วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > Fondation Maeght

Fondation Maeght

 

ฝรั่งเศสมีพ่อค้างานศิลป์ดังๆ หลายคน แต่ไม่มีคนไหนที่จะหาญกล้าสร้าง “พิพิธภัณฑ์” ส่วนตัวแสดงผลงานอาร์ทิสต์ทั้งมวลที่ตนสะสมไว้ เอเม มากต์ (Aimé Maeght) เป็นเพียงหนึ่งเดียว

 

เอเม มากต์ เกิดทางตอนเหนือของฝรั่งเศส แถบเมืองลิล (Lille) พ่อไปสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้วหายสาบสูญ แม่พาลูกๆ หนีภัยเยอรมันไปทางใต้ใกล้เมืองนีมส์ (Nîmes) หลังจากเรียนด้านการพิมพ์ เอเม มากต์ไปทำงานในโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่เมืองกานส์ (Cannes) เป็นช่างทำแบบพิมพ์ เขาหางานได้ง่ายเพราะเป็นลูกของผู้หายสาบสูญหรือเสียชีวิตในสงคราม

 

และที่นี่เองเขาได้พบกับสาวน้อยวัย 17 ปี มาร์เกอริต เดอเวย์ (Marguerite Devaye) ลูกสาวพ่อค้าที่มั่งคั่ง ทั้งสองบังเอิญไปฟังคอนเสิร์ตนักร้องประสานเสียงเดียวกัน สาวเจ้านึกว่าหนุ่มเดินตาม จึงหันมาตบหน้าเสียนี่ แต่แล้ว ในที่สุดก็แต่งงานในปี 1928

 

ต่อมาในปี 1932เขาตั้งโรงพิมพ์ของตนเองชื่อ ARTE แถวหาด La Croisette พร้อมกับขายวิทยุด้วย

 

ในปี 1936 เอเมและมาเกอริต มากต์ได้พบกับจิตรกรปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) มาร์เกอริตเสนอจะนำภาพเขียนของปิแอร์ บอนนารด์มาแสดงในตู้กระจกหน้าร้าน โดยที่ไม่รู้ว่าจิตรกรผู้นี้ดังแล้ว

 

ปิแอร์ บอนนารด์นึกสนุกด้วย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้ และปิแอร์ บอนนาร์ดนี่เองที่แนะนำให้รู้จักกับอองรี มาติส (Henri Matisse) มาร์เกอริตเป็นแบบให้อองรี มาติสเขียนรูปด้วย

 

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เอเมและมาร์เกอริต มากต์ให้ที่พักพิงแก่อาร์ทิสต์และกวีที่หนีภัยสงครามมาทางใต้ ก่อนที่เอเมและมาร์เกอริตจะหนีภัยเยอรมันมาที่เมืองวองซ์ (Vence) เพราะเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยฝรั่งเศสด้วย จึงได้เป็นเพื่อนบ้านกับอองรี มาติส

 

หลังสงคราม ปิแอร์ บอนนารด์และอองรี มาติสยุให้เอเม มากต์เปิดอาร์ตแกลเลอรี Galerie Maeght ที่ปารีส และสร้างปรากฏการณ์ด้วยการนำผลงานของอองรี มาติสมาแสดง ในปี 1947 จัดนิทรรศการเซอเรียลิสต์ร่วมกับอองเดร เบรอะตง (André Breton) และมาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) แกลเลอรีของเขากลายเป็นศูนย์รวมของอาทิสต์ กวี และนักเขียนในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) อองรี มาติส (Henri Matisse) แฟร์นองด์ เลเจร์ (Fernand Léger) มาร์ก ชากาล (Marc Chagall) จอร์จส์ บราค (Georges Braque) โฆอัน มิโร (Joan Miro) อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ (Alexander Calder) อัลแบร์โต จาโกเมตตี (Alberto Giacometti) อองเดร เดอแรง (André Derain) วาสซิลี คันดินสกี (Vassily Kandinsky) เป็นต้น

 

เอเม มากต์เป็นผู้ทำให้โลกรู้จักผลงานของอัลแบร์โต จาโกเมตตี ประติมากรผู้นี้รำพึงว่าได้รู้จักกับ “คนสติไม่ดี” ที่อยากผลิตผลงานของเขาเป็นบรอนซ์จากต้นแบบปูนปลาสเตอร์ นอกจากนั้นเอเม มากต์ยังทำนิตยสาร Derrière le Miroir และพิมพ์หนังสืองานศิลปะที่สวยงาม

