วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Life > เคล็ดหย่าศึกพี่น้องทะเลาะกัน

เคล็ดหย่าศึกพี่น้องทะเลาะกัน

 
พี่น้องทะเลาะกันถือเป็นภาวะปกติ แต่ถ้าศึกสายเลือดยังดำเนินต่อไปไม่มีท่าทียุติลงได้ พ่อแม่คงต้องพึ่งตัวช่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
การมีลูกหลายคนอาจทำให้คุณรู้สึกว่าต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการห้ามศึกเกือบทั้งวันมากกว่าการทำหน้าที่พ่อแม่ คุณต้องฝึกความอดทนกับการที่ลูกๆ ทะเลาะกันไม่รู้จบว่า ใครควรได้อะไร และใครควรได้ก่อน หรือไม่ก็เสียงร้องงอแงพร้อมการตัดพ้อว่า “ไม่ยุติธรรมเลย” หรือ “แม่ (พ่อ) รักพี่ (น้อง) มากกว่าหนู” ซ้ำร้ายกว่านั้น คนเป็นพ่อแม่หัวใจแทบสลายเมื่อลูกๆ ถึงกับด่าทอใส่กัน หรือไม่ก็ลงมือตบตีชกต่อยกัน
 
คุณจะทำอย่างไรเมื่อลูกๆ ตั้งหน้าตั้งตาทะเลาะกันมากกว่ารักใคร่กลมเกลียวกัน ที่สำคัญคุณอาจเป็นสาเหตุให้การทะเลาะเบาะแว้งเลวร้ายลงโดยไม่รู้ตัว
 
ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้พ่อแม่มีแนวทางในการรับมือกับความขัดแย้งในหมู่พี่น้อง
 
เบื้องหลังความขัดแย้ง
นักจิตวิทยาเด็ก Dr.Emma Little แห่งเมลเบิร์น ออสเตรเลีย อธิบายว่า “ความอิจฉา การแข่งขัน และการต้องแบ่งปันกัน เป็นเหตุผลหลักที่อยู่เบื้องหลังการทะเลาะเบาะแว้งของพี่น้อง เด็กส่วนใหญ่ต่างรักพี่รักน้อง แต่ในเวลาเดียวกัน พวกเขาเป็นคู่แข่งอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อแย่งเวลา ความเอาใจใส่ และทรัพยากรจากพ่อแม่ ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า พี่น้องที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสถิติทะเลาะกันบ่อยครั้งถึงขนาดทุก 6–10 นาที/ครั้ง หรือประมาณวันละ 50 ครั้ง”
 
Little ยังเตือนต่อไปว่า อย่าเพิ่งด่วนคิดว่า เมื่อลูกๆ เข้าโรงเรียนแล้ว ปัญหาน่าปวดหัวจะจบลง จริงๆ แล้วปัญหาอาจฝังรากลึกเมื่อเด็กๆ โตขึ้นด้วยซ้ำ “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่เป็นวัยรุ่นอาจนำไปสู่การระเบิดอารมณ์ใส่กันง่ายกว่า เพราะพวกเขาอาจรู้สึกว่ามีภาวะแข่งขันมากขึ้น”  
 
Dr.Veronica Harris นักจิตวิทยาคลินิกแห่งซิดนีย์กล่าวว่า การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพี่น้องมักวิกฤตที่สุดขณะมีอายุระหว่าง 2–4 ขวบ และสามารถต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่น “หนุ่มสาวมักยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตน พวกเขาสามารถพัฒนามุมมองเชิงลบที่มีต่อพี่น้องในทำนอง ‘น่ารำคาญใจ’ หรือ ‘วุ่นวายยุ่งยาก’ ซึ่งนำไปสู่การแย่งชิงและตบตีชกต่อยกันได้”
 
