ทั้งประดับ-เก็บออมและลงทุน
พลันที่คิดจะซื้อทองมาเป็นเครื่องประดับสถานะหรือแม้จะลงทุนในฐานะที่เป็นการเก็บออม เชื่อแน่ว่า เยาวราชเป็นสถานที่แรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิด เพราะที่นี่เป็นประหนึ่งศูนย์กลางและย่านการค้าทองคำแหล่งใหญ่ของเมืองไทย
ความผันแปรของราคาทองคำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ประพฤติกรรมของผู้บริโภคทองคำปรับเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่ซื้อทองในฐานะเครื่องประดับกลายมาเป็นการซื้อทองคำเพื่อเก็บออมและมีไม่น้อยที่ซื้อทองคำในลักษณะเป็นการลงทุนหวังผลเก็งกำไรกันเลยทีเดียว
“ในอดีตลูกค้าจะซื้อทองคำรูปพรรณ 95% ซื้อทองแท่ง 5% แต่ตอนนี้สลับกัน ซื้อทองคำแท่ง 95% และซื้อทองรูปพรรณ 5%” จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าทองคำบนถนนเยาวราชมานานกว่า 50 ปี ขยายความการเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปในอดีต ทองคำนิยมใช้เป็นเครื่องประดับและเก็บออมบางส่วน ในลักษณะเก็บสะสมทีละเล็กทีละน้อย ผู้บริโภคที่ซื้อทองคำมักมีฐานะปานกลาง ในขณะที่ผู้บริโภคที่มีฐานะไม่นิยมซื้อทองคำเพื่อสวมใส่ แต่ซื้อทองคำเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจมากกว่า
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อทองคำแท่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายแม้อยู่กันคนละซีกโลก รวมถึงการเปิดตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าและการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำที่ทำให้เกิดภาวะตื่นทอง
สำหรับตลาดทองในไทย มีความผันผวนตามราคาทองคำโลกอย่างไม่อาจเลี่ยงกลไกการขับเคลื่อนธุรกิจทองคำผ่านสมาคมค้าทองคำ (Gold Traders Association) ซึ่งแม้จะมีเป้าประสงค์ในการก่อตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นในระหว่างสมาชิกในอันที่จะอำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ตลอดจนสมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการค้าทองคำในการเจรจาทำความตกลงกับบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจของสมาชิก
แต่บทบาทสำคัญที่สุดของสมาคมผู้ค้าทองคำก็คือ การกำหนดราคาทองคำแท่งและทองรูปพรรณเพียงรายเดียวในประเทศ โดยคณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมฯ หรือที่เรียกว่า “5 เสือเยาวราช” มาจากตัวแทนร้านทองย่านเยาวราช 5 แห่ง อันประกอบด้วยห้างทอง จินฮั้วเฮง ฮั่วเซ่งเฮง เลี่ยงเส็งเฮง หลูชั้งฮวด และร้านทองแต้จิบฮุย ทำหน้าที่กำหนดราคาทองทุกวัน ด้วยการร่วมกันประชุมทุกเช้า โดยคณะกรรมการโหวตเสียง 3 ใน 5 ตัดสินลงมติเป็นเอกฉันท์แล้วประกาศราคาทุกเช้าในเวลา 09.00 น.บนเว็บไซต์ของสมาคมทองคำ เพื่อให้ร้านทองหรือร้านตู้แดงประกาศราคาติดไว้หน้าร้าน
ห้างทองและร้านทองที่เป็นคณะกรรมการควบคุมราคาทองคำล้วนแต่มีประวัติการประกอบธุรกิจทองคำที่ผ่านร้อนหนาวมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จของ “จินฮั้วเฮง” ที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของคุณจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี ซึ่งมีฐานะเป็นนายกสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างให้ทองคำไม่ถูกจำกัดให้เป็นเพียงเครื่องประดับหรือเป็นวัตถุที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ค่านิยม และประเพณีของสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ผลักดันให้ทองกลายเป็นสินค้าในเรื่องการลงทุนในตลาดอนุพันธ์อีกด้วย
ขณะที่ในกรณีของห้างทองฮั่วเซ่งเฮง ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการค้าทองระดับแนวหน้าของเมืองไทย ก็มีความเป็นมายาวนานและก้าวสู่การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 ที่ยังสามารถต่อยอดธุรกิจจากชื่อเสียงและความไว้วางใจจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี
แต่จังหวะก้าวของร้านทองที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์และประพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุดรายหนึ่ง คงต้องบันทึกชื่อ ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮง ซึ่งเปิดบริการค้าขายทองคำมานานกว่า 60 ปี โดยชาวจีนในสยาม เติมศักดิ์ พิสุทธิกุล ผู้ก่อตั้งห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์ บนถนนพาหุรัด ย่านบ้านหม้อ มีเครื่องหมายการค้าเป็นตรางูทอง
ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮง เป็นร้านที่ดำเนินธุรกิจขายส่งทองรูปพรรณแห่งแรกๆ ในไทย ก่อนจะส่งผ่านสู่ทายาทรุ่นสอง ชิษณุ พิสุทธิกุล ผู้มารับช่วงต่อจากบิดา พร้อมพลิกโฉมวงการทองด้วยแนวคิด “ทองพันธุ์ฮิป” ด้วยการริเริ่มทำทองลายการ์ตูน ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนจากดิสนีย์ เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในเมืองไทย
กลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบ “เลี่ยงเส็งเฮง” ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่มุ่งหวังจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ และช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูทันสมัยและอ่อนวัยลง สอดรับกับค่านิยมใหม่ๆ ในสังคมและเป็นการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทองได้เป็นอย่างดี
เพราะ “ทอง” มีค่าเป็นทั้ง “เงิน” และ “สินค้า” ในตัวเอง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากซื้อทองรูปพรรณมาเป็นซื้อทองคำแท่งเพื่อออมกลายเป็นเก็งกำไร
ฉะนั้น ช่วงทองขาลงจึงถือเป็นช่วงขาขึ้นของผู้ซื้อที่จะผันเงินเก็บนำไปซื้อทองคำซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนทั้งรายน้อยรายใหญ่นั่นเอง
บางทีธุรกิจค้าทองคำที่มีภาพลักษณ์เป็นเสือนอนกินมาอย่างยาวนาน อาจถึงจุดเปลี่ยนให้ต้องปรับกลยุทธ์และรูปแบบทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอดในระยะยาว เป็นการปรับตัวที่อาจทำให้เราได้เห็น “สินค้าทอง” ในรูปแบบต่างๆ มาเป็นทางเลือกทั้งสำหรับเป็นเครื่องประดับและการเก็บออมมากขึ้น