วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > New&Trend > สารสาสน์เอกตรา เปิดหลักสูตรรับเออีซี วอนรัฐฯ ปรับหลักเกณฑ์แก้ปัญหาขาดครูภาษา

สารสาสน์เอกตรา เปิดหลักสูตรรับเออีซี วอนรัฐฯ ปรับหลักเกณฑ์แก้ปัญหาขาดครูภาษา

โรงเรียน สารสาสน์เอกตรา เปิดโครงการนำร่อง GAC พัฒนาภาษาให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ฝึกภาษาและทักษะการค้นคว้าวิจัย ให้พร้อมเพื่อการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก

อาจารย์พิสุทธิ์ ยงค์กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา โรงเรียนเอกชนสองภาษาแห่งแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า โรงเรียนได้เปิด โครงการ GAC (Global Assessment Certificate) ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง พัฒนาภาษาให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ฝึกภาษาและทักษะการค้นคว้าวิจัย ให้พร้อมเพื่อการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ทั้งใน ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลียและเอเชีย

โครงการนี้ เป็นการรองรับเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดย ได้ดำเนินการแล้วใน
17 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เกาหลี นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ
ซึ่งเด็กที่เข้าโครงการ GAC เมื่อจบชั้นม.6 นอกจากจะสำเร็จการศึกษาชั้นม.ปลายตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จะได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตร GAC ซึ่งสามารถใช้ยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ในต่างประเทศได้ อาทิ มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ในขณะเดียวกัน เมื่อได้รับการตอบรับ นักเรียนสามารถโอนหน่วยกิต หรือได้รับการยกเว้นการเรียนบางวิชา
ที่ได้มีการเรียนมาแล้วในหลักสูตร GAC รวมถึงการเรียนคอร์สภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นข้อดีในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้ถึง 6 เดือน – 1 ปี

หลักสูตร GAC เป็นความร่วมมือกับ ACT Education Solution Ltd. ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมที่ออกแบบมาสำหรับนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 โดยเฉพาะ ซึ่งโรงเรียนสารสาสน์เอกตราได้ดำเนินการมาแล้ว 4 ปี และได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่สามารถตอบรับหลักสูตร GAC (Pathway Universities) 140 แห่งทั่วโลก เช่น Singapore Institute of Management (SIM) ในสิงคโปร์, University of Glasgow , University of Chichester, University of Portsmouthในอังกฤษ, Curtin University, Deakin University, RMIT University ในออสเตรเลีย, Webster University, University of Illinois at Springfield ในอเมริกา (ข้อมูลรายชื่อมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ http://www.actinternationalservices.com/en/aesl/pathway.html

เกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลน ครูต่างชาตินั้น อาจารย์พิสุทธิ์ กล่าวว่า ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา เวียดนาม มีการเตรียมความพร้อมเรื่องประชาคมอาเซียนเหมือนกันหมด โดยทุกประเทศมีความต้องการครูต่างชาติสูงมาก ซึ่งรวมไปถึงประเทศจีน และเกาหลี ซึ่งทุกประเทศต่างสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้าไปประกอบอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษ แต่ประเทศไทยเราเอง กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ
เรามีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการออกและต่อใบอนุญาตครูต่างชาติที่ยุ่งยาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ประชาสัมพันธ์ว่าให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปิด AEC

ในความเป็นจริงสถานการณ์ความขาดแคลนครูต่างชาติในปัจจุบันมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะเมื่อครูต่างชาติเป็นที่ต้องการของประเทศรอบๆบ้าน ครูเหล่านั้นจะเลือกไปทำงานในที่ที่ขั้นตอนและหลักเกณฑ์มีความยุ่งยากหรือซับซ้อนน้อยกว่า หากพบว่าค่าตอบแทนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วต่างกันไม่
มาก หรือในบางประเทศเช่น จีน เกาหลี ยังสามารถให้ค่าตอบแทนได้มากกว่าอีกด้วย

การมีหลักเกณฑ์เพื่อรับรองคุณภาพนั้นเป็นสิ่งดี แต่ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆประกอบด้วย ยิ่งการแข่งขันกับต่างประเทศมีมากขึ้น เราก็ควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ คุณภาพของนักเรียนและความไว้วางใจจากผู้ปกครอง ถือเป็นมาตรการในการควบคุมคุณภาพชั้นดีอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ปกครองในปัจจุบันต่าง
มีความรอบรู้ มีการศึกษาสูง การที่โรงเรียนได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ปกครอง อาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าโรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัดและกระบวนการในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอยู่แล้ว

“ ในการถ่ายทอดวิชาความรู้ บ่อยครั้งที่เราพบว่า ครูที่จบในสาขาอื่นที่ไม่ใช่วุฒิการศึกษา กลับมีความรู้ความสามารถที่จะถ่ายทอดได้ดีกว่าครูที่จบวุฒิการศึกษา เช่น บางคนที่จบวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีใจ
รักในการสอน มีความรู้ในวิชาฟิสิกส์อย่างลึกซึ้ง เคยมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการบิน ย่อมสามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนได้เป็นอย่างดี บางครั้งยังทำได้ดีกว่าครูที่จบวุฒิการศึกษามาโดยตรง
ด้วยซ้ำ เปรียบเทียบกับครูที่จบปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ตอกตะปูไม่เป็น คุยกับคนไม่รู้เรื่อง แล้วจะ
มาสอนเด็กให้เก่งได้อย่างไร” อาจารย์พิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย