วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > แต่งงานกันไหม?

แต่งงานกันไหม?

 
ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุผลของการแต่งงานหรือไม่แต่งงานของแต่ละท่าน คงเป็นไปอย่างหลากหลาย และมีมิติของความรู้สึกที่มากมาย ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่แต่ละท่านจะเลือกหยิบนำมาอธิบาย
 
แต่สำหรับในญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญและโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ความกลัวและรู้สึกเปลี่ยวเหงาได้ก่อให้เกิดทัศนะใหม่ๆ ว่าด้วยการแต่งงานที่น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ
 
ท่านผู้อ่านลองนึกและจินตนาการถึงภาพของผู้คนมากมาย ที่ต้องสัญจรด้วยเท้าเป็นเวลานานนับ 10 ชั่วโมงเพื่อกลับบ้านหลังจากที่ระบบขนส่งมวลชนล่มสลาย เพราะแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ซึ่งแม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย หากว่าแต่ละคนกลับรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างจับใจดูซิคะ
 
ความรู้สึกที่ว่าทุกคนพร้อมที่จะตายลงไปโดยไม่มีใครห่วงหาอาทร สั่นคลอนห้วงอารมณ์ของผู้คนจำนวนมาก และทำให้หลายคนคิดถึงการแต่งงานในฐานะที่อย่างน้อยก็จะได้มีใครสักคนมาร่วมแบ่งปัน ให้ได้ร่วมรับรู้ความรู้สึกและความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
 
แต่เรื่องการแต่งงานนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ แต่ครั้นจะลองเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับใครสักคนก็คงใช้เวลาพอสมควรเลยเหมือนกัน
 
นี่จึงกลายเป็นที่มาของธุรกิจ “จัดการจับคู่แต่งงาน” (arranged marriages) ที่กำลังกลับมาได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอีกครั้งในขณะนี้
 
จริงๆ แล้ว วิถีปฏิบัติว่าด้วย  arranged marriages ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม male dominant แบบญี่ปุ่นนะคะ เพราะก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 วิถีปฏิบัติเช่นว่านี้นับว่าเป็นเรื่องปกติสามัญ 
 
ก่อนที่ในยุคหลังสงครามวิถีดังกล่าวจะลดระดับความนิยมลงไปเป็นระยะจากผลของค่านิยมแบบตะวันตกและความเป็นอิสระที่เพิ่มมากขึ้นของเพศหญิงทำให้ในทศวรรษ 1990  arranged marriages มีสัดส่วนเหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 30 และกลายเป็นสิ่งพ้นสมัยในเวลาต่อมา
 
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดวิถีใหม่ที่เรียกว่า โกคง (gokon) หรือการนัดบอดแบบหมู่คณะขึ้นมาเป็นช่องทางในการสานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ โดยฝ่ายหญิงและฝ่ายชายอย่างน้อยฝ่ายละคนอาจรู้จักกันมาก่อน นัดหมายที่จะพาเพื่อนหญิง-ชายของแต่ละฝ่ายในจำนวนที่เท่ากันเพื่อให้ครบคู่มาพบกัน เพื่อแลกเปลี่ยนบทสนทนา ซึ่งอาจนำไปสู่การสานสัมพันธ์ระหว่างคู่ที่จูนคลื่นตรงกันในอนาคต
 
ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ โกคง หรือการนัดหมายกันอย่างที่ว่านี้ ก็คือ ทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นท่ามกลางผลพวงของความเป็นสมัยใหม่และวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ ที่มีความเป็นปัจเจกแยกส่วนออกจากการรับรู้ของสมาชิกในครอบครัว
 
แต่พลานุภาพของความรู้สึกเปลี่ยวเหงาและโดดเดี่ยวในห้วงปัจจุบัน ได้ส่งให้ผู้คนในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยหันกลับไปมองหาร่องรอยของวิถีในอดีต ด้วยหวังว่าคุณค่าบางประการที่ปรากฏอยู่ในแบบพิธีเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขายึดโยงเข้ากับชุมชนและสังคมได้มากขึ้น
 
