“ธุรกิจอื่นอาจล้มได้ แต่ธุรกิจนี้ล้มไม่ได้ นับตั้งแต่ปีหน้า เราจะกลับมารุกในธุรกิจแรกเริ่มของกลุ่มสามารถที่คุณพ่อก่อตั้งไว้ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง”
คำกล่าวของ วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART หลังเสร็จสิ้นงานแถลงผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2556 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. พร้อมกับใช้โอกาสนี้แถลงข่าวเปิดจำหน่ายเสาอากาศและกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี (Set Top Box) อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีขึ้นในวันถัดไป
“ธุรกิจดั้งเดิมของ SAMART ที่ทำมาเกือบ 60 ปี คือธุรกิจเสาอากาศและจานดาวเทียม แม้ว่ากว่าช่วง 5 ปีมานี้ ธุรกิจจานดาวเทียมของเราอาจจะไม่ได้เป็นพระเอกเหมือนตอนแรก แต่เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนเทคโนโลยีมาสู่ทีวีดิจิตอล ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเสาอากาศที่ SAMART มีชื่อเสียงกลับมา นี่ก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่เราจะกลับมาให้ความสำคัญกับธุรกิจบรรพบุรุษอย่างจริงจังอีกครั้ง”
อาณาจักรของกลุ่ม SAMART วันนี้ มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจร้านให้บริการซ่อมนาฬิกา วิทยุ และติดตั้งเสาอากาศวิทยุ โทรทัศน์ ที่จังหวัดสระบุรี ก่อนจะขยายกิจการไปสร้างโรงงานผลิตเสาอากาศโทรทัศน์ ในปี 2509 โดยเชิดชัย วิไลลักษณ์ ผู้เป็นบิดาของวัฒน์ชัย
ผ่านมานานถึง 58 ปี วัฒน์ชัยเชื่อว่า ในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า โทรทัศน์ระบบอนาล็อกจะถูกเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบทีวีดิจิตอลทั้งหมด โดยช่วง 3-4 ปีจากนี้ น่าจะมีครัวเรือนไทยไม่ต่ำกว่า 22 ล้านเรือน ที่เปลี่ยนมาสู่ระบบดิจิตอลทีวี ขณะที่ค่าเฉลี่ยเครื่องรับสัญญาณต่อครัวเรือนอยู่ที่ 1.8-2 เครื่อง หากราคาขั้นต่ำต่อเครื่องอยู่ที่ 1 พันบาท ดังนั้น ตลาดเครื่องรับสัญญาณสำหรับทีวีดิจิตอลในอนาคตอันใกล้น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว
ด้วยเล็งเห็นมูลค่าตลาดที่มีขนาดใหญ่ บวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของบริษัท กลุ่ม SAMART ในนามของบริษัท สามารถวิศวกรรม จึงได้ซุ่มวิจัยพัฒนาเสาอากาศและเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลมานานหลายปี ก่อนการประกาศตัวเข้ามารุกตลาดและเปิดจำหน่ายเซตกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีเป็นรายแรกของเมืองไทย
“ตอนนี้โรงงานทำเสาอากาศในเมืองไทย เหลือสามารถวิศวกรรมของเรากับสากลแอนเทนน่าที่เกิดมาพร้อมกัน นอกนั้นล้มหายตายจากไป บ้างก็ไปทำจานดาวเทียมหมด มาถึงวันนี้ เราพร้อมขายก่อนคนอื่น ฉะนั้นธุรกิจนี้จึงเป็นโอกาสครั้งใหม่ของเรา” วัฒน์ชัยกล่าว พร้อมระบุเป้ายอดขายจนถึงเดือนมกราคม 2557 น่าจะไม่ต่ำกว่า 2 แสนกล่อง
ไม่เพียงการผลิตอุปกรณ์สำหรับทีวีดิจิตอล กลุ่ม SAMART ยังมีความหวังใหม่ในธุรกิจด้านคอนเทนต์ (Content) ของกลุ่ม ด้วยการเข้าร่วมประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอลสำหรับผลิตรายการข่าวกีฬา ในนามของบริษัท i-Sport ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ “สยามสปอร์ต ซินดิเคท” พันธมิตรผู้ผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับกีฬาป้อนให้กับ i-Mobile มายาวนาน
