วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > อังกฤษผลักดันกฎหมายใหม่ การล่วงละเมิดทางอารมณ์ถือเป็นอาชญากรรม

อังกฤษผลักดันกฎหมายใหม่ การล่วงละเมิดทางอารมณ์ถือเป็นอาชญากรรม

 
คุณผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่คุ้นเคยหรืออาจจะไม่เข้าใจคำว่า “การล่วงละเมิดทางอารมณ์” ว่าหมายถึงอะไร และเกิดขึ้นในสถานการณ์ไหน และเหตุการณ์อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์ แต่ถ้าหากได้ลองทำความเข้าใจดู จะรู้ได้ว่าเรื่องการล่วงละเมิดทางอารมณ์เป็นเรื่องใกล้ตัว และบางทีคุณอาจจะโดนล่วงละเมิดทางอารมณ์อยู่โดยที่ไม่รู้ตัวเช่นกัน
 
การล่วงละเมิดทางอารมณ์ (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Emotional, psychological and mental abuse) มักเกิดขึ้นระหว่างบุคคลสองคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันอย่างเช่น เป็นแฟนหรือเป็นสามีภรรยากัน เพราะการล่วงละเมิดทางอารมณ์เกิดจากการที่ผู้ใช้ความรุนแรงต้องการลดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจของเหยื่อลงเพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องการที่จะพึ่งพาพวกเขามากขึ้น ผู้ที่ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการต่างๆ เช่น ข่มขู่ กลั่นแกล้ง วิพากษ์วิจารณ์ในทุกๆ เรื่อง และพยายามแยกเหยื่อให้ออกมาห่างจากครอบครัวและเพื่อนๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้ควบคุมเหยื่อได้ง่ายขึ้น
 
องค์กร Living Without Abuse ของประเทศอังกฤษได้อธิบายลักษณะของการถูกล่วงละเมิดทางอารมณ์ไว้ดังนี้
 
1. ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะรู้สึกแย่ โดยเหยื่อจะคิดว่าตัวเองเป็นคนโง่ ไม่มีค่า และไม่มีประโยชน์อะไรเลยในสังคม
 
2. ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่แย่มากและไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้
 
3. ผู้ใช้ความรุนแรงจะคอยตอกย้ำให้เหยื่อรู้สึกว่าตัวเองหน้าตาน่าเกลียดหรือรูปร่างอ้วน ไม่น่ามอง
 
4. ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะคอยบอกเหยื่ออยู่บ่อยๆ ว่า พวกเธออาจจะไม่สบายหรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
 
5. ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะพยายามที่จะแยกเหยื่อออกจากครอบครัวและเพื่อนๆ โดยอาจจะย้ายไปอยู่ในที่ห่างไกล หรือทำให้ครอบครัวหรือเพื่อนรู้สึกลำบากใจเมื่อพบเจอกันที่บ้านหรือข้างนอก ในขณะเดียวกันผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะไม่อนุญาตให้เหยื่อไปทำกิจกรรมใดๆ ที่ไม่มีเขารวมอยู่ด้วย
 
6. ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะไม่อนุญาตให้เหยื่อออกไปไหนตามลำพัง โดยคอยรับส่งเหยื่อไปทำงานและรับกลับบ้าน ในขณะเดียวกันถ้าเหยื่อออกไปไหนกับใครที่ไม่ใช่ตัวเองก็จะคอยเช็กอยู่ตลอดเวลาว่าเหยื่ออยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ หรืออาจจะบังคับให้เหยื่อกลับบ้านทันทีหลังเลิกงานโดยกำหนดเวลาที่เหยื่อจะต้องถึงบ้านไว้ ถ้าเหยื่อไม่สามารถกลับถึงบ้านได้ตามเวลาก็อาจจะวิพากษ์วิจารณ์ และใช้ความรุนแรงกับเหยื่อได้
 
7. ผู้ใช้ความรุนแรงมักจะเล่นหรือแกล้งเหยื่อให้กลัวในสิ่งที่พวกเธอกลัวอยู่แล้ว เพื่อตอกย้ำให้กลัวมากยิ่งขึ้น
 
8. ผู้ใช้ความรุนแรงมักจะทำเป็นไม่สนใจเหยื่อหรือใช้ความเงียบในการตอบโต้เหยื่อถ้าหากเหยื่อไม่เชื่อฟัง
 
9. ผู้ใช้ความรุนแรงมักจะกล่าวหาว่าเหยื่อทำอะไรก็ผิดไปหมดและทำให้พวกเธอรู้สึกผิด ทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเธออาจจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย หรืออาจจะกล่าวหาเหยื่อว่าไม่มีความซื่อสัตย์กับตนเองเพื่อให้เหยื่อรายงานว่า เธอไปทำอะไรมาบ้าง หรือคุยกับใครบ้าง
 
