วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > การรุกคืบของทุนญี่ปุ่นในสยาม ทางรอดหรือทางเลือก

การรุกคืบของทุนญี่ปุ่นในสยาม ทางรอดหรือทางเลือก

 
การลดจำนวนลงของประชากรเกิดใหม่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เมื่อกำลังการซื้อส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนในวัยทำงาน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในระบบเศรษฐกิจของดินแดนอาทิตย์อุทัย
 
ภาวะการชะลอตัวของกำลังซื้อในญี่ปุ่นส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยที่ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นใช้ระบบเศรษฐกิจแบบ Abenomics ภายใต้การนำของ Shinso Abe อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งประกาศยุบสภาไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
 
โดยโตเกียวได้ประกาศขึ้นภาษีการค้าจาก 5 เปอร์เซ็นต์เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนชะลอการจับจ่าย ผลพวงจาก Abenomics นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่นที่มาจากการเลือกตั้งวันที่ 14 ธันวาคม 2557 จะต้องเร่งหาทางออกในเรื่องนี้ให้กับบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งยังต้องเรียกความน่าเชื่อถือให้กับประเทศเมื่อ Moody’s สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของประเทศญี่ปุ่นลงจาก ‘Aa3’ เหลือ ‘A1’ (เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557) นับเป็นการปรับลดหนึ่งขั้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงไตรมาส 3 
 
การขาดดุลระยะกลางอย่างต่อเนื่องของประเทศญี่ปุ่น และการหดตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ 0.4% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน (เมษายน – มิถุนายน) ที่ 1.9% ทั้งที่ในไตรมาสแรกของปี ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.6% เพราะตลาดฝากความหวังไว้กับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ Abenomics ปัญหาที่สะสมอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่นคงจะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำคงไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาเรื่องงบดุลของประเทศ หากแต่ยังต้องสร้างนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเสถียรภาพที่มั่นคงพร้อมทั้งลดหนี้ที่สูงขึ้น
 
หากแต่ใจความของปัญหาทั้งหมดยังเกี่ยวเนื่องกับบทบาทด้านเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่มีต่อนานาชาติเพราะถ้าปัญหาที่กำลังรุมเร้าในแดนอาทิตย์อุทัยขณะนี้ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบอาจจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากจะตั้งสมมุติฐานว่าญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ที่คลี่คลายได้หมดทุกปมที่เผชิญอยู่ แต่ก็อาจจะไม่ใช่ในมิติที่จะกลับมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้อีก
 
ดูเหมือนว่านโยบายเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลของ Shinso Abe แต่ละมาตรการที่ออกมาด้วยความมุ่งหมายจะให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นดำเนินไปในทางที่ดีขึ้น แต่ผลที่ได้กลับสวนทางกับความตั้งใจหลายเรื่อง กระนั้นความหวั่นวิตก หรือความต้องการแนวทางนโยบายใหม่อาจกระทบต่อผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และอาจจะเป็นตัวชี้วัดอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นต่อนานาชาติเลยก็ว่าได้
 
อย่างไรก็ตาม การจะกลับมามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกดูจะไกลเกินไปในห้วงเวลานี้ หากแต่การเข้ามาเล่นบทนักลงทุนที่ดี รวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดูจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่นับว่าดีที่สุดในขณะนี้
 
ทางรอดหรือทางเลือกใหม่สำหรับญี่ปุ่น คือการย้ายฐานการผลิตและลงทุนในประเทศที่ยังมีกำลังซื้อที่คงเส้นคงวา ที่อาจเป็นแนวรุกใหม่ในภาวการณ์เช่นนี้ ทั้งนี้บรรดาประเทศในภูมิภาคอาเซียนก็ดูจะเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งแรงงาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกส์ อีกทั้งยังมีกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับเป็นห้วงเวลาที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558
 
ทั้งนี้หากบริษัทที่เป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุน คือความนิยมชมชอบในอาหารญี่ปุ่นของคนไทยที่ซึมซับมานานจนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมการกินของคนไทยไป
 
