วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > QC สุขอนามัยของคุณ … ด่วน! (1)

QC สุขอนามัยของคุณ … ด่วน! (1)

 
 
ตลับใส่คอนแทคเลนส์
โยนทิ้งหลัง 3 เดือน
เพราะไบโอฟิล์ม (biofilm) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้แบคทีเรียรอดพ้นจากการทำลายล้างของน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นภายในตลับ ปัญหาคือไบโอฟิล์มเป็นสารที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แม้ตลับแลดูสะอาดดี แต่ไม่ได้หมายความว่าปลอดไบโอฟิล์ม โดยเฉพาะหลัง 3 เดือนไปแล้ว โอกาสเกิดไบโอฟิล์มมีสูงมาก แบคทีเรียจึงมีที่หลบซ่อนตัวเป็นอย่างดี
 
คำแนะนำ – ให้ล้างตลับทุกครั้งที่คุณนำคอนแทคเลนส์ออกมาใส่ ด้วยการเทน้ำยาเก่าทิ้ง แล้วใช้นิ้วมือสะอาดขัดถูภายในตัวตลับสัก 5 วินาที จากนั้นล้างด้วยน้ำยาใหม่ที่สะอาด และใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง คว่ำตลับลงโดยเปิดฝาตลับทิ้งไว้ เพื่อให้ตลับแห้งสนิท ห้ามใช้น้ำเปล่าล้างตลับแทนน้ำยาเป็นอันขาด เพราะทำให้คุณเสี่ยงต่อการติดเชื้ออะมีบา Acanthamoeba Keratitis ที่ทำให้ตาบอดได้
 
ข้อเท็จจริงคือ มีผู้ใส่คอนแทคเลนส์ถึงร้อยละ 40 ที่ทำความสะอาดตลับใส่คอนแทคเลนส์น้อยมาก พวกเขาทำความสะอาดด้วยความถี่เพียงสองสามสัปดาห์ต่อครั้งเท่านั้น !
 
ยา
โยนทิ้งทันทีที่หมดอายุ
โดยเหตุที่ยาเสื่อมสภาพตามเวลา จึงทำให้ตัวยามีประสิทธิภาพในการรักษาลดลงหรืออาจถึงขั้นเป็นพิษได้ ให้ใส่ใจยาที่หมดอายุเร็ว เช่น ยาหยอดตา ซึ่งหมดอายุหลังจากเปิดใช้งานเพียงไม่กี่สัปดาห์ เพราะนัยน์ตาไวต่อการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นพิเศษ หากต้องการทิ้งยาหมดอายุ ให้นำไปให้เภสัชกรทิ้งแทนการทิ้งลงในอ่างล้างจาน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งไม่ทิ้งลงถังขยะ เพราะเสี่ยงเป็นอันตรายต่อเด็ก สัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยง 
 
คำแนะนำ – ให้เก็บยาในที่เย็นและแห้ง อย่าเก็บในที่อับชื้นและร้อน เพราะอุณหภูมิที่สูงทำให้ยาบางชนิดมีประสิทธิภาพลดลง หรือทำให้ยาเสื่อมก่อนถึงวันหมดอายุตามที่ระบุ จึงต้องไม่เก็บยาในตู้ครัว บริเวณใกล้หน้าต่าง และในห้องน้ำ  
 
ข้อเท็จจริงคือ ชาวออสเตรเลียทุกหนึ่งในห้าคนยอมรับว่า ใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
 
รองเท้าวิ่ง
โยนทิ้งหลังวิ่งมาแล้ว 800 กม.
ดังนั้น ถ้าคุณวิ่งครั้งละ 5 กม. สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ให้เปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่อย่างน้อยปีละครั้ง รองเท้าวิ่งถูกออกแบบให้รองรับแรงกระแทกขณะวิ่งตามระยะทางที่กำหนดเท่านั้น ถ้าคุณยังสวมวิ่งต่อไป ย่อมเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บมากขึ้น
 
คำแนะนำ – อย่าสวมรองเท้าวิ่งเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย เพราะทำให้ระยะทางการรองรับแรงกระแทกขณะวิ่งลดลง นอกจากนี้ ต้องถอดรองเท้าอย่างถูกวิธีด้วยการแก้เชือกผูกรองเท้า ซึ่งช่วยให้รองเท้าคงรูปทรงได้นานขึ้น การวิ่งบนพื้นคอนกรีตทำให้รองเท้าสึกเร็วกว่าบนพื้นหญ้า ลู่วิ่ง หรือลู่วิ่งสายพาน
 
ข้อเท็จจริงคือ ราวร้อยละ 15 ของอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง เป็นผลมาจากการสวมรองเท้าวิ่งที่หมดอายุการใช้งานแล้ว 
 
ครีมกันแดด
โยนทิ้งหลัง 3 ปี
ครีมกันแดดมีสูตรการผลิตให้คงประสิทธิภาพอยู่ได้นาน 3 ปี แต่ถ้าคุณสังเกตเห็นว่าสีหรือเนื้อครีมเปลี่ยนไปจากเดิม ให้โยนทิ้งทันที แม้ยังไม่ถึงวันหมดอายุตามที่ระบุก็ตาม ครีมกันแดดส่วนใหญ่ระบุวันหมดอายุ เวลาไปเลือกซื้อ ให้เลือกขวดที่ระบุวันหมดอายุไกลที่สุด เพื่อให้ใช้งานได้นานที่สุด
 
คำแนะนำ – เก็บครีมกันแดดในที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงทำให้ค่า SPF ของครีมกันแดดเสื่อมประสิทธิภาพเร็วขึ้น อย่าวางครีมกันแดดไว้ในที่ที่แสงแดดส่องถึงหรือในรถ
 
ข้อเท็จจริงคือ ครีมกันแดดเสื่อมเร็วขึ้นเป็นสองเท่าในอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากที่แนะนำทุกๆ 10 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิในรถที่จอดทิ้งไว้อาจสูงถึง 70 องศาเซลเซียสได้ในวันที่มีอากาศร้อน 
 
เขียง
โยนทิ้งเมื่อเกิดรอยจากการสับและหั่น
เพราะรอยดังกล่าวเป็นบริเวณที่แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ผลการวิจัยระบุว่า แม้การล้างอย่างสะอาดก็ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อร้ายได้ ข่าวดีคือ ใช้เขียงไม้ดีกว่าเขียงพลาสติกมาก เพราะไม้มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้โดยธรรมชาติ แต่ทันทีที่เขียงเป็นร่องหรือเป็นรอยจากการสับและหั่น ให้เปลี่ยนเขียงใหม่
 
คำแนะนำ – อย่าใช้เขียงที่ใช้สำหรับหั่นอาหารพร้อมบริโภค เช่น ผัก และเขียงที่ใช้สำหรับหั่นอาหารที่ต้องปรุงสุก เช่น เนื้อ ร่วมกัน ทุกครั้งหลังการใช้งาน ให้ล้างด้วยสบู่และน้ำร้อน จากนั้นเช็ดด้วยกระดาษอเนกประสงค์ให้สะอาดและผึ่งให้แห้ง
 
ข้อเท็จจริงคือ โดยเฉลี่ยแล้วเขียงมีปริมาณแบคทีเรียมากกว่าโถส้วมถึงร้อยละ 200 จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องคำนึงถึงสุขอนามัยของเขียงมากเป็นพิเศษ
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว