วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > On Globalization > การละเลยของมืออาชีพ

การละเลยของมืออาชีพ

 
เห็นภาพข่าวที่น่าเศร้าสลดของเรือเฟอรรี่ “เซวอล” รวมถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ควบคู่กับข่าวแผ่นดินไหวที่เมืองไทยครั้งล่าสุดแล้ว ทำให้รู้สึกว่าพิบัติภัยจากธรรมชาติจะไม่ใช่ภัยคุกคามที่น่าสะพรึงกลัวอย่างเดียวของมนุษยชาติแล้วล่ะค่ะ
 
หากยังมีภัยจากน้ำมือของมนุษย์นี่ล่ะ ที่กำลังคุกคามสวัสดิภาพของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างกว้างขวางและเพิ่มระดับความรุนแรงไปตามขีดขั้นของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีไม่น้อยด้วยเช่นกัน
 
ต้นเหตุของภัยร้ายที่ว่านี้ ในด้านหนึ่งเป็นผลมาจากความประมาทหรือหากกล่าวให้ถึงที่สุดเป็นการละเลยที่จะดำเนินการตามมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า โปรเฟสชั่นนอล เนคลิเจนซ์ (professional negligence) ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วถือเป็นเรื่องที่พร้อมจะนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย รุนแรง และเลวร้ายอย่างยิ่ง
 
ตรรกะวิธีและหลักคิดว่าด้วยการกระทำผิดโทษฐาน “การละเลยของความเป็นมืออาชีพ” มาจากพื้นฐานที่ว่าบุคคลบางสาขาอาชีพย่อมต้องเป็นผู้มีทักษะและ/หรือได้รับการฝึกฝนให้มีความชำนาญอย่างยิ่งยวดเหนือกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของสาธารณชนทั่วไป ซึ่งย่อมหมายถึงคุณภาพและมาตรฐานที่สูงกว่าระดับปกติที่พึงจะเป็น รวมถึงความคาดหวังทางสังคมที่ว่าบุคคลกลุ่มนี้จะสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
 
ความล้มเหลวใดๆ ที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการตรวจสอบหรือแจ้งเตือนเหตุไม่พึงประสงค์ ที่นำไปสู่ความเสียหายต่อประโยชน์ของผู้รับบริการ จึงนำไปสู่การเรียกร้องค่าเสียหายได้อย่างไม่ยากเลย
 
ก่อนหน้านี้ กรณีว่าด้วยการละเลยของมืออาชีพอาจจะพบเห็นได้บ่อยในกรณีของผู้ประกอบอาชีพในด้านการให้บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล เพราะเกี่ยวเนื่องกับความเป็น-ความตายของคนไข้โดยตรง แต่ในปัจจุบันการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวขยายไปสู่ผู้ประกอบการในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นนักกฏหมาย หรือแม้กระทั่งผู้รับเหมาก่อสร้าง หากบุคคลเหล่านี้เพิกเฉยหรือละเลยต่อประโยชน์ของลูกค้าและผู้รับบริการ รวมถึงสาธารณชนตามแต่กรณี
 
ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่าภายใต้กฎหมายส่วนใหญ่ ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมถูกกำกับจากข้อกำหนดว่าด้วย หน้าที่ในการเอาใจใส่ดูแลต่อผลประโยชน์ของสาธารณชนผู้จ้างวาน เพราะสาธารณชนเหล่านี้ย่อมต้องพึ่งพาทักษะและความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ รวมถึงการแจ้งเตือนและป้องกันความเสียหายอย่างมีเหตุผลจากผู้ประกอบวิชาชีพด้วย
 
ท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินหรือพบเห็นข่าวโศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุเครื่องเล่นในสวนสนุกขัดข้อง หรือแม้กระทั่งเด็กติดหรือตกจากบันไดเลื่อนในศูนย์การค้ามาบ้างแล้ว กรณีเหล่านี้ในบางประเทศมีการฟ้องร้องข้อหาการละเลยของมืออาชีพกันอย่างเอิกเกริกและนำไปสู่การออกกฎข้อบังคับให้กับผู้ประกอบการเลยนะคะ ซึ่งในญี่ปุ่นก็เคยมีกรณีเช่นว่านี้ไม่น้อยเหมือนกัน
 