กระนั้นไทยเองก็มีนโยบายในด้านเศรษฐกิจที่พร้อมจะอ้าแขนเปิดประตูบ้านต้อนรับอย่างอบอุ่นและสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติที่หอบหิ้วกระเป๋าข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งก่อนหน้านี้บรรดาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นก็เติบโตจนเปลี่ยนซอยสุขุมวิท 33/1 และซอยทองหล่อ 13 ให้กลายเป็น Japan Town ไปแล้ว
 
ความพิถีพิถันและใส่ใจในเรื่องอาหารการกินของคนญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวจนไม่มีชาติใดเลียนแบบได้ นี่เองจึงเป็นสาเหตุให้บรรดานักปรุงต้นตำรับอาหารและเครื่องดื่มไม่อาจละเลยกระบวนการผลิตแม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม
 
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ญี่ปุ่นที่มีสินค้าส่งออกเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังจำเป็นต้องส่งออกศิลปวิทยาการด้านอาหารออกมาด้วย เพราะดูเหมือนว่าการมีวัฒนธรรมด้านอาหารที่แตกต่างจากประเทศอื่น รวมไปถึงนโยบายที่ชัดเจนในเรื่อง Food Security เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น มักได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งสิ้นสุดปลายทางพร้อมเสิร์ฟ
 
แม้ว่าที่ผ่านมาการเติบโตด้านธุรกิจอาหารญี่ปุ่นและเครื่องดื่มในต่างแดนจะไปได้สวย แต่นั่นไม่อาจตีความถึงเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศญี่ปุ่นได้ เพราะแม้ในปัจจุบันประเทศที่เคยเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่มีความทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา ความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นรวมไปถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในขณะนี้ ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยแต่มีหนี้พอกพูนมากกว่า 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ
 
ทางออกของปัญหาด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแล แต่ทางออกสำหรับนักธุรกิจที่ทำได้เร็วกว่าคือการหาพื้นที่ใหม่ในการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ในประเทศของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีบริษัทชั้นแนวหน้าในด้านการเป็นผู้ผลิตชาเขียวอันดับ 5 ของญี่ปุ่น เลือกเบนเข็มทิศการลงทุนเข้ามาในสยามและ บริษัท Maruzen Tea Japan จากจังหวัดชิสึโอกะ อีกหนึ่งบริษัทที่ตัดสินใจเข้ามาสร้างฐานการผลิตชาในประเทศไทย และมองเห็นโอกาสที่จะสร้างผลกำไรมากกว่าจะจดจ่ออยู่แต่ในแดนอาทิตย์อุทัย
 
การมาถึงของผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นต้นตำรับแห่งชาเขียวญี่ปุ่น คงไม่ใช่เพียงแค่นำเม็ดเงินมาหว่านแล้วรอคอยวันเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น หากแต่ยังต้องแบ่งปันศิลปวิทยาการแห่งชนชาติในเรื่องชาให้กับประเทศที่ยอมรับทุนจากต่างแดนอย่างไทย ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่แค่บริษัทมารุเซ็นเท่านั้นที่จำต้องผ่องถ่ายความรู้ของตัวเองให้กับบริษัทที่ตนเองไปร่วมทุนด้วย แต่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอื่นๆ ที่พยายามจะเติบโตนอกประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน นับเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่เมื่อเทียบกับหนทางรอดในวังวนธุรกิจแล้วดูจะคุ้มค่าอยู่
 
การสร้างฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นในรอบ 70 ปีของมารุเซ็น ดูเหมือนจะนำพามาด้วยความหวังที่ว่าช่องทางที่เลือกและหวังให้เป็นทางรอดจะบรรลุเป้าประสงค์อย่างที่ตั้งใจ เพราะนั่นย่อมหมายถึงการตัดสินใจในรอบ 7 ทศวรรษไม่ได้ทำไปโดยเสียเปล่า
 
Relate Story