วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ICONSIAM จุดบรรจบของทุนและเทคนิค

ICONSIAM จุดบรรจบของทุนและเทคนิค

 
การเปิดตัวอภิมหาโครงการ “ICONSIAM”  ไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มทุนที่ผนึกกำลังกัน ทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และสยามพิวรรธน์ แต่ยังสะท้อนภาพแนวคิดและการสอดประสานกลยุทธ์ของพันธมิตรคู่ใหม่อย่าง “ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์” กับ “ชฎาทิพ จูตระกูล” แม้คนแรกดูใหม่ในวงการค้าปลีก แต่เมื่อได้คนหลังระดับ “Big Idea” เข้ามาแบ็กอัพด้านกลยุทธ์ที่สั่งสมมานานกว่า 30 ปี การรุกเข้าสู่สมรภูมิค้าปลีกระดับลักชัวรี่จึงกลายเป็นแผนก้าวกระโดดล้ำหน้าคู่แข่งหลายขั้น 
 
จุดบรรจบของทั้งคู่เริ่มต้นจากเครือซีพีจับพลัดจับผลูสามารถซื้อที่ดินผืนใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 40 ไร่ และในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำให้ “ทิพาภรณ์” กลายเป็นคนต้นเรื่อง พยายามหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์อย่างใจเย็นและวาดภาพการพัฒนาโครงการที่มีทั้งมูลค่า คุณค่า และนวัตกรรม จนกระทั่งศุภชัย เจียรวนนท์ นึกถึงชฎาทิพ จูตระกูล ซึ่งรู้จักมักคุ้นกันในวงการธุรกิจ 
 
บิ๊กโปรเจกต์ 5 หมื่นล้านบาท จึงเปิดฉากแรกเมื่อปี 2555 
 
แน่นอนว่า “ชฎาทิพ จูตระกูล” ถือเป็นมือหนึ่งในวงการค้าปลีก พลิกแนวคิดสู่การทำศูนย์การค้าแบบโมเดิร์นล้ำยุค ไม่ว่าจะเป็นการปรับโฉม “สยามเซ็นเตอร์” นำเสนอคอนเซ็ปต์ใหม่ Ideaopolis เมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ ศูนย์กลางแห่งจินตนาการและงานสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด ศิลปะ แฟชั่น เทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ 
 
สร้าง “สยามดิสคัฟเวอรี่” Lifestyle Shopping Center แห่งแรกของไทย นำเสนอร้านค้าที่ไม่เคยเปิดบริการในศูนย์การค้าอื่น แบรนด์เนมแฟชั่นจากต่างประเทศ จนขึ้นแท่นเป็น Tourist Destination ยอดนิยมแห่งหนึ่งของเอเชีย กระทั่งแปลงโฉมใหม่ทั้งหมด เปิดตัว “พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซกรุงเทพฯ” แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ความใหญ่และการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ด้านรีเทลทำให้ชฎาทิพเปลี่ยนกลยุทธ์ หาพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเรื่อง “ทุน” เพื่อทลายข้อจำกัดการสร้างสรรค์ศูนย์การค้าที่สมบูรณ์แบบ 
 
การจับมือกับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ทุ่มเม็ดเงินร่วมกัน 15,000 ล้านบาท ผุด “สยามพารากอน” ซึ่งถือเป็นรีเทลระดับไฮเอนด์ขนาดใหญ่ พื้นที่กว่า 500,000 ตร.ม. รวมร้านค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ 250 ร้านค้า กลายเป็น “World Class Shopping Destination” ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
 
ปี 2552 ดึงกลุ่มเอ็มบีเคลงทุนกว่า 3,200 ล้านบาท ซื้อกิจการศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ เปลี่ยนลุคสร้าง “พาราไดซ์ พาร์ค” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Oasis of Srinakarin” พื้นที่ 300,000 ตร.ม. เจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่มีกำลังซื้อในเขตกรุงเทพตะวันออก 
 
ชฎาทิพยังมองเห็นความล้ำยุคเป็นความต้องการของคนรุ่นใหม่ นำเข้าร้านค้าปลีกแนวคิดสร้างสรรค์โดนใจอย่าง “Loft: Speciality Store” ที่มีต้นกำเนิดจากชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอสินค้าแปลกใหม่นำสมัยสำหรับชีวิตประจำวันมากกว่า 100,000 ชิ้น 
 
เปิด The Selected Lifestyle Multi-brand Concept Store เพื่อตอกย้ำหัวใจของสยามเซ็นเตอร์ ได้แก่ ศิลปะ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และดนตรี เทคโนโลยี โดยเลือกสินค้าดีไซน์และไลฟ์สไตล์แบรนด์ไทยที่เคยสร้างชื่อเสียงระดับโลก แต่ไม่เคยวางขายในประเทศไทย และแบรนด์ต่างชาติที่เกิดจากความสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจใหม่ๆ มานำเสนอมากกว่า 100 แบรนด์ 
 
ดังนั้น หากนึกถึงเทคนิคและกลยุทธ์การทำศูนย์การค้าที่มีความพิเศษ โดดเด่น และสนองไลฟ์สไตล์ในอนาคตของกลุ่มเป้าหมาย ชื่อ “ชฎาทิพ” ย่อมเป็นตัวเลือกแรกๆ
 
