วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “แม็กซ์แวลู” เร่งสปีด เปิดศึกชิงส่วนแบ่ง “ท็อปส์”

“แม็กซ์แวลู” เร่งสปีด เปิดศึกชิงส่วนแบ่ง “ท็อปส์”

 
“อิออนกรุ๊ป” ซุ่มเงียบเดินหน้ารุกตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งปูพรมสาขามินิซูเปอร์มาร์เก็ต “แม็กซ์แวลู ทันใจ” ปรับโฉมซูเปอร์มาร์เก็ตจาก “จัสโก้” เป็น “แม็กซ์แวลู” และผุดสาขาใหม่ในทำเลที่มีศักยภาพ ภายใต้ยุทธศาสตร์การเจาะชุมชนใหม่ เขตเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาในไลฟ์สไตล์มอลล์ระดับพรีเมียมย่านชานเมือง หัวเมืองในต่างจังหวัด รวมถึงการทุ่มทุนเปิดสาขาสแตนด์อะโลนที่มีแม็กเน็ตแปลกใหม่ ตามเป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตภายในปี 2558 
 
ต้องถือว่า อิออนกรุ๊ป มีความพยายามที่จะลงทุนในประเทศไทย แม้เจอวิกฤตหลายรอบโดยถือเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่นและติดอันดับท็อปของโลก เข้ามาบุกเบิกธุรกิจศูนย์การค้า “สยามจัสโก้” ในไทยเมื่อปี 2527 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเลิกกิจการศูนย์การค้า เหลือเพียงซูเปอร์มาร์เก็ต “จัสโก้” และเจอวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” อีกรอบ ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหลายปีจนขอออกจากแผนได้เมื่อปี 2550 
เปลี่ยนชื่อจากบริษัท สยามจัสโก้ จำกัด เป็นบริษัท อิออน ไทยแลนด์ จำกัด โดยมีบริษัท อิออน ญี่ปุ่น (บริษัทแม่) และบริษัท อิออน สหรัฐอเมริกา ถือหุ้น 49% 
 
จากปี 2550-2557 เป็นช่วงที่ “อิออน” เก็บบทเรียนและประสบการณ์ในสงครามค้าปลีกไทย วางแผนอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีทุนยักษ์ใหญ่อย่าง “เซ็นทรัล”
 
อย่างไรก็ตาม ค่ายเซ็นทรัล ในฐานะผู้ยึดกุมตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ผ่านมาต้องปรับยุทธศาสตร์หลายรอบ โดยเฉพาะหลังบริษัทแม่ “เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ “ซีอาร์ซี” ซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” เนื่องจากมีรูปแบบใกล้เคียงกับโมเดล “ท็อปส์เดลี่” ที่เดิมตั้งเป้าเป็นตัวชนคู่แข่ง ทั้งเทสโก้โลตัส เอ็กซ์เพรส และร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น จนต้องปรับเปลี่ยนสาขาท็อปส์เดลี่เป็นร้านแฟมิลี่มาร์ท รวมทั้งสร้างรูปแบบร้านให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ๆ
 
ปัจจุบัน “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” มีรูปแบบสโตร์รวม 7 แบบ จำนวน 137 สาขา ประกอบด้วย เซ็นทรัลฟู้ด ฮอลล์ เน้นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม 5 สาขา, ท็อปส์มาร์เก็ต เน้นจับกลุ่มระดับบน 63 สาขา, ท็อปส์ซูเปอร์ เน้นกลุ่มระดับกลาง 18 สาขา, ท็อปส์เดลี่ เน้นทำเลชุมชนต่างๆ พื้นที่ขนาดเล็ก 22 สาขา
 
ท็อปส์ซูเปอร์คุ้มรีเทล เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าราคาประหยัด 20 สาขา ท็อปส์ซูเปอร์คุ้มโฮลเซล เน้นลูกค้ากลุ่มค้าส่ง 7 สาขา ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์  1 สาขา และร้านอีทไทย ซึ่งเป็นร้านสไตล์เอ็กคลูซีฟที่จำหน่ายเฉพาะสินค้าแบรนด์ไทย จำนวน 1 สาขาที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซี 
 
ทั้ง 7 รูปแบบยังมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์การแข่งขัน โดยทยอยเปลี่ยนสาขาท็อปส์ซูเปอร์เป็น “ท็อปส์มาร์เก็ต” หรือ “ท็อปส์ซูเปอร์คุ้ม” ขึ้นอยู่กับทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เนื่องจากโมเดล “ท็อปส์ซูเปอร์” ใกล้เคียงกันมากกับท็อปส์มาร์เก็ต จึงจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในแง่การทำตลาดและการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 
 
สำหรับโมเดลใหม่ “ท็อปส์ซูเปอร์สโตร์” ค่ายเซ็นทรัลระบุว่า เป็นการสร้างเซกเมนต์ใหม่ในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะเพิ่มสัดส่วนสินค้ากลุ่ม “Non-food” หลากหลายมากขึ้น โดยดึงพันธมิตรในเครือซีอาร์ซีเข้ามาเสริม ซึ่งแตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตค่ายอื่น 
 
พื้นที่ในซูเปอร์สโตร์จะแบ่งเป็นโซนซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ “ท็อปส์มาร์เก็ต” และเพิ่มหมวดหมู่สินค้าเครื่องใช้อื่นๆ โดยใช้คำว่า “My” เป็นชื่อคอนเซ็ปต์ในโซนต่างๆ ได้แก่ My Media รวบรวมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากเพาเวอร์บาย, My Sport เครื่องกีฬาจากซูเปอร์สปอร์ต, My Office เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ จากออฟฟิศเมท และ My Home รวบรวมสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านจากโฮมเวิร์ค นอกจากนั้นมีโซนสินค้าต่างๆ เช่น แผนกเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ/สุภาพสตรี หรือ My Fashion, แผนกเสื้อผ้าเด็กผู้ชาย/เด็กผู้หญิง หรือ My Kids, แผนกเสื้อผ้าเด็กแรกเกิด หรือ My Baby
 
อลิสเตอร์ เทย์เลอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด กล่าวว่า ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ เป็นโมเดลธุรกิจที่เข้ามาเติมเต็มและสร้างความแตกต่างในตลาดค้าปลีก โดยเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล พลาซา ศาลายา พื้นที่ขาย 4,500 ตารางเมตร สินค้ามากกว่า 85,000 รายการ และคาดว่าจะขยายอีก 2-3 แห่งต่อปี เบื้องต้นเน้นเปิดในโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา 
 
หากเปรียบเทียบกัน อิออนกรุ๊ปยังมีโมเดลน้อยกว่า แต่บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) ผู้บริหารธุรกิจแม็กซ์แวลู พยายามสร้างองค์ประกอบต่างๆ เพื่อทำให้ทั้ง 2 รูปแบบมีความแข็งแกร่งในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต โดยกำหนดขนาดแม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่มากกว่า 2,000  ตร.ม. และเพิ่มแม็กเน็ตกลุ่มร้านค้าต่างๆ ส่วน แม็กซ์แวลู ทันใจ เฉลี่ย 300 ตร.ม. โดยล่าสุดมีสาขา แม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ต 23 แห่ง แม็กซ์แวลู ทันใจ 48 แห่ง  
 
ทั้งนี้ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อิออน ไทยแลนด์ เร่งสปีดขยายสาขา แม็กซ์แวลู ทันใจ อย่างหนัก โดยเน้นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและสถานที่พักอาศัย ในพื้นที่เป้าหมายเขตกรุงเทพฯ 4 โซนหลัก คือ โซนถนนสุขุมวิท โซนทิศเหนือและตะวันออก เช่น ย่านลาดพร้าว รามคำแหง บางนา โซนสีลมและกลางเมือง 14 สาขา โซนทิศใต้และตะวันตก เช่น เจริญนคร หัวลำโพง เพชรเกษม 
 
ขณะที่แม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาสแตนด์อะโลน อยู่ระหว่างการเลือกทำเลย่านชุมชนใหม่ และคัดแม็กเน็ตใหม่ๆ ตามเทรนด์ของผู้บริโภค อย่างสาขาถนนคู้บอน-พระยาสุเรนทร์ ที่จะเปิดในวันที่ 15 ต.ค. นอกจากมีร้านอาหารแล้วยังมีร้านดรักสโตร์ “ซูรูฮะ” และร้านจำหน่ายสินค้า “ไดโซ” เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าครอบครัวคนรุ่นใหม่ เนื่องจากย่านดังกล่าวหลังจากมีโครงการรัฐตัดขยายถนนและแนวโน้มจะขยายเพิ่มเป็น 6 เลน  มีบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้ามาเปิดโครงการหมู่บ้านตลอดแนวถนน เช่น แสนสิริ พฤกษาเรียลเอสเตท เสนาดีเวลลอปเมนท์ ลลิลพร็อพเพอร์ตี้ 
 
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทแม่อิออนกรุ๊ปยังมีแนวคิดจะกลับเข้ามาลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย โดยร่วมทุนกับบริษัทสยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) พันธมิตรเก่าแก่ตั้งแต่ยุคบุกเบิกคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าร่วมกัน รวมทั้งเพิ่งประกาศนโยบายลงทุนธุรกิจห้างสรรพสินค้า “อิออนมอลล์” ในตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย และประเทศในอาเซียน  
 
เกมรุกธุรกิจค้าปลีกของ “อิออนกรุ๊ป” จึงเป็นการเปิดสงครามระลอกใหม่ที่ดุเดือด โดยเฉพาะตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตที่ “เซ็นทรัล” คงไม่ยอมเสียส่วนแบ่งง่ายๆ แน่
 
Relate Story