 

แบร์นารด์ มากต์ (Bernard Maeght) ลูกชายวัย 11 ปีของทั้งสองเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือดในปี 1953 เอเมและมาร์เกอริต มากต์เสียใจมาก และอยากเลิกกิจกรรมทั้งปวง แฟร์นองด์ เลเจร์และจอร์จส์ บราค จึงแนะนำให้ทั้งสองเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อชมพิพิธภัณฑ์เอกชนต่างๆ เช่น Phillips Foundation, Barnes Foundation Guggenheim Foundation …. เป็นต้น ทำให้ทั้งสองเกิดความคิดว่าน่าจะทำเหมือนกัน โฆอัน มิโรแนะนำให้ Joseph Lluis Sert สถาปนิกชาวสเปนเป็นผู้ออกแบบตัวอาคาร และให้อาร์ทิสต์แต่ละคนออกความคิดในการสร้างสถานที่ที่จะติดตั้งผลงานของตน อัลแบร์โต จาโกเมตตีต้องการแสดงผลงานกลางแจ้ง โฆอัน มิโรต้องการทำเป็น labyrinth มาร์ก ชากาลทำโมเส็ค อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ทำโมบาย จอร์จส์ บราคทำกระจกสี เป็นต้น

 

จึงเป็นที่มาของ Fondation Maeght ที่แซงต์ปอลเดอวองซ์ (Saint-Paul-de-Vence) ดังที่เห็นในปัจจุบัน การก่อสร้างใช้เวลา 4 ปีจึงแล้วเสร็จ และ Fondation Maeght กลายเป็นศูนย์รวมอาร์ทิสต์ กวี และนักเขียนที่มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

 

ดังนั้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 1964 อองเดร มัลโรซ์ (André Malraux) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมในขณะนั้น เดินทางมารับมอบกุญแจของ Fondation Maeght ท่านรัฐมนตรีประทับใจมากและเห็นว่า Fondation Maeght ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ แต่เป็นศูนย์รวมโมเดิร์นอาร์ต ค่ำคืนนั้นมีการฉลอง แขกประมาณ 3,000 คน อีฟส์ มงตองด์ (Yves Montand) มาร้องเพลง และแน่นอนที่เขาจะร้องเพลง Dans la maison ซึ่งแต่งโดยกวีฌาคส์ เพรแวรต์ (Jacques Prévert) นอกจากนั้นเอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) ก็มาร้องเพลงด้วย

 

Fondation Maeght มิได้หมายที่จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม จุดประสงค์เริ่มแรกคือเป็นที่จัดงานศิลป์ที่สะสมส่วนตัว ทว่าในวันรุ่งขึ้นมีคนขอเข้าชมเข้าแถวยาว 100 เมตร ทาง Fondation Maeght คิดค่าเข้าชมเพียง ฟรังก์ นับแต่นั้นประตู Fondation Maeght ไม่เคยปิดเลย

 

กิจการของ Galerie Maeght มิได้หยุดแค่กรุงปารีส เพราะมีการเปิดสาขาที่นิวยอร์ก บาร์เซโลนาและซูริก

 

อาเดรียง มากต์ (Adrien Maeght) ลูกชายที่เหลืออยู่ เข้ามาดูกิจการของพ่อแม่ด้วย ลูกสาวทั้งสามเติบโตท่ามกลางอาร์ทิสต์และปัญญาชนทั้งหลาย ลูกสาวคนสุดท้องชื่อฟรองซ็วส (Françoise) ซึ่งกวีดังอย่างฌาคส์ เพรแวรต์ เรียกชื่อเล่นว่า โยโย–Yoyo ลูกชายคนสุดท้องของอาเดรียงเป็นแก้วตาขวัญใจของปู่ย่า ในปัจจุบันหลานๆ เข้าทำงานในกิจการของตระกูล Maeght ซึ่งมีทั้งอาร์ตแกลเลอรี สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ และ Fondation Maeght ถึงกระนั้นใช่ว่าจะไม่มีปัญหามรดก

 

อาเดรียง มากต์เป็นประธานของ Fondation Maeght ซึ่งปัจจุบันมีงานศิลป์ประมาณ 12,000 ชิ้น ทั้งยังจัดนิทรรศการจรในช่วงฤดูร้อนด้วย

 

ในปี 2014 Fondation Maeght ครบรอบ 50 ปี โยโย มากต์เขียนหนังสือชื่อ Le Saga Maeght