กรณีที่น่าสนใจกรณีหนึ่งที่ทำให้มีการหยิบยก “การละเลยของมืออาชีพ” มาพิจารณาอย่างกว้างขวางในสังคมญี่ปุ่น คงหนีไม่พ้นเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2547 ในรอปปองงิ ฮิลล์ (Roppongi Hills) ซึ่งขณะนั้นนับเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของกรุงโตเกียว และกำลังจะฉลองวาระครบรอบขวบปีแรกของการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนนับล้านๆ คนจากทั่วทุกสารทิศได้เข้ามาสัมผัสความแปลกใหม่
 
แต่แล้วงานฉลองก็กลับกลายเป็นความเศร้า เมื่อเด็กชายวัย 6 ขวบจากโอซากา ถูกประตูกระจกหมุน หรือที่เรียกกันว่า รีวอลวิ่งดอร์ (revolving door) ซึ่งได้รับการโปรโมตว่าเป็นการออกแบบประตูทางเข้าออกที่ประหยัดพลังงาน และถูกนำมาติดตั้งในอาคารสมัยใหม่ของญี่ปุ่นหลายแห่งรวมทั้งที่ รอปปองงิ ฮิลส์ (Roppongi Hills) หนีบและบดทับศีรษะจนเสียชีวิต เพียงเพราะอุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อระงับกลไกการทำงานของประตูหมุน ถูกติดตั้งสูงเกินไปทำให้ไม่สามารถตรวจจับและให้ความปลอดภัยแก่เด็กน้อยคนนี้ได้
 
เหตุดังกล่าวนอกจากจะทำให้เจ้าของโครงการรอปปองงิ ฮิลส์ ต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ครอบครัวของเด็กน้อยรายนี้มากถึง 70 ล้านเยนแล้ว ประตูหมุนทั่วกรุงโตเกียวก็ถูกสั่งให้ระงับการใช้งานชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย 
 
ขณะที่ประตูหมุนของรอปปองงิ ฮิลส์ ถูกถอดออกและแทนที่ด้วยประตูบานเลื่อนอัตโนมัติไปโดยปริยาย พร้อมกับการที่ผู้บริหารของรอปปองงิ ฮิลส์ และบริษัทผู้ผลิตประตูหมุน ถูกสอบสวนและตัดสินว่ามีความผิดจริงตามฐานความผิดว่าด้วย “การละเลยของความเป็นมืออาชีพ” อีกด้วย
 
อย่างไรก็ดี โศกนาฏกรรมที่ว่านี้ คงสร้างความสูญเสียไม่เท่ากับเหตุที่กำลังเป็นไปภายหลังเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มใส่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือเขตโตโฮกุของญี่ปุ่น ที่อาจต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการเยียวยา และฟื้นฟูบูรณะให้กลับมาสู่ภาวะปกติดังเดิม
 
ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาเกี่ยวกับการดำเนินงานของโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ คัมปานี หรือเทปโก้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่ร้ายแรงจากการละเลยของความเป็นมืออาชีพ และทำให้ประเด็นว่าด้วยการละเลยของมืออาชีพถูกหยิบยกขึ้นมาถกแถลงอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน
 
จริงอยู่ที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีทักษะสูงล้นสักปานใด หรือเป็นผู้มีสติมากแค่ไหน ก็อาจกระทำหรือดำเนินการผิดพลาดได้ มิพักต้องกล่าวถึงกรณีที่เป็นผลมาจากอุบัติเหตุ หรือเภทภัยที่ไม่คาดฝัน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิชิ ก็อาจได้รับการประเมินว่าเป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรง ที่เกินเลยไปจากมาตรการป้องกันภัยที่มีอยู่อย่างมาก 
 
แต่เทปโก้ก็คงไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศที่อยู่ตามแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกอย่างญี่ปุ่นนั้น ความเป็นมืออาชีพในการบริหารและจัดการกับความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งในข้อเท็จจริงของชีวิตที่ เทปโก้ต้องตระหนักและระแวดระวังเอาใจใส่อย่างเคร่งครัด
 
ปัญหาสำคัญของสังคมญี่ปุ่นในห้วงเวลาถัดมาก็คือจะจัดการกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่มากกว่า 50 แห่งอย่างไรต่อไป เพราะคงไม่สามารถถอดออกไปง่ายๆ แบบประตูหมุนหรือรีวอลวิ่งดอร์เป็นแน่
 
แล้วสังคมไทยล่ะคะ ประเมินเรื่องการ “ละเลยของมืออาชีพ” นี้อย่างไร หรือจะต้องผลิตซ้ำภัยพิบัติให้ต้องโศกเศร้าเสียใจ เสียดายในความสูญเสียกันเสียก่อน