ต้นกำเนิดของ “บุญรอด บริวเวอรี่” และ “สิงห์” กลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อปรากฏข้อความในโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับจิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี หรือ “กฤดากร” ในปัจจุบัน ควบคู่กับความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจทั้งสำหรับคนในตระกูลภิรมย์ภักดี และผู้สังเกตการณ์ข้างเวทีอีกจำนวนไม่น้อย
หากย้อนกลับไป ตำนานกว่า 80 ปี ของ บุญรอด บริวเวอรี่ เริ่มขึ้นเมื่อ พระยาภิรมย์ภักดี หรือ บุญรอด เศรษฐบุตร บุตรของพระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับนางมา เศรษฐบุตร ก่อตั้งบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ขึ้นในปีพุทธศักราช 2476 เป็นโรงเบียร์แห่งแรกในประเทศไทย บนเนื้อที่ 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือสามเสน ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 6 แสนบาท และเป็นผู้ให้กำเนิดเบียร์สิงห์
พระยาภิรมย์ภักดีมีภรรยาคนแรกชื่อคุณหญิงละม้ายมีบุตรฝาแฝดคู่หนึ่งและบุตรอีกคนหนึ่งแต่บุตรทั้ง 3 ได้เสียชีวิตลงทั้งหมดตั้งแต่ยังเยาว์
เมื่อไม่มีบุตร พระยาภิรมย์ภักดีจึงได้รับบุตรของพระประเวศนวขันธ์ (ปลื้ม เศรษฐบุตร) ซึ่งเป็นน้องชาย มาเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ วิทย์ ภิรมย์ภักดี ต่อมาพระยาภิรมย์ภักดีมีบุตรกับนางกิม ภรรยาอีกท่านหนึ่ง ตั้งชื่อบุตรคนโตนี้ว่า ประจวบ ภิรมย์ภักดี (2 มกราคม พ.ศ. 2455) และมีบุตรกับภรรยาที่ชื่อจิ้มลิ้มอีกคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ประจง ภิรมย์ภักดี (29 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2471) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ในปัจจุบัน
ภายหลังจากที่พระยาภิรมย์ภักดี เสียชีวิตลงจึงเป็นช่วงเวลาของภิรมย์ภักดี รุ่นที่ 2 โดย ประจวบ ภิรมย์ภักดี ซึ่งจบการศึกษาทางด้านผลิตเบียร์มาจากประเทศเยอรมนี และได้ชื่อว่าเป็นบริวมาสเตอร์คนแรกของเมืองไทย ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท มีวิทย์ ภิรมย์ภักดี เป็นรองประธานรับผิดชอบด้านการตลาด และจำนงค์ ภิรมย์ภักดี เป็นกรรมการบริษัทฯ รับผิดชอบด้านบัญชี
“ประจวบ ภิรมย์ภักดี” เป็นทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจของบิดาในฐานะบุตรชายคนโต ทำให้เขามีบทบาททางธุรกิจมากกว่าผู้เป็นน้องอย่าง “วิทย์” และ “จำนงค์” ซึ่งรุ่นนี้ต้องถือว่าเป็นยุคแห่งความมั่นคง และรุ่งเรืองยุคหนึ่งของ “บุญรอด บริวเวอรี่”
“สิงห์” และ “บุญรอด บริวเวอรี่” เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมาสู่รุ่นที่ 3 ในยุคของ “ปิยะ ภิรมย์ภักดี” และ “สันติ ภิรมย์ภักดี” บุตรชาย 2 ในจำนวนบุตร 5 คนของ “ประจวบ” ซึ่งยุคนี้เป็นยุคที่ใคร ๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่า จะเป็นยุคทองของคน “ภิรมย์ภักดี” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่าเป็นยุคที่ถือว่าสาหัสสุดสุด ของลูกหลานสิงห์รุ่นที่ 3 เพราะด้วยภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดเบียร์เมืองไทย และการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้บุญรอดต้องกู้ศักดิ์ศรี และรักษาความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเบียร์เอาไว้ต่อไปให้ได้
เมื่อประจวบ ภิรมย์ภักดี ยุติบทบาทลงในปี 2536 ทายาทรุ่นที่ 3 คือ ปิยะ ภิรมย์ภักดี บุตรชายคนโตของประจวบ ซึ่งจบการศึกษาทางด้านการผลิตเบียร์จากสถาบันเดียวกันกับบิดา และได้ชื่อว่าเป็นบริวมาสเตอร์ คนที่ 2 ของเมืองไทยก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทฯ ดูแลรับผิดชอบด้านการผลิต ส่วนสันติ ภิรมย์ภักดี น้องชายดูแลด้านการตลาดการขายและโฆษณา ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดขายและโฆษณา
ทั้ง “ปิยะ” และ “สันติ” ต้องทำงานหนักมากกว่ายุคบุกเบิกในรุ่นปู่ หรือในช่วงของการขยายอาณาจักรในช่วงที่บิดาของเขาเป็นผู้ดูแลกิจการ เมื่อ “ปิยะ” ซึ่งปัจจุบันยังมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท ขอถอนตัวออกไปลุยกับธุรกิจส่วนตัวด้วยการเป็นผู้ผลิตไวน์ในชื่อ ของ เขาใหญ่ ไวน์เนอรี่ จึงเป็นยุคของ “สันติ” ใน “ภิรมย์ภักดี” รุ่น 3/2 บริหารต่อมา
สันติ ภิรมย์ภักดี เกิดวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2489 จากที่ได้ทำร่วมงานอยู่ร่วมกับวิทย์และปิยะ โดยดูแลงานด้านเอเย่นต์มาก่อนหน้แล้ว สันติ ภิรมย์ภักดี ได้สร้างแผนกการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ขึ้นใหม่ รวมถึงการร่วมกับฝ่ายโรงงานสร้างโรงเบียร์ที่จังหวัดนครปฐม
สันติ ภิรมย์ภักดี สมรสกับอรุณี และมีบุตรทั้งสิ้น 3 คน ประกอบด้วยสันต์ ภิรมย์ภักดี, ปิติ ภิรมย์ภักดี และบุตรสาวคนเล็ก ปรีดิ์รติ ภิรมย์ภักดี
ด้านฝั่งฟากของวิทย์ ภิรมย์ภักดี มีบุตรชาย 2 คน คือ วุฒา ภิรมย์ภักดี รับผิดชอบดูแลด้านโรงงานและเครื่องจักร กับวาปี ภิรมย์ภักดี รับผิดชอบดูแลเรื่องการขายต่างประเทศ โดยปัจจุบัน ทั้งวุฒา และวาปี มีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัททั้งคู่
วุฒา ภิรมย์ภักดี จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย HTL BONHE เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อมาดูแลเครื่องจักรของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และสร้างโรงเบียร์อยู่ที่จังหวัด ขอนแก่น ร่วมกับ ปิยะ ภิรมย์ภักดี
วุฒา ภิรมย์ภักดี สมรสกับคุณหญิงอรนุช ภิรมย์ภักดี (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีบุตรทั้งสิ้น 4 คนประกอบด้วย วุฒินันท์ ภิรมย์ภักดี, วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี, บุตรสาวชื่อ ณัฐวรรณ ภิรมย์ภักดี (ณัฐวรรณ ทีปสุวรรณ) และบุตรชายคนเล็กธนะวุฒิ ภิรมย์ภักดี
สำหรับวาปี ภิรมย์ภักดี สมรสกับ ท่านผู้หญิงเหมือนจิต ประวิตร (ท่านผู้หญิงเหมือนจิต ภิรมย์ภักดี) มีบุตรชื่อ พลิศร์ ภิรมย์ภักดี, สรวิช ภิรมย์ภักดี บุตรสาวชื่อ ปิย์จิต ภิรมย์ภักดี (โอสถานนท์) และบุตรชายคนเล็ก ปวิณ ภิรมย์ภักดี
โดยวิทย์ ภิรมย์ภักดี มีบุตรสาวคนสำคัญคือท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ อดีตนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ได้ชื่อว่าซื่อสัตย์จง รักภักดี และรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความไว้วางพระราชหฤทัยจนตลอดชีวิต
ที่น่าสนใจมากก็คือ โรจน์ฤทธิ์ เทพาคำ ซึ่งเป็นหลานชายรุ่นเหลนของพระยาภิรมย์ภักดี สมรสกับหม่อมราชวงศ์ (หญิง) อรอนงค์ ดิศกุล ธิดาของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โดยปัจจุบันโรจน์ฤทธิ์ เทพาคำ มีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเป็นเพียงหนึ่งเดียวในคณะกรรมการบริหารบริษัท ที่ไม่ได้มีนามสกุล “ภิรมย์ภักดี” แต่ย่อมไม่ใช่คนนอกของตระกูลแต่อย่างใด
สำหรับ จำนงค์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท สมรสกับคุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี มีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี และบุตรสาว คือ จีรานุช ภิรมย์ภักดี โดยปัจจุบัน จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี มีตำแหน่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบดูแลด้านบัญชี
จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี เกิดวันที่ 9เมษายน พ.ศ. 2500 สมรสกับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี (กฤดากร) ซึ่งรับบทเป็น “พระศรีสุริโยทัย” ในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล มีบุตร3คน ประกอบด้วยบุตรสาวคนโต จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี, บุตรสาวคนที่ 2 นันทญา ภิรมย์ภักดี และบุตรชายคนเล็ก ชื่อ ณัยณพ ภิรมย์ภักดี
เมื่อสันติ ภิรมย์ภักดี ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) หลังการถ่ายโอนอำนาจจากปิยะ และได้รับมอบหมายจากครอบครัวให้นำพา บุญรอดฯ ฝ่าวิกฤต ก็มีญาติผู้น้องที่ชื่อ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” บุตรชายของ “จำนงค์” ถูกดึงเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ มาช่วยดูแลงาน โดยมีภารกิจหลักอยู่ที่เรื่องของการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ และผลักดันแบรนด์ “สิงห์” ให้ก้าวขึ้นสู่ Global Brand ได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย
ปัจจุบัน ภิรมย์ภักดี รุ่นที่ 4 ซึ่งประกอบด้วย สองหนุ่มพี่น้อง “สันต์” และ “ปิติ” บุตรชายของ “สันติ” เข้ามารับช่วงต่องานสำคัญ ตั้งแต่ในยุคที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังคลี่คลายประมาณปี 2545 เป็นช่วงที่องค์กรของสิงห์กำลังเข้าสู่ช่วงของการปรับเปลี่ยนโครงการทางธุรกิจ
สันต์ ภิรมย์ภักดี ทายาทคนโตของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Non-Alcohol และผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Business Innovation Centerที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง BIC ขึ้นมา เป็นหน่วยงานใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในบุญรอด มีหน้าที่หลักกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
“สันต์” ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของ “บุญรอด” เพื่อให้รู้เท่าทันถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาในอนาคต และเขาเป็นทายาทคนที่ 3 ต่อจาก “ประจวบ” และ “ปิยะ” ที่มีโอกาสไปร่ำเรียนวิชาปรุงเบียร์ หรือMaster in Brewery Management กันถึง World Brewing Academy ประเทศเยอรมนี เพราะเขาชอบเบียร์จึงใฝ่รู้ในเรื่องของเบียร์ แม้ว่างานหลักที่ต้องดูแลในวันนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเบียร์เลยก็ตาม
ส่วนปิติ ภิรมย์ภักดี เป็นหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้นำพา “สิงห์” ไปในอนาคต หลังจากที่ผู้เป็นบิดาอย่าง “สันติ” เคยเอ่ยปากทีเล่นทีจริงว่าอยากให้ชายหนุ่มผู้นี้ มาเป็น Ambassador คนต่อไปให้กับ “สิงห์” และมีตำแหน่งเป็นกรรมการ ดูแลงานด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับผลิตภัณฑ์ในเครือบุญรอดฯ และมีทีท่าว่าจะไปได้สวยกับหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของบุญรอด เทรดดิ้ง
ในจำนวนวงศ์วานว่านเครือของรุ่นที่ 4 “พลิศร์ ภิรมย์ภักดี” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทายาท “ภิรมย์ภักดี” ที่มีบทบาทสำคัญกับงานบริหารในระดับแถวหน้ากับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่ง “พลิศร์” เป็น “ภิรมย์ภักดี” รุ่นหลานในสายของ“วิทย์”
ปัจจุบันพลิศร์รับผิดชอบเรื่องการบรรลุเป้าหมายการขาย พัฒนาระบบจัดจำหน่าย และระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการสนับสนุนการขายให้กับเหล่าตัวแทนจำหน่ายในแต่ละระดับ เขามองว่าหัวใจหลักของธุรกิจเครื่องดื่ม ก็คือ ระบบการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ
การเติบโตของกลุ่มบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด (มหาชน) ในห้วงเวลานี้ ซึ่งมีโรงงาน 7 โรงตั้งอยู่ทั่วประเทศมีกำลังผลิตเบียร์ โซดา และน้ำดื่มจำนวนรวมหาศาลหลายล้านลิตร มีบริษัทในเครือกว่า 20 บริษัทโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มบริษัทใหญ่ คือ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มร้านอาหาร มีหน้าสัมผัสกับสาธารณชนอย่างกว้างขวางย่อมไม่สามารถปฏิเสธผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะโดยเชิงบวกหรือเชิงลบ
แต่การเปลี่ยนนามสกุลของ จิตภัสร์ กฤดากร จะช่วยลดทอนผลกระทบที่ว่านี้หรือเพิ่มแรงกระเพื่อมต่อ “ภิรมย์ภักดี” อย่างไรหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องติดตาม