วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2024

Rakuten

 
โลกในวันนี้ดูเหมือนชาวเราจะก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลมากขึ้นทุกขณะ แทรกซึมเข้าสู่การรับรู้และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราในทุกระดับแล้วนะคะ
 
ความตื่นตัวในโลกดิจิตอลที่ว่านี้ ยังปลุกให้ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถเก็บเกี่ยวรายได้เป็นกอบเป็นกำแทบทุกครั้งที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกวางจำหน่ายในท้องตลาด ขณะที่ภาพการยืนต่อแถวเพื่อให้ได้สิทธิในการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน
 
พัฒนาการที่ก้าวหน้าไปของอุปกรณ์ในโลกดิจิตอลนี้ ถึงขนาดที่มีผู้คาดการณ์กันว่าอีกไม่นานนับจากนี้สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษหนักๆ คงต้องล้มหายจากไป ขณะที่การทำธุรกิจธุรกรรมต่างๆ ในอนาคตก็สามารถกระทำได้บนอุปกรณ์ขนาดพกพาที่ทรงประสิทธิภาพเหล่านี้
 
ไม่เว้นแม้แต่การ shopping ที่สามารถเลือกหาสินค้า และส่งคำสั่งซื้อขาย จ่ายสตางค์ผ่านระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งคงทำให้คุณผู้อ่านต้องคิดหาวิธีในการจัดการกับเวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้นเหล่านี้ล่ะค่ะว่าจะทำอย่างไรกันดี
 
เรื่องราวความเป็นไปและพัฒนาการของ อี-คอมเมิร์ซ ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับความตื่นตัวในธุรกิจ ดอทคอม ซึ่งกลายเป็นกระแสขยายตัวอย่างกว้างขวางตลอดช่วงทศวรรษ 1990 เรื่อยมา และแผ่วงกว้างครอบคลุมภูมิทัศน์ทางธุรกิจระดับนานาชาติมานานกว่า 2 ทศวรรษ
 
แม้แต่ในบริบทของสังคมธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่ามีลักษณะอนุรักษนิยมนั้น ธุรกิจใหม่ๆ ในโลก Cyber ก็ได้เปิดเผยให้เห็นนักธุรกิจกลุ่มใหม่ๆ ปรากฏกายขึ้นโลดแล่น และก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมาด้วย
 
ชื่อของนักธุรกิจหนุ่มที่ก้าวขึ้นมาสู่ความสนใจของสาธารณชนไม่ว่าจะเป็น Hiroe Takafumi ผู้สร้างตำนานการเกิดขึ้นและดับแสงลงอย่างรวดเร็วของ Livedoor ด้วยข้อหาฟอกเงินและกระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ด้วยการสร้างราคา และตกแต่งตัวเลขทางบัญชี อาจสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของนักธุรกิจโลก Cyber รายอื่นๆ ไม่น้อย แต่นั่นอาจเพียงมาตรการลงโทษและขจัด “คนนอกและผู้ท้าทายที่น่ารังเกียจ” ให้พ้นจากแวดวงธุรกิจที่ยังปรับตัวได้ช้าเท่านั้น
 
เพราะในอีกด้านหนึ่งบริบทและจังหวะก้าวของ Hiroshi Mikitani ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Rakuten ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ internet-based shopping mall กลับเจริญรุดหน้าและสามารถขยายเครือข่ายทางธุรกิจออกไปอย่างกว้างขวางสู่ระดับนานาชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ
 
ความแตกต่างระหว่าง Hiroe Takafumi กับ Hiroshi Mikitani ที่สำคัญประการหนึ่งอาจอยู่ที่ภูมิหลังการศึกษาและเส้นทางการเติบโตทางธุรกิจ เพราะขณะที่ Hiroe Takafumi เริ่มต้นโลดแล่นในวงการธุรกิจ ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยไม่เคยผ่านกระบวนการทำงานในภาคธุรกิจที่เรียกกันว่า salaryman
 