นอกจากธุรกิจเสาอากาศที่จะกลับมาเป็น “ดาวรุ่ง” ให้กับเครือในปี 2557 อีกธุรกิจที่วัฒน์ชัยมองว่าน่าจะสร้างรายได้และกำไรก้อนโตให้กับกลุ่มในปีหน้า คือ ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ (i-Mobile) ของ บมจ.สามารถไอ-โมบาย หรือ SIM จากผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ SIM มีกำไรสูงกว่า 530% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไร 9 เดือนสูงกว่ากำไรตลอดปี 2555 และโตกว่า 760% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่รายได้ของไตรมาส 3 ปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 1 พันล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ จะมีรายได้ทะลุหมื่นล้านบาท ขณะที่ปีก่อนจบเพียงแค่กว่า 7 พันล้านบาทเท่านั้น
“ผลประกอบการปีนี้ถือว่าเป็นปีที่กำไรเยอะที่สุดตั้งแต่ i-Mobile ถือกำเนิดมา จากช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่ค่อนข้างเหนื่อยมากกับการแข่งขันในตลาดมือถือที่รุนแรง แต่หลังจากที่เราได้วางกลยุทธ์ใหม่ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยหันมาเน้นสมาร์ทโฟนมากขึ้น ก็เห็นผลชัดว่า กำไรและยอดขายเพิ่มขึ้นมากมาย”
จนถึงสิ้นปี วัฒน์ชัยคาดว่าจะมียอดขาย i-Mobile ราว 3.6 ล้านเครื่อง จากปีก่อนที่จำหน่ายได้ราว 4.08 ล้านเครื่อง แม้จะมีจำนวนเครื่องน้อยกว่า แต่ด้วยราคาเฉลี่ยต่อเครื่องที่สูงขึ้นจาก 2 พันต้นๆ มาอยู่ที่ 2,889 บาท ก็น่าจะทำให้ยอดขายและกำไรในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ อาทิตย์สุดท้ายของเดือนนี้ i-Mobile ยังมีกำหนดเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นที่เป็นไฮไลต์อีก 2-3 รุ่น โดย 1 ในนั้นจะมีรุ่นที่ราคาสูงกว่า 1 หมื่นบาท เป็นครั้งแรกของ i-Mobile
ขณะที่ธุรกิจ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือธุรกิจผู้ให้บริการเลขหมายมือถือที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง ก็นับเป็นอีกธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากสำหรับกลุ่ม SAMART
โดย SAMART ถือเป็นผู้ให้บริการ MVNO รายใหญ่ที่สุดของเครือข่าย 3G ของทีโอที ปัจจุบันมีสมาชิกที่ใช้ซิม i-Mobile 3GX ราว 4 แสนคน เพิ่มจากต้นปีที่มีผู้ใช้เพียง 8 หมื่นราย และคาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 5-6 แสนรายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากบริษัทมีการผูกขาย (bundle) “คอนเทนต์” ที่ร่วมกับสยามสปอร์ตฯ ไปกับซิมและเครื่องของ i-Mobile ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อโครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที แล้วเสร็จ น่าจะทำให้ยอดสมาชิกของ i-Mobile เพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งจำนวนเครื่องและปริมาณการใช้บริการดาต้า (data)
ขณะที่การถือหุ้นเอ็มลิงค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) ของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ราว 30% ซึ่งมีธุรกิจหลักคือการจำหน่ายโทรศัพท์ Nokia จะเป็นอีกทางที่ช่วยกระจายซิม i-Mobile 3GX และเป็นช่องทางเสริมสร้างความเข้มแข็งในธุรกิจ MVNO ให้กับ SAMART โดย MLINK จะเป็นผู้ให้บริการ MVNO บนเครือข่าย 3G ของ กสท.โทรคมนาคม
สำหรับธุรกิจ ICT Solutions & Service ของ บมจ. สามารถเทลคอม หรือ SAMTEL ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 45% ของรายได้ทั้งหมด ในไตรมาส 3 มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ เป็นมูลค่ารวม 1,557 ล้านบาท ตลอด 9 เดือน มีการเซ็นสัญญาเพิ่มเติมราว 4.5 พันล้านบาท