ขณะที่ “แมกโนเลีย คอร์ปอเรชั่น” ของคนต้นเรื่อง ใช้เวลาเกือบ 20 ปี บุกเบิกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แยกออกจากเครือซีพี เริ่มจากกลุ่มบริษัท ดีทีกรุ๊ป เปิดโครงการแบบทีละขั้น ปีละ 1-2 โครงการ สั่งสมประสบการณ์และรักษามาตรฐานคุณภาพ จนปี 2549 ก่อตั้งบริษัท แมกโนเลีย อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น จำกัด รุกธุรกิจจริงจังและปลุกปั้นแบรนด์ “แมกโนเลีย” ปูทางสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ติดท็อปไฟว์ของประเทศไทย 
 
ปี 2548 ผุดโครงการบ้านเดี่ยวสไตล์เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย บนถนนบางนา-ตราด กม.7 “แมกโนเลีย แกรนดิฟอร์ร่า (Magnolia Grandiflora ) ราคาเริ่มต้นหลังละ 27 ล้านบาท จับกลุ่มเศรษฐี แต่ยังไม่สามารถสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้า ต้องใช้กลยุทธ์ร่วมเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนรายการ “อะคาเดมี่ แฟนตาเซีย ซีซั่น 3” ในปี 2549 จนชื่อ “แมกโนเลียส์” ดังกระหึ่มในตลาด 
 
หลังจากนั้น เปิดตัวบ้านเดี่ยว “แมกโนเลีย เซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย” ย่านบางนา และขยายเข้าสู่ตลาดบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัด ผุด “แมกโนเลียส์ เฟรนช์ คันทรี่ เขาใหญ่” ราคาเริ่มต้นหลังละ 18 ล้านบาท  
ปี 2555 แมกโนเลีย คอร์ปอเรชั่น ประกาศความชัดเจนในฐานะผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ ซึ่งถือเป็นทิศทางและเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า โดยนำร่องโครงการ “แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด” ราคาเริ่มต้น 8.5 ล้านบาทต่อยูนิต เพื่อสร้างผลงานต้นแบบในฐานะแบรนด์ระดับทอปเอนด์
 
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มแมกโนเลียและเครือซีพียังประกาศจับมือกับกรีนแลนด์ กรุ๊ป เพื่อเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทย โดยกรีนแลนด์ กรุ๊ป เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ และ 1 ใน 5 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรชั้นนำของจีน มีโครงการติด 10 อันดับแรกของตึกที่สูงที่สุดในโลก ได้แก่ Nanjing Greenland Center ที่มีทั้งโรงแรมห้าดาว อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียม
 
กระทั่งล่าสุดการเปิดตัว “ไอคอนสยาม” อย่างเป็นทางการ ในฐานะเจ้าของที่ดินผืนใหญ่ เจ้าของทุนเต็มหน้าตัก และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ร่วมกับชฎาทิพในบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด 
 
ขณะที่ “ชฎาทิพ” เร่งปลุกจินตนาการ “ไอคอนสยาม” องค์ประกอบต่างๆ การเป็นศูนย์การค้าสุดล้ำยุค การใช้กลยุทธ์เชื่อมความร่วมมือกับผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่มีอยู่ และโครงการใหม่ที่จะผุดขึ้นอีก 30 โครงการ เช่น อวานีบูทีคโฮเต็ล, เอเชียทีค 2, แม่น้ำเรสซิเดนท์, แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟรอนท์, จูไมราห์ โฮเต็ลแอนด์เรสซิเดนท์, โครงการพัฒนาตลาดสะพานปลา, ยานนาวา คอมมูนิตี้, ตลาดยอดพิมานไปจนถึงโครงการท่ามหาราช  เพื่อสร้างแลนด์มาร์คใหม่ จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก 
 
ทิพาภรณ์นำเสนอโครงการ “Magnolias Waterfront Residences” 2 ตึก สูง 70 ชั้นและ 40 ชั้น ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในไอคอนสยาม ภายใต้แนวคิดการสร้างมาตรฐานใหม่ของโครงการที่พักอาศัยในแง่คุณภาพและความหรูหราที่สามารถเชื่อมโยงกับชุมชนโลกผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารระบบไฟเบอร์ออพติคที่ให้ความเร็วสูงสุดแห่งแรกในประเทศไทย หรือ FTTX (Fiber to Home) ระดับเดียวกับกรุงลอนดอน โตเกียว และนิวยอร์ก
 
ที่สำคัญ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนท์ อยู่ท่ามกลางความบันเทิงระดับเวิลด์คลาส แต่ไม่ทิ้งธรรมชาติริมฝั่งน้ำ วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นบุคคลระดับโลก ราชวงศ์ ซีอีโอ ผู้นำองค์กรทั่วโลก เศรษฐีระดับโลก รวมถึงกลุ่มเศรษฐีต่างจังหวัดที่ปัจจุบันมักเดินทางมาพักโรงแรมแคมปินสกี้ เพื่อพักผ่อน ตรวจสุขภาพ เสริมความงาม และชอปปิ้งในศูนย์การค้าสยามพารากอนช่วงวันหยุด 
 
เบื้องต้นประมาณว่าจะมีผู้คนหลั่งไหลสู่ไอคอนสยามมากกว่า 2-3 แสนคนต่อวัน และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ระดับ A 
 
ณ เวลานี้ ทั้งชฎาทิพและทิพาภรณ์เร่งปลุก “ไอคอนสยาม” แจ้งเกิดสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งลึกลงไปยังหมายถึงโครงการสัญลักษณ์ที่เป็นจุดบรรจบของทุนบวกเทคนิคอย่างชัดเจนที่สุด
 
Relate Story