ขณะเดียวกันก็ช่วยผลักให้ธุรกิจการจัดการจับคู่แต่งงาน มีอนาคตใหม่อีกครั้ง และในครั้งนี้ได้ส่งอานิสงส์ ไปสู่ธุรกิจแวดล้อมอื่นๆ ไล่เรียงไปตั้งแต่ธุรกิจเสื้อผ้าหน้าผม ไปจนถึงธุรกิจห้องถ่ายภาพ เพราะแต่ละฝ่ายต่างต้องการแสดงภาพลักษณ์ที่ดูดีมีสไตล์ ไม่ว่าจะอยู่ในชุด kimonoชุดทำงานหรือแม้กระทั่งในชุดลำลอง เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้เกิดขึ้นเสียก่อน และท้ายที่สุดยังมีธุรกิจจัดเลี้ยงรอคอยท่าอยู่ที่ปลายทางของกิจกรรมนี้ด้วย
 
อย่างที่ทราบกัน สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับขั้นตอนและกระบวนการ เมื่อผ่านการพิจารณา แฟ้มบุคคล (portfolio) ที่อยู่ในข่ายน่าสนใจและได้ส่งผ่านแฟ้มเหล่านี้ไปขอความเห็นจากบรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนพ้อง หรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านแล้ว ก็ได้เวลานัดหมายมาดูตัวจริงกันนะคะ
 
การนัดหมายพบกันครั้งแรกนี้ ไม่ได้มีสิ่งใดมากไปกว่าการแนะนำตัวและพูดคุยเล็กน้อยตามมารยาท โดยแต่ละฝ่ายต่างมีญาติผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคุณแม่มาช่วยประคองเป็นพี่เลี้ยง ก่อนที่แต่ละฝ่ายจะกลับไปสรุปความคิดเห็นว่าคู่นัดหมายคู่นี้จะพอไปกันได้ในฐานะคู่สมรสหรือไม่ เพื่อที่พนักงานบริการจัดการจับคู่จะได้เข้ามามีบทบาทต่อไป
 
การจัดการจับคู่แต่งงานในลักษณะเช่นนี้ อาจได้รับการเหยียดหยามจากสังคมตะวันตก แต่สำหรับผู้ให้บริการจัดการหาคู่แต่งงานในญี่ปุ่น พวกเขาเชื่อว่า ด้วยวิธีการเช่นว่านี้จะทำให้อัตราการหย่าร้างในสังคมญี่ปุ่นลดลง เหตุผลของพวกเขาก็น่าคิดอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะเขาบอกว่า ทุกคนที่จะกำลังเดินเข้าสู่พิธีวิวาห์ด้วยวิธีแบบนี้ พวกเขาต่างเห็นคู่สมรสของพวกเขาอย่างเต็มตา ไม่ได้ถูกมายาคติของความรักเข้าครอบงำให้ต้องหรี่ตาข้างหนึ่ง เหมือนคู่สมรสรายอื่นๆ
 
การกลับมาของธุรกิจจัดการจับคู่แต่งงานในครั้งนี้ จึงไม่เพียงเป็นเรื่องราวในมิติของสังคมจิตวิทยา ที่ตอบรับกับอาการโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาหลังจากที่ต้องเผชิญภัยพิบัติเท่านั้น หากในอีกมิติหนึ่งยังส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
 
ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้โครงสร้างด้านอายุประชากรที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) การแต่งงานที่เพิ่มมากขึ้นอาจช่วยลดทอนความกังวลใจ เกี่ยวกับคำถามว่าด้วยจำนวนประชากรในวัยทำงานที่ถดถอยลงเป็นลำดับในอนาคตได้บ้าง
 
ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจจัดการจับคู่แต่งงาน รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมนี้จะสามารถสร้างให้เกิดผลิตผล หรือมี productivity มากน้อยอย่างไรค่ะ