วัยรุ่นยังมีความอ่อนไหวต่อเรื่องจุกจิกหยุมหยิมได้อย่างน่าประหลาด และเข้าใจผิดได้อย่างง่ายดาย เธอเพิ่มเติมว่า “มีความขัดแย้งมากมายมาจากคำถามทำนองว่า ‘ฉันมีคุณค่าพอไหม’ และพวกเขาพยายามให้ความมั่นใจกับตนเองด้วยการเอาตัวเข้าเปรียบเทียบกับพี่น้อง”
 
พี่น้องที่มีความเสี่ยง
ปัจจัยที่ทำให้การทะเลาะในหมู่พี่น้องเกิดบ่อยครั้งขึ้นในสายตาของ Little คือ “ยิ่งพวกเขาอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันมากเท่าไร ก็ยิ่งทะเลาะกันมากขึ้น” โดยเฉพาะเมื่ออายุห่างกันระหว่าง 1–3 ปี เป็นช่วงที่ปัญหาหนักหน่วงที่สุด
 
“ที่เป็นอย่างนี้เพราะจุดเปรียบเทียบของพวกเขาใกล้กันมากขึ้น” Harris อธิบายเพิ่มเติม “พ่อแม่มีแนวโน้มในการเลี้ยงดูพวกเขาเหมือนกัน โดยมีกรอบและความเข้มงวดคล้ายคลึงกัน ซ้ำร้ายพวกเขายังมีความสนใจในสิ่งต่างๆ ทับซ้อนกัน จึงยิ่งเพิ่มโอกาสในการเขม่นกันมากขึ้น”
 
“อย่างไรก็ตาม ฉันพบความขัดแย้งที่ค่อนข้างรุนแรงระหว่างพี่น้องต่างวัยกันด้วย โดยเฉพาะระหว่างวัยรุ่นกับก่อนวัยรุ่น พี่ที่อยู่ในวัยรุ่นอาจรู้สึกว่า น้องที่มีอายุในช่วงก่อนวัยรุ่นมีอิสระมากกว่า ใช้ชีวิตง่ายกว่า ทำให้พวกเขาต้องเข้ามากวดขันน้องๆ ให้มีระเบียบวินัย พวกเขายังรำคาญหรือขุ่นเคืองที่น้องวัยก่อนวัยรุ่นชอบจับตามองพฤติกรรมของพี่ และต้องการเข้ามีส่วนร่วมในทุกอย่างที่พวกเขาทำ”
 
พี่น้องเพศเดียวกันมักมีความขัดแย้งกัน “พี่น้องผู้หญิงหรือผู้ชายไม่เพียงรู้สึกว่าถูกเปรียบเทียบมากขึ้น แต่ยังต้องใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ห้อง เสื้อผ้า หรือของเล่น ทำให้พวกเขา (เธอ) อาจรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ส่วนตัวหรืออัตลักษณ์” Little กล่าว “ขณะที่พี่น้องต่างเพศกันอาจรู้สึกว่าถูกเปรียบเทียบกันน้อยกว่า และต่างมีความสนใจไม่เหมือนกันด้วย”
 
แต่ Harris กล่าวว่า การมีพี่น้องเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทั้งหมด “ผลการศึกษาในอดีตบ่งชี้ว่า ความสัมพันธ์ของพี่น้องเพศเดียวกัน โดยเฉพาะพี่ชายกับน้องชาย จะมีลักษณะแข่งขันกันมากกว่า แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้กลับยืนยันว่าความสัมพันธ์ของพี่น้องเพศเดียวกันทำให้เกิดความใกล้ชิด เกิดการเชื่อมโยง และมีความเป็นเพื่อนกันมากกว่า”
 
บทบาทของพ่อแม่
คำถามคือ พ่อแม่ต้องทำอย่างไรให้ลูกๆ อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข สิ่งแรกที่ต้องจำคือ ความขัดแย้งเหล่านี้กำลังสอนทักษะการดำเนินชีวิตที่สำคัญแก่ลูกๆ ของคุณ เช่น การแก้ปัญหาความขัดแย้ง “ถ้าพวกเขาหาวิธีแบ่งปันหรือประนีประนอมกันได้ เมื่อต้องเผชิญโลกกว้าง พวกเขาจะมีกลวิธีในการรับมือกับคนหรือสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้” Little สรุป 
 
แต่ปัญหาอยู่ที่ เมื่อไรจึงจะรู้ว่า การที่พี่น้องทะเลาะกันได้เปลี่ยนจากภาวะปกติที่เป็นธรรมชาติของการเติบโตมาด้วยกัน เป็นภาวะที่พ่อแม่ต้องกังวล
 
Little ชี้ว่า “เมื่อการทะเลาะเกิดขึ้นตลอดเวลา จนกลายเป็นการทำร้ายร่างกายกัน ไม่มีใครยอมลดราวาศอก และไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ ฝ่ายหนึ่งอาจรู้สึกสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง หรือสูญเสียการมองเห็นคุณค่าในตนเอง ถ้าถูกพี่หรือน้องวิพากษ์วิจารณ์และตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ตลอดเวลา”
 
การทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรงยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างร้ายแรงกว่าที่คิดมาก “ฉันเคยเห็นพี่น้องต่อสู้กันจนทำให้คนทั้งครอบครัวซวดเซ ทำให้พ่อแม่เครียดอย่างหนัก และมีปัญหาสุขภาพจิต มีพี่น้องบางคู่ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ถึงขั้นต้องตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งยืนยันความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่า พ่อแม่ต้องเข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของลูกๆ เสียตั้งแต่พวกเขายังอายุน้อย”
 
ครอบครัวเป็นปึกแผ่น
ทำอย่างไรคุณจึงช่วยให้ลูกๆ เข้ากันได้ดีขึ้น
 
ต้องเริ่มจากการไม่นำลูกๆ มาเปรียบเทียบกัน “ง่ายมากที่คุณจะตกหลุมพรางด้วยการพูดทำนองว่า ‘ทำไมหนูถึงไม่เรียบร้อยเหมือนพี่เขานะ’ หรือ ‘ทำไมลูกถึงไม่ทำตัวเหมือนพี่ชายและเชื่อฟังแม่’ เมื่อเราทำอย่างนี้ ลูกๆ จะเริ่มรู้สึกขุ่นเคืองพี่น้องของตน และหงุดหงิดใส่ทันที” Little ยกตัวอย่าง
 
เธอยังเน้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปฏิบัติต่อลูกๆ อย่างเท่าเทียมกันตามวัย “ควรเลี้ยงดูลูกๆ ที่มีอายุต่างกันตามความต้องการและความจำเป็นที่ต่างกัน เช่น พฤติกรรม เวลาเข้านอน สิ่งที่อนุญาตให้ทำ พวกเขาควรมีความเป็นส่วนตัวที่พี่น้องคนอื่นเข้าไม่ถึง”
 
Harris ให้ข้อคิดอีกอย่างหนึ่งว่า อย่ามองข้ามปัจจัยภายนอกในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งต่อสู้กับพี่น้องของตนรุนแรงเกินกว่าเหตุ “พวกเขาอาจมีปัญหาที่โรงเรียน อาจไม่มีเพื่อนสนิท อาจถูกรังแก หรือผลการเรียนไม่ดี ซึ่งล้วนเป็นความเครียดที่ทำให้พวกเขาต้องเก็บมาระบายออกที่บ้าน”
 
ท้ายที่สุด Harris สรุปว่า สภาพแวดล้อมในครอบครัวที่เป็นเชิงบวก สงบสุข และเป็นปึกแผ่น สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก “จำเป็นที่เด็กๆ ต้องรู้สึกว่า พวกเขามีคุณค่าและเป็นที่รัก การที่คุณให้ความอบอุ่นกับลูกๆ ทุกคนโดยไม่ลำเอียง จะทำให้พวกเขาเข้ากันได้ดีขึ้น”
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth  
Column: Well–Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว