“อีก 10 ปี เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จะมีสาขาในทุกจังหวัดของประเทศไทย”
เป้าหมายของวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป แผนปูพรมสาขาโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในทุกจุดของประเทศไทย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หาใช่เรื่องยากสำหรับเจ้าพ่อโรงหนังที่สร้างปรากฏการณ์ “Big Surprise” ในวงการอยู่ตลอดเวลา
ตั้งแต่การปลุกปั้นแบรนด์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” เอาชนะคู่แข่ง สร้างเมืองหนังครั้งแรก ในรูปแบบ Stand Alone Complex เริ่มที่สาขาปิ่นเกล้า ก่อนมาคว้าทำเลสี่แยกรัชโยธิน ผุดสุดยอดเมืองหนัง ที่สร้างความชัดเจนในฐานะผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
นำ “บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยถือเป็นหุ้นโรงภาพยนตร์รายแรกรายเดียวในตลาดหุ้นไทย และการทุ่มทุนควบรวมกิจการ “อีจีวี” ฮุบส่วนแบ่งตลาดเกือบ 80%
สร้างเครือข่ายความเป็นอาณาจักรบันเทิงอย่างครบวงจร มีทั้งโรงหนัง คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง ฟิตเนส ลงทุนนับพันล้านบาทซื้อสิทธิ์แฟรนไชซี “แมคโดนัลด์” ในเมืองไทย รวมทั้งแตกบริษัทลูกทำโฆษณาและเป็นเจ้าของค่ายหนัง
ล่าสุด วิชาประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ฉลองการดำเนินธุรกิจภายใต้อาณาจักรเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ครบรอบ 20 ปี เปิดเกมรุกครั้งใหม่เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปีข้างหน้า จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 500 โรง แบ่งเป็นสาขาในประเทศไทย 400 โรง และสาขากลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม อีก 100 โรง ทำให้ ณ สิ้นปี 2020 หรือปี พ.ศ.2563 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จะมีโรงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรง
ที่สำคัญ เป้าหมายระยะยาวจะต้องผุดสาขาในทุกจังหวัดของประเทศ จากปัจจุบันมีสาขาใน 36 จังหวัด รวม 45 สาขา 255 โรง
เหตุผลหนึ่งในฐานะคนรักหนังที่เกิดและเติบโตมากับธุรกิจโรงภาพยนตร์ตลอดชีวิต ตั้งแต่รุ่นพ่อ ยุคโรงหนังศรีตลาดพลู, เพชรรามา และแมคแคนนา
วิชามองคนไทยยังมีวัฒนธรรมการดูหนังน้อยกว่าต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลีที่สามารถสร้างยอดขายตั๋วดูภาพยนตร์สูงถึง 200 ล้านใบต่อปี จากจำนวนประชากร 50 ล้านคนและมีโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศมากกว่า 2,000 โรง คิดเฉลี่ยคนเกาหลีดูหนังอย่างน้อย 4 เรื่องต่อปี
ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน ธุรกิจโรงภาพยนตร์มีการเติบโตแต่สามารถสร้างยอดขายตั๋วดูหนังเพียง 40 ล้านใบ มีโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ 800-850 โรง อัตราเฉลี่ยการดูหนังในโรงภาพยนตร์ต่อคนไม่ถึง 1 เรื่อง
“ผมอยากสร้างวัฒนธรรมการดูหนังให้เกิดขึ้นกับคนไทยและส่วนสำคัญที่จะสร้างได้ คือ การขยายโรงหนังเข้าถึงทุกพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมีศักยภาพมากและมีความต้องการสูง ดูได้จากรายได้จากตั๋วหนังที่ผ่านมาและยังเป็นโอกาสทองครั้งสำคัญของหนังไทย” วิชากล่าว
ทั้งนี้ หากดูสัดส่วนการดูหนังของกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ นิยมชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด 60-70% แต่ในตลาดต่างจังหวัด กลุ่มผู้ชมกลับสะท้อนความต้องการชัดเจนที่จะดูหนังไทย สัดส่วนมากถึง 70% และนั่นทำให้เมเจอร์ต้องเร่งขยายสาขาในต่างจังหวัดและสร้างหนังไทยป้อนตลาดต่างจังหวัด