ผลสุดท้ายของการล่วงละเมิดทางอารมณ์คือ เหยื่อจะกลายเป็นคนที่มีความเชื่อว่า เธอกำลังจะเป็นบ้า ความต้องการของเธอและความคิดเห็นของเธอนั้นไม่มีค่าต่อใครๆ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะถูกทำลายความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ยากขึ้น ถ้าหากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อรู้สึกแบบนี้ไปนานๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางอารมณ์และจิตใจของเหยื่ออย่างรุนแรง
 
มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางอารมณ์แล้วไม่รู้ตัวว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ เพราะการล่วงละเมิดทางอารมณ์เป็นการกระทำที่มองไม่เห็นด้วยตา ไม่มีการทิ้งร่องรอยต่างๆ ไว้ตามร่างกายเหมือนกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวแบบทั่วไป แต่การตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางอารมณ์นั้นมักจะเกิดขึ้นช้าๆ จากหนึ่งเดือนขึ้นไปหรืออาจจะเป็นหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นอย่างต่อเนื่อง
 
เมื่อมีการล่วงละเมิดทางอารมณ์เกิดขึ้นมาในความสัมพันธ์ของคุณ สิ่งที่จะตามมาคือ ความรุนแรงในครอบครัว โดยเริ่มจากการถูกทำร้าย ตบตี และตามมาด้วยการถูกบังคับขืนใจให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย 
 
ยกตัวอย่างเช่น มีผู้หญิงชาวอังกฤษคนหนึ่งได้เปิดเผยว่า เธอและสามีอยู่กินกันมานานกว่า 20 ปี และตลอดเวลาที่พวกเขาแต่งงานกันมา เธอก็ต้องทนอยู่กับการถูกทำร้ายทางวาจาและอารมณ์ของสามี เธอไม่ได้รู้ตัวเลยว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางอารมณ์ จนกระทั่งเธอรู้สึกแย่มากๆ และต้องการหนีจากการถูกทำร้ายทางอารมณ์และวาจาของสามี เธอพยายามที่จะไม่ทำตามคำสั่งของสามีและเริ่มพูดกลับไปว่าสิ่งที่เขาต้องการให้เธอทำมันไม่สมเหตุสมผล แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ สามีมีอาการโกรธรุนแรงมากยิ่งขึ้นที่ภรรยาไม่เชื่อฟังเขา และพยายามที่จะขู่ภรรยาจนเธอถึงกับกลัวว่าเธอจะถูกสามีทำร้ายร่างกายถ้าหากเธอไม่เชื่อฟังเขา
 
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การล่วงละเมิดทางอารมณ์เป็นเรื่องร้ายแรง และอาจจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงอื่นๆ ตามมาในภายหลัง กฎหมายจึงควรที่จะให้ความคุ้มครองและเอาผิดกับผู้ที่ล่วงละเมิดทางอารมณ์
 
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของประเทศอังกฤษ Theresa May ได้ออกมาพูดว่า เธอคิดว่า การล่วงละเมิดทางอารมณ์ควรที่จะถูกรวมเข้าไปไว้ในกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว และถูกพิจารณาว่า การมีความสัมพันธ์แบบถูกบังคับควรจะเป็นอาชญากรรม เพราะการมีความสัมพันธ์แบบถูกบังคับให้อยู่ภายใต้คนใดคนหนึ่ง ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัว Theresa อธิบายเพิ่มเติมว่า การล่วงละเมิดทางอารมณ์ก็เหมือนเป็นพื้นฐานของการสร้างความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจถึงขั้นฆ่ากันตายก็เป็นได้
 
ในประเทศอังกฤษ มีผู้หญิงประมาณ 7 คน และผู้ชายอีก 2 คน ถูกฆ่าตายจากอดีตแฟนหรือแฟนคนปัจจุบันในทุกๆ เดือน นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงถึง 30% ด้วยกันที่มีประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางอารมณ์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ Theresa จึงต้องการให้การล่วงละเมิดทางอารมณ์เป็นอาชญากรรม เพื่อปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีความกล้าที่จะออกมาพูดว่า ตัวเองถูกทำร้ายและเอาผิดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้
 
ตอนนี้กฎหมายในประเทศอังกฤษเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวระบุไว้ว่า การกระทำที่เป็นการบีบบังคับพฤติกรรมแบบไม่ใช้ความรุนแรงนั้น กฎหมายให้ความคุ้มครองและปกป้องในกรณีที่เหยื่อถูกสะกดรอยตามเท่านั้น ไม่มีการให้ความคุ้มครองกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อโดยการถูกบีบบังคับจากผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่นสามีภรรยา
 
