะผ้าใยสังเคราะห์หรือโพลีเอสเตอร์
ดร.คริส คอลล์เวิร์ท นักวิจัยกลิ่นแห่งมหาวิทยาลัยเกนท์ของเบลเยียมแนะนำว่า การซักเสื้อผ้าในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงสามารถลดปริมาณแบคทีเรียได้ เช่นเดียวกับการนำเสื้อผ้าออกตากแดด เพราะแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลตที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
แต่ถ้าคุณทำตามทั้งสองวิธีแล้ว กลิ่นตัวบนเสื้อผ้าก็ยังคงอยู่ แสดงว่าแบคทีเรียปักหลักอยู่ในเนื้อผ้าเป็นการถาวรแล้ว คุณจะไม่มีวันกำจัดกลิ่นน่ารังเกียจนั้นได้
ชุดกระชับสัดส่วนทำให้นอนไม่หลับ
นักวิจัยเกาหลีใต้กล่าวว่า การสวมชุดชั้นในประเภทกระชับสัดส่วนซึ่งรัดติ้ว ส่งผลให้ร่างกายผลิตสารเมลาโทนินได้น้อยลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ
นอกจากนี้ ชุดกระชับสัดส่วนยังกดหรือรัดบริเวณกระเพาะอาหารตอนบน จึงเพิ่มความเสี่ยงของอาการกรดไหลย้อนมากขึ้น ถ้าคุณมีปัญหานอนไม่หลับหรือกรดไหลย้อน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้มีสาเหตุจากชุดชั้นในที่กระชับสัดส่วน
เสื้อผ้าสีเข้มดึงดูดยุง
การที่คุณมักถูกยุงกัด อาจมีสาเหตุจากสีเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ได้ “เสื้อผ้าสีดำ น้ำเงิน เขียว และลวดลายดอกไม้ เป็นสิ่งดึงดูดยุงได้ดี เพราะสีเหล่านี้ทำหน้าที่ช่วยพรางตัวให้ยุงนั่นเอง”
โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไล่ยุงแบรนด์อินค็อกนิโตอธิบาย “สวมเสื้อผ้าสีขาว สีเบจ น้ำตาลอ่อน เขียวอ่อน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกยุงกัดได้”
ยุงยังสามารถกัดทะลุเส้นใยของเสื้อผ้า ยิ่งคุณสวมเสื้อผ้ารัดรูปมากเท่าไร ความเสี่ยงจากการถูกยุงกัดทะลุเนื้อผ้าก็จะมากขึ้นเท่านั้น แนะนำให้สวมเสื้อหลวมๆ และกระโปรงบาน หรือกางเกงทรงขาบาน
ยีนส์รัดรูปอาจทำลายเส้นประสาท
ปีที่แล้วเกิดข่าวพาดหัวกรณีหญิงสาวแห่งอดีเลดสวมกางเกงยีนส์รัดรูปนั่งแพ็กกล่องใส่ของตลอดทั้งวัน ผลคือกางเกงยีนส์ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณกล้ามเนื้อน่องทั้งสองข้าง ทำให้กล้ามเนื้อบวม และทำลายเส้นประสาทจนทำให้เธอล้มลง และไม่สามารถลุกขึ้นได้
อาการ “ภาวะความดันในกล้ามเนื้อผิดปกติ” (compartment syndrome) ที่หญิงสาวรายนี้เป็นถือเป็นกรณีรุนแรงมาก และคุณเสี่ยงจะเกิดอาการนี้เช่นกันถ้าสวมเสื้อผ้ารัดรูปแล้วอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานาน
ศาสตราจารย์โธมัส คิมเบอร์ นักประสาทวิทยาแนะนำให้ผู้ที่ต้องนั่งทำงานในลักษณะดังกล่าวสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ แทน
กางเกงชั้นในอาจทำให้แสบคัน
ถ้าคุณมีปัญหาจากโรคเชื้อราอยู่แล้ว การเลือกชนิดของกางเกงชั้นในเป็นสิ่งสำคัญมาก “จี – สตริงและกางเกงในไนลอนจะยิ่งเพิ่มความเปียกชื้นและลดการไหลเวียนของอากาศไปยังบริเวณปากช่องคลอด เมื่อผสมผสานกับความร้อนและเหงื่อ จะยิ่งทำให้เกิดอาการแสบคันยิ่งขึ้น” ดร.โรบิน ลอยด์ นรีแพทย์แห่งซิดนีย์กล่าว เขายังแนะนำให้สวมกางเกงชั้นในสีขาวแทนสีเข้ม เพราะเป็นไปตามทฤษฎีที่ว่า สารเคมีที่นำมาย้อมเส้นใย สามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้เช่นกัน
“ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนุ่งกางเกงชั้นในจี – สตริง” ดร.ลอยด์ทิ้งท้าย เพราะโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากการที่แบคทีเรียจากช่องท้องเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และรูปทรงของจี – สตริงสามารถทำให้เชื้อแบคทีเรียกระโดดข้ามไปมาทั้งสองด้าน
เสื้อผ้าคับกระตุ้นอาการแพนิค
เสื้อคอปิดที่ติดคอแน่นหรือเข็มขัดรัดแน่น ทำให้คุณหายใจไม่สะดวก ซึ่งสำหรับบางคนแล้วเป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ “อาการแพนิค (panic attack) เกิดขึ้นเพราะมีบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารู้สึกกลัว ในกรณีนี้คือความรู้สึกหายใจลำบาก” ลานา ฮอลล์ นักจิตวิทยาแห่งบริสเบนอธิบาย
เมื่อคุณเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับระบบหายใจ คุณจะเริ่มหายใจถี่ขึ้น ซึ่งเป็นวงจรที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิค
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วอาจทำให้คุณอยากโยนทิ้งเสื้อผ้าคับๆ หรือรัดรูปให้หมด แต่ฮอลล์แนะนำวิธีการที่ดีกว่า คือ การบริหารจัดการความคิดของคุณเอง” อาการแพนิคเกิดขึ้นเพราะคุณกังวลใจเกี่ยวกับการหายใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ให้พยายามบอกตัวเองว่า มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการกระวนกระวายที่สมองของคุณส่งสัญญาณออกมา และให้รู้สึกขอบคุณสมองที่พยายามทำให้คุณปลอดภัย จากนั้นเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการคิดถึงเรื่องอื่นแทน”
สปอร์ตบราไม่พอดีตัวทำให้ปวดเข่า
คุณคงรู้แล้วว่า การสวมเสื้อชั้นในที่ไม่ช่วยพยุงเต้านมจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเต้านมได้ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคุณด้วย ถ้าคุณวิ่งโดยไม่สวมสปอร์ตบราที่ประคองเต้านมให้กระชับ การลงน้ำหนักที่เท้าจะมากและรุนแรงกว่าปกติ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่างๆ เช่น ปวดเข่า กระดูกหักล้าหรือสันหน้าแข้งอักเสบ และยังอาจทำให้วิ่งช้าลงด้วย
การแกว่งแขนอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเร็วในการวิ่งด้วย “เมื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับความเร็วในการวิ่ง เราพบว่าถ้าเต้านมเคลื่อนไหวมากเกินไป ผู้หญิงมีแนวโน้มจะลดการแกว่งแขนขณะวิ่งเป็นการชดเชย” ดร.แดร์เดร แม็คกี จากสถาบันวิจัยเต้านมแห่งออสเตรเลียประจำมหาวิทยาลัยวูลลองกองสรุป
รองเท้า-แหล่งสะสมเชื้อโรค
โดยเฉลี่ยแล้วบนพื้นผิวของรองเท้าแต่ละข้าง เป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียกว่า 400,000 ชนิด รวมถึงเชื้อ E.coli และ C. difficile ที่เป็นสาเหตุของอาการปวดท้องด้วย “ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดคือ ความเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศที่อาจได้รับเพราะการปนเปื้อนที่ติดมากับรองเท้า” แซม โครเธอร์ จาก SpaceCheck Building Biology and Environmental Health อธิบาย “สิ่งสกปรกที่ติดมากับรองเท้าอาจหมายรวมถึงยาฆ่าแมลง เชื้อรา และโลหะหนักจากไอเสียรถยนต์และรถบรรทุก ทันทีที่สารเหล่านี้เข้ามาอยู่ในตัวอาคาร มันสามารถฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและเราก็สูดหายใจเข้าไป”
ทางแก้ปัญหานั้นแสนง่ายจนคุณคาดไม่ถึง เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบถอดรองเท้าทิ้งไว้นอกบ้านเท่านั้นเอง!