ตามแผนการขยายสาขาที่เดินมาอย่างต่อเนื่อง เมเจอร์ฯ ยึดแนวทางการลงทุนทุกแนวทาง ทั้งการเปิดโรงใหม่ในศูนย์การค้า ซึ่งมีแผนงานร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ กรุ้ป อย่างต่อเนื่อง, การเปิดสาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี รูปแบบสแตนด์อะโลน ที่อาจไม่รวดเร็วนัก ขึ้นอยู่กับการหาทำเลที่มีศักยภาพ และการเปิดสาขาในไลฟ์สไตล์มอลล์ ซึ่งเป็นเทรนด์การขยายธุรกิจค้าปลีกในไทย
วิชาคาดว่าหลังจากแผน 5 ปีสำเร็จตามเป้าหมาย 1,000 โรง เขาน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 5 ปี เพื่อปูพรมสาขาในทุกจังหวัดทั่วประเทศได้
แผนขั้นต่อมาที่ต้องเดินไปพร้อมๆ กัน คือ การสร้างภาพยนตร์ไทยเพื่อลงฉายในโรงที่วางเป็นสะพานเชื่อมต่อถึงกลุ่มลูกค้า เรียกว่าตั้งแต่ปี 2558 บริษัทในกลุ่มธุรกิจสื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะ 4 บริษัท คือ เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, M 39 , ทาเลนด์ วัน และทรานส์ฟอเมชั่นฟิล์ม จะเร่งส่งหนังเข้าฉายไม่ต่ำกว่าปีละ 10 เรื่อง เพราะยังมีช่องว่างทางการตลาดในต่างจังหวัดและยังหมายถึงรายได้จากยอดขายตั๋วหนังเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า ไม่นับยุทธศาสตร์การเจาะตลาดต่างประเทศแถบอาเซียน
ที่สำคัญ ปี 2558 จะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากมีภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ทำเงินเข้าฉายจำนวนมาก เช่น The Avenger: Age of Ultron, Fast&Furious 7, Man Of Steel 2: Superman/Batman, Fantastic Four Reboot, Terminator: Genisys, James Bond 24, Mission Impossible 5, Jurassic World และ The Hunger Games: Mocking Jay Part II และมีภาพยนตร์ไทย เข้าฉายอีกประมาณ 50 เรื่อง เช่น พันท้ายนรสิงห์ 2 ภาค และนเรศวร ภาคจบ ทำให้ปีหน้าจะเป็นปีที่ไม่ใช่แค่เมเจอร์ขยายสาขามากที่สุด แต่ยังเป็นปีที่มีหนังไทยเข้าฉายจำนวนมากด้วย
ขณะเดียวกันยังต้องกระตุ้นและสร้างอารมณ์ เพื่อเพิ่มความถี่การดูมากขึ้นในทุกกลุ่มลูกค้า ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน อายุ 18-30 ปี ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าหลักของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์
กลยุทธ์บัตรสมาชิกและบัตรเติมเงินจึงเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มวัยเกษียณ อายุมากกว่า 60 ปีที่ยังมีสัดส่วนเข้ามาดูหนังไม่ถึง 3% ทั้งที่จำนวนมากเกือบ 10 ล้านคน มีกำลังซื้อ มีอิสระและมีเวลามากกว่านักเรียนนักศึกษาหรือคนทำงาน ขณะที่การดูหนังถือเป็นความบันเทิงที่ราคาไม่แพง
ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขยายบัตรสมาชิก M-GENERATION ตามไลฟ์สไตล์ลูกค้า ตั้งแต่กลุ่มเด็ก นักเรียน-นักศึกษา หรือ M GENERATION – Student, กลุ่มบุคคลทั่วไป หรือ M GEN Regula, กลุ่มผู้สูงวัย หรือ บัตร M Generation Freedom, กลุ่มลูกค้าที่นิยมดูหนัง 3 มิติ ไอแมกซ์ และกลุ่มลูกค้าที่ดูหนังมากกว่า 39 เรื่องต่อปี หรือบัตรสมาชิก M Generation First Class ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษมากกว่าทุกกลุ่ม
ล่าสุด ยอดสมาชิกบัตร M Generation อยู่ที่ 2.5 ล้านใบ และบัตร M Cash อีก 2 ล้านใบ โดยเชื่อว่าจะมียอดเติบโตต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มลูกค้าหลักและกลุ่มลูกค้า Freedom ซึ่งวิชาเชื่อมั่นว่า กลุ่ม Freedom จะเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในอนาคตและรักษาฐานลูกค้าทุกกลุ่มให้เติบโตด้วย โดยขยายสาขาเข้าถึงทุกจังหวัด เพื่อสร้างวัฒนธรรมการดูหนัง ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจภาพยนตร์เติบโตก้าวกระโดดทันที
สำคัญที่สุด “Big Surprise” ครั้งล่าสุดของ “วิชา พูลวรลักษณ์” แม้เป็นเป้าหมายระยะยาว แต่คู่แข่งอย่าง “เอสเอฟ ซีเนม่า” คงอยู่นิ่งไม่ได้แน่
Relate Story