ปัจจุบัน SAMTEL มีโครงการในมือมูลค่าทั้งสิ้นราว 7 พันล้านบาท โดยไตรมาสสุดท้ายของปี มีงานรอการประมูลอีกกว่า 40 โครงการ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 6.5 พันล้านบาท
SAMTEL ถือเป็นผู้นำในการให้บริการวางระบบและดูแลโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยรายได้หลักมาจากลูกค้าในส่วนรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ทีโอที กสท. โทรคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ฯลฯ
วัฒน์ชัยระบุว่า นับตั้งแต่เดือน ต.ค. จนถึงวันแถลงข่าว SAMTEL มีการเซ็นสัญญาไปแล้วเป็นมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านบาท ล่าสุดคือ การเพิ่งเซ็นสัญญากับวิทยุการบินแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 1.7 พันล้าน เมื่อวันที่ 11 พ.ย. โดยเวลาอีกเดือนกว่า ยังมีสัญญาที่ต้องเซ็นกับกรมตำรวจอีกหลายสัญญา
นอกจากการเซ็นสัญญากับหน่วยงานภายในประเทศ กลุ่ม SAMART ยังมีแผนที่จะรุกธุรกิจไปในประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันไม่เพียงธุรกิจควบคุมการจราจรทางอากาศในกัมพูชา พม่า และลาว กลุ่ม SAMART ในนามบริษัท One To One กำลังอยู่ระหว่างยื่น IPO เข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI เพื่อระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ Call Center ไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในธ.ค. ปีนี้ หรือ ม.ค. ปีหน้า
ทั้งนี้ รายได้ตลอด 9 เดือนของทั้งเครือ SAMART แตะอยู่ที่ 16,778 ล้านบาท โดยวัฒน์ชัยคาดว่า ทั้งปีรายได้น่าจะแตะแค่ระดับ 2.3-2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าทำได้จริง ซึ่งนี่จะเป็นการทะลุยอดขาย 2 หมื่นล้านบาท ในรอบหลายปี แต่ก็ยังไม่ถึงเป้า 3 หมื่นล้านบาท ที่แม่ทัพแห่ง SAMART ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี
โดยความผิดหวังครั้งนี้มาจากความล่าช้าในการประมูลโครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที ซึ่งคาดว่าน่าจะรับรู้รายได้ราว 5-6 พันล้านบาท โดยรายได้ก้อนนี้น่าจะเข้าไปรับรู้อยู่ในไตรมาส 1 ปีหน้าแทน
ตั้งแต่ปี 2549 ที่กลุ่ม SAMART สร้างรายได้สวยงามด้วยยอดกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท จากนั้นมาก็ดูเหมือนว่าการจะไปยืนอยู่ที่ “เป้า” ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องยากเย็นเหลือเกิน โดยในปี 2550 รายได้ของเครือหล่นลงมาอยู่ที่ 19,649 ล้านบาท จากนั้นรายได้ก็วิ่งอยู่ระหว่าง 1.6-1.73 หมื่นล้านบาท ยกเว้น ปี 2554 ที่รายได้สูงถึง 19,964 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีนักวิเคราะห์มองว่า เหตุที่มาของรายได้ทะลุ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2549 ของ SAMART ส่วนหนึ่งอาจมาจากสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างตระกูลวิไลลักษณ์กับตระกูลชินวัตร ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นก็คือ รัฐบาลทักษิณ
ขณะที่วัฒน์ชัยระบุว่า บทเรียนของภาวะรายได้ถดถอยในช่วง 3-4 ปีหลังปี 2549 น่าจะมาจากการที่กลุ่มบริษัท ไม่มีรายได้ประจำที่คอยหล่อเลี้ยง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจสารสนเทศและสื่อสารโทรคมนาคม
ในช่วงที่ผ่านมา ผู้บริหารแห่ง SAMART จึงพยายามใช้กลยุทธ์สร้างรายได้ระยะยาวให้มากขึ้น เพื่อเป็นรายได้ประจำและฐานรายได้ที่มั่นคงให้กับเครือ โดยมีภาพลักษณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงของกลุ่มบริษัทที่ยังไม่อาจมองข้าม ตราบที่สถานการณ์บ้านเมืองยังแบ่งขั้วอย่างชัดเจนเช่นนี้!