Hiroshi Mikitani ซึ่งมีปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi และ MBA จาก Harvard มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เป็นวุฒิพ่วงท้าย กลับสั่งสมประสบการณ์และบ่มเพาะทัศนะทางธุรกิจ จากสถานภาพของการเป็นวาณิชธนากร ที่รับผิดชอบงานด้าน mergers and acquisitions (M&A) ของ Industrial Bank of Japan ระหว่างปี 1988-1996 มาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงโลกธุรกิจ ทั้งเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว
 
ภายใต้แนวความคิด B2B2C หรือ Business-to-Business-to-Consumer ที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการแต่ละภาคส่วนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้สถานะในโลกธุรกิจของ Hiroshi Mikitani และ Rakuten เป็นประหนึ่งผู้ช่วยและกลไกที่เชื่อมประสานธุรกิจแบบพื้นฐานดั้งเดิมให้ก้าวสู่โลกของการค้าแบบใหม่ในโลก cyber มากกว่าที่จะเป็นคู่ขัดแย้งที่ขาดความเคารพในบรรทัดฐานทางธุรกิจอย่างที่ Horie Takafumi และ Livedoor ได้สื่อแสดง
 
ความสำเร็จของ Rakuten Ichiba ในการก้าวขึ้นเป็นช่องทางการค้าด้านอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และมียอดการจำหน่ายสินค้าสูงติดอันดับโลกแห่งหนึ่งนั้น ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากการขยายตัวด้วยการร่วมลงทุนหรือแม้กระทั่งครอบงำกิจการด้านอินเทอร์เน็ตและอี-คอมเมิร์ซ ทั้งในประเทศและการขยายตัวออกไปในต่างประเทศ ซึ่งในกรณีการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 67 ของเว็บไซต์ ตลาดดอทคอมในประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในวิธีการขยายตัวของ Rakuten ที่ว่านี้
 
และกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการซื้อขายสินค้าจากญี่ปุ่น ที่พร้อมส่งผ่านและสร้างมูลค่าเพิ่มไม่เฉพาะในเชิงธุรกิจแต่รวมถึงมิติทางวัฒนธรรมให้พุ่งตรงเข้าสู่ตลาดเมืองไทยอีกแรง
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของ Rakuten อีกประการหนึ่งอยู่ที่ตัวเลขในปี 2011 ที่ผ่านมาซึ่งระบุว่า Rakuten มีสมาชิกอยู่ในญี่ปุ่นมากถึง 75 ล้านบัญชี และมีผู้ถือบัตรเครดิตของ Rakuten มากถึง 6 ล้านราย และมีรายได้รวมมากถึง 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีกำไรจากการประกอบการในระดับ 886 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากถึง 2.7 หมื่นล้านบาทอีกด้วย
 
แต่นั่นอาจไม่เพียงพอสำหรับการมีที่อยู่ที่ยืนที่มั่นคงในสังคมธุรกิจญี่ปุ่น และทำให้ Hiroshi Mikitani ต้องรุกขึ้นต่อยอดทางธุรกิจด้วยการเสนอตัวเพื่อขอรับสิทธิใน franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่ของ Nippon Professional Baseball: NPB เพื่อเสริมสถานะทางธุรกิจและสังคมให้เด่นสง่า
 
เพราะการเป็นเจ้าของ franchise ทีมเบสบอลในญี่ปุ่นถือเป็นกิจกรรมที่ผูกพันอยู่เฉพาะแวดวงของ elite circle ในสังคมธุรกิจญี่ปุ่นเท่านั้น ก่อนที่ข้อเสนอของ Rakuten จะได้รับการพิจารณา ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิ franchise ทีมเบสบอลแห่งใหม่ในนาม Tohoku Rakuten Golden Eagles ภายใต้ข้อตกลงที่ประมาณกันว่ามีมูลค่าเฉียดๆ 1 หมื่นล้านเยนเลยทีเดียว
 
แม้โลกเรากำลังจะเคลื่อนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยแห่งดิจิตอล แต่ความเป็นไปในโลกธุรกิจ อาจยังไม่สามารถก้าวข้ามกรอบโครงแห่งค่านิยมที่ถูกกำหนดให้เป็นราคาที่ “ผู้มาใหม่” ต้องจ่าย หรือนี่จะเป็นข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้