พุทธศักราช 2558 ปีที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC มุ่งให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้เพื่อความอยู่ดี กินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เหลืออีก 9 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา
สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำในการก่อตั้งสมาคมอาเซียน มีศักยภาพในการเป็นแกนนำในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยมุ่งเน้นเรื่องการศึกษา ซึ่งจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่นๆ มีความเข้มแข็ง เพราะการศึกษานับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในด้านอื่นๆ
สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization-NEDA) ขึ้นตรงต่อกระทรวงการคลัง มีภารกิจในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน
บทบาทของ NEDA ดูเหมือนจะสอดคล้องต่อความมุ่งหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยล่าสุดไทยให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน และทางวิชาการ บนโครงการพัฒนาถนนหมายเลข 48 ช่วงเกาะกง-SRE Ambel (R48) ที่มีระยะทางประมาณ 151.50 กิโลเมตร ภายใต้วงเงิน 867.80 ล้านบาท โดยมีข้อกำหนดให้ใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมด ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550
และการสำรวจเส้นทางนี้ในปัจจุบัน อาจทำให้ผู้ให้การสนับสนุนอย่าง NEDA เองต้องศึกษาและพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งว่า ควรจะทำการปรับปรุงสภาพผิวการจราจรที่กลับมาเป็นหลุมเป็นบ่ออีกครั้ง หรือควบรวมกับการขยายช่องทางการจราจรไปเสียทีเดียว เพราะปริมาณของรถยนต์ รถบรรทุกที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้ มีจำนวนมากเนื่องจากเป็นเส้นทางสำหรับขนส่งสินค้าจากไทยไปยังกัมพูชา และจากกัมพูชามายังไทย นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางที่ใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมไปถึงแรงงานที่เดินทางเข้าออกอีกด้วย
“ความช่วยเหลือที่เราหยิบยื่นให้เพื่อนบ้าน เพื่อต้องการให้เพื่อนบ้านมีความพร้อมและสามารถก้าวเดินไปพร้อมๆ กับเราเมื่อเข้าสู่ AEC ในปีหน้า” เนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการ NEDA ให้เหตุผลในการที่ไทยเสนอความช่วยเหลือต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และเราเองก็ได้ผลประโยชน์ เพราะถนนเส้นนี้ก็นับเป็นเส้นทางสำคัญในระบบโลจิสติกส์ เป็นการเพิ่มทางเลือกในมือให้มีมากขึ้น เมื่อประเทศเพื่อนบ้านมีความพร้อมจะทำให้เราก้าวไปพร้อมกันอย่างมั่นคง
บนเส้นทาง R48 แม้จะมีหลายสิ่งที่ยังต้องการการพัฒนาและความช่วยเหลือ แต่ NEDA เลือกโรงเรียนเล็กๆ อย่าง Tatai School เข้ามาเป็นตัวเลือกแรก และ Tra Paing Roung School เป็นตัวเลือกต่อมา ในการทำ CSR ที่หวังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร โดยความช่วยเหลือที่ให้มีทั้งช่วยก่อสร้างอาคารเรียน ห้องสุขา จัดหาและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา
การให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษา นับเป็นการหยิบยื่นโอกาสในการพัฒนา และเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ในด้านต่างๆ สำหรับความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชานั้น NEDA หวังสร้างความไว้ใจระหว่างสองประเทศ ทั้งอาจจะช่วยปรับทัศนคติในทางที่ดีต่อประเทศไทย
บทบาทของ NEDA ที่ความช่วยเหลือเน้นหนักไปทางผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ตามแนวชายแดนมากกว่าที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตในมหภาค ทั้งที่จริงความสัมพันธ์ทั้งสองด้านควรจะดำเนินไปพร้อมกันและทิศทางเดียวกัน หาก NEDA จะเพิ่มความช่วยเหลือเพื่อให้สอดคล้องกับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรจะกระจายความช่วยเหลือสำหรับประเทศที่ยังขาด หรือแรงหนุนสำหรับประเทศที่มีความพร้อมในตัวเอง
การให้ความช่วยเหลือในด้านที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจไทยและเพื่อนบ้าน ไม่ควรจะจำกัดอยู่แค่เพียงประเทศ CML เมื่อดูจากโครงการที่ผ่านมาของ NEDA ไม่ว่าจะเป็นการช่วยสร้างและปรับปรุงถนน รวมไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำ การปรับปรุงสนามบิน พัฒนาระบบประปา กระทั่งเส้นทางรถไฟ ในกัมพูชา พม่า และลาว อย่างไรก็ตามโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการของ NEDA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ภายใต้งบประมาณ กว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งมีโครงการทั้งที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานและโครงการใหม่ รวม 10 โครงการ
ทิศทางใหม่ของ NEDA ภายใต้การบริหารงานของ เนวิน สินสิริ คือการหวังที่จะสร้าง Community รอบๆ โรงเรียนที่ได้ให้ความช่วยเหลือไว้ เพราะการสร้างสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ หรือการช่วยสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชน การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชน ดูจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงในระดับสังคมที่ใหญ่ขึ้น
การสนับสนุนและความช่วยเหลือที่ไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านผ่านหน่วยงานอย่างสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น หากยังคงเป็นการช่วยเหลือทางเดียวโดยที่เจ้าของบ้านไม่ช่วยสานต่อเจตนารมณ์ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การพัฒนาอย่างยั่งยืนและถาวรคงจะไม่เกิดขึ้นง่ายนัก เพราะในฐานะเพื่อนบ้านคงทำหน้าที่ได้เพียงประคับประคอง หรือช่วยได้เท่าที่ความสามารถและกำลังที่มีอยู่เท่านั้น
การคาดหวังให้เพื่อนบ้านที่ได้รับความช่วยเหลือได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าไทยเองก็ยังมีบางมุมที่ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน หากนโยบายของ NEDA ที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะชาติใดก็ตาม ต้องมองย้อนกลับเข้ามาในประเทศไทยบ้าง ว่ามีใครที่ยื่นมือรอความช่วยเหลือที่จะเจือจานบ้างหรือไม่ เป้าหมายของเราไม่ควรจะหยุดแค่ความพอใจที่จะเข้าไปสู่ AEC อย่างมั่นคง ในเมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่ 10 ประเทศอาเซียนเท่านั้น
Relate Story