นอกจากนี้กลุ่ม Women’s Aid ที่ประเทศอังกฤษได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และพบว่า 88% ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีความเห็นว่า ระบบยุติธรรมในประเทศอังกฤษไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอันตรายต่อจิตใจ ซึ่ง 94%ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต่างให้ความคิดเห็นที่เหมือนกันว่า การถูกทำร้ายทางจิตใจนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าการถูกทำร้ายทางร่างกาย ดังนั้นการพิจารณาให้การล่วงละเมิดทางอารมณ์ถือเป็นอาชญากรรมนั้นเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง
 
ถึงแม้ว่าที่ประเทศอังกฤษกำลังพยายามผลักดันให้การล่วงละเมิดทางอารมณ์ถือเป็นอาชญากรรมนั้น แต่ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศฝรั่งเศส กฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลและมีการประกาศใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เป็นต้นมา
 
ที่ประเทศฝรั่งเศส ถ้าคู่สามีภรรยาคู่ใดที่มีการล่วงละเมิดทางอารมณ์เกิดขึ้น ผู้ที่ใช้ความรุนแรงจะถูกจับและอาจได้รับโทษด้วยการถูกปรับถึง 75,000 ยูโร (ประมาณ 3,107,400 บาท) หรือถูกจำคุกสูงสุดถึง 3 ปีด้วยกัน รัฐบาลฝรั่งเศสเชื่อว่ากฎหมายนี้จะช่วยปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวให้กล้าออกมาพูดและแจ้งความเอาผิดกับผู้ที่ใช้ความรุนแรง
 
ถึงแม้ว่าจะเป็นการยากในทางกฎหมายที่จะระบุว่า การกระทำใดถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางจิตใจ แต่นักกฎหมายชาวฝรั่งเศสก็ช่วยกันระบุว่า การล่วงละเมิดทางจิตใจหมายถึงการกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยคำพูดหรือการกระทำอื่นๆ เพื่อลดคุณภาพของชีวิตและเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจิตใจหรือร่างกาย นอกจากนี้ศาลยังรับพิจารณาหลักฐานอื่นๆ เช่น จดหมาย SMSs หรือโน้ตที่มีข้อความซ้ำๆ กัน เพราะการล่วงละเมิดทางจิตใจมักเกิดจากการใช้คำพูดเพื่อดูถูกอีกฝ่ายหนึ่ง
 
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าการผ่านกฎหมายนี้ในฝรั่งเศสจะมีคนเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่านกฎหมายนี้ เพราะเป็นการยากที่ศาลจะพิจารณาคดีโดยที่ไม่มีหลักฐานทางกายภาพ ทำให้หลายๆ คนกลัวว่าจะมีการนำกฎหมายนี้ไปใช้ในทางที่ผิด
 
นอกจากนี้ยังคงมีผู้คนบางส่วนที่มีความคิดเห็นว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ให้ออกมาเพื่อคุ้มครองทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่กฎหมายนี้กลับเน้นไปที่การคุ้มครองปกป้องผู้หญิงซึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสมากกว่า เพราะว่าในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในประเทศฝรั่งเศสมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีก 20% เนื่องมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทำให้หลายๆ คนมองว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงเหล่านี้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง มากกว่าที่จะปกป้องคุ้มครองทั้งผู้ชายและผู้หญิงเหมือนอย่างกฎหมายอื่นๆ ที่ประกาศใช้ 
 
เรื่องนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การที่การล่วงละเมิดทางจิตใจถือเป็นอาชญากรรมนั้นช่วยให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกล้าออกมาแจ้งความมากขึ้นหรือไม่ และเมื่อมีการดำเนินคดีแล้วศาลสามารถตัดสินได้อย่างยุติธรรมหรือไม่ เพราะเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานและพยานมายืนยันความผิดของผู้ที่ใช้ความรุนแรง แต่ผู้เขียนคงไม่ปฏิเสธว่า การมีกฎหมายนี้ขึ้นมาย่อมช่วยปกป้องผู้หญิงได้ไม่มากก็น้อย ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เพราะอย่างน้อยพวกเธอก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงได้
 
 
 
 
การล่วงละเมิดทางอารมณ์เกิดจากการที่ผู้ใช้ความรุนแรงต้องการลดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจของเหยื่อลงเพื่อให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อต้องการที่จะพึ่งพาพวกเขามากขึ้น
 
 
 
 
 
หน้าเว็บไซต์ LWA ที่คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง