นอกเหนือจากข่าวการเสียชีวิตของ ชัยคีรี ศรีเฟื่องฟุ้ง ทายาทรุ่นที่ 3 บริษัทกระจกไทย-อาซาฮี ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำอัตวินิบาตกรรม ท่ามกลางความฉงนฉงายถึงความเป็นมาเป็นไปในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมไทยแล้ว
อีกข่าวหนึ่งที่กลายเป็นประเด็น ทอล์คออฟเดอะทาวน์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของครอบครัวสารสาส ที่ทำให้ชื่อของชินเวศ สารสาส กลับมาสู่ความสนใจของผู้คนทั่วไปอีกครั้ง หลังจากที่ เสาวณีย์ โอสถานุเคราะห์ อดีตภรรยา เดินทางพร้อมด้วยทนายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับชินเวศ สารสาส ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร
ชินเวศ สารสาส หลบหายไปจากสังคมอยู่นานนับทศวรรษ หลังจากที่ “จีเอฟ” อาณาจักรการเงินครบวงจรที่เขาสร้างมากับมือได้ล่มสลายลงจากวิกฤตการเงินในปี 2540 ก่อนที่ในปี 2553 ผู้จัดการ 360 ํ จะนำบทสัมภาษณ์และเรื่องราวของเขา “บทเรียนที่ไม่มีในตำราของชินเวศ สารสาส” ขึ้นเป็นปกนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ในเดือนพฤศจิกายน 2553
“ผมคงตายไปแล้ว” !?! ชินเวศ กล่าวขึ้นในช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ในช่วงปี 2540 ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญของชีวิต และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้ตกผลึกประสบการณ์และความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับ “ชีวิต” จนมองว่าฐานะ เงินทอง ตำแหน่ง ลาภยศ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญของชีวิตเสมอไป
“ผมว่าดีนะ มีเวลาทบทวนอะไรต่างๆ มากขึ้น…ผมได้อะไรจากวิกฤตนี้เยอะ ได้ปรัชญาชีวิตเยอะมาก ทำให้เห็นเลยว่า ตราบใดที่เรายังสุขภาพแข็งแรงดี เรายังมีสติปัญญาอยู่ ก็โอเค ก็สู้ได้”
ชินเวศสมรสกับเสาวณีย์ โอสถานุเคราะห์ ทำให้เขามีฐานะเป็น “เขยเล็ก” ของสุวิทย์-คุณหญิงมาลาทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารธุรกิจสายการเงินของตระกูล เขามีเหตุผลระดับหนึ่งในการที่จะผลักดันสายธุรกิจที่เขาดูแลรับผิดชอบอยู่นี้ให้เติบใหญ่มากขึ้น ซึ่งในบรรดาชนรุ่น 4 ของโอสถานุเคราะห์ที่หากจะนับชินเวศเข้าร่วมในเครือญาติด้วยแล้ว ต้องนับว่าเขาเป็นผู้ที่มีบทบาทเด่นมากที่สุดคนหนึ่ง
ปลายปี 2539 จีเอฟโฮลดิ้งส์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการเงิน 10 แห่ง ประกอบด้วยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 2 แห่ง บริษัทเช่าซื้อ ธุรกิจแฟคตอริ่ง บริษัท ประกันชีวิต ประกันภัย และเพิ่งได้ใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์เมื่อเดือนมกราคม 2540
จีเอฟโฮลดิ้งส์เป็นรูปแบบการจัดโครงสร้างการลงทุนที่ถูกวางรากฐานเอาไว้อย่างเป็นระบบ จากแนวคิดของชินเวศ โดยเริ่มตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟในปี 2528 ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำ
ผลจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีเอฟ อาณาจักรการเงินภายใต้การดูแลของชินเวศนี่เอง ทำให้ในยุคปี 2530-2540 ชินเวศถูกมองว่าเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่น่าจับตา โดยเฉพาะนักลงทุนชาวต่างประเทศที่อยากเข้ามาในไทย แทบทุกคนเป็นต้องได้มารู้จักกับเขา หรือขอนัดกินข้าวกับเขา
ในสายตาของนักลงทุนชาวต่างประเทศ ชินเวศจัดเป็นคนที่อยู่ในกลุ่ม most young, bright, powerful และที่สำคัญที่สุดคือ well connection
แต่อาณาจักรจีเอฟก็ล่มสลายลงชนิดที่เรียกว่า “ไม่เหลืออะไรเลย” หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540
สิ่งหนึ่งที่ชินเวศคิดได้ทันทีในขณะนั้นคือ หากเขาจะทำธุรกิจใหม่อีกครั้ง เขาจะไม่ทำธุรกิจที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเงินฝากของประชาชนอีกโดยเด็ดขาด!!!
ชินเวศเริ่มกลับมาสร้างธุรกิจของตนเองอีกครั้ง หลังผ่านพ้นวิกฤตปี 2540 ไปได้ประมาณ 5 ปี
ธุรกิจใหม่ของชินเวศเริ่มจากนำที่ดิน ซึ่งเดิมคิดจะสร้างบ้านเอาไว้อยู่ที่เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา มาสร้างเป็นโรงแรม 5 ดาวในนาม “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์”
“จริงๆ ในตอนนั้นไม่ได้คิดจะทำโรงแรม ที่ดินที่ซื้อไว้ตั้งใจจะสร้างบ้านอยู่เอง แต่ทำบ้านก็มีแต่ต้นทุน ผมมีบ้านเยอะมาก อาจจะมีเยอะที่สุดในประเทศไทย ที่มีอยู่ก็ไปอยู่ไม่ไหวแล้ว ก็เลยสร้างโรงแรม แล้วเป็นคนนิสัยเสีย เวลาทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด ก็เลยออกมาเป็นแบรนด์นี้” ชินเวศระบุอย่างทีเล่นทีจริง
จุดแรกเริ่มของ “ซิกส์เซ้นส์ ไฮด์อะเวย์” แห่งนี้ มาจากการที่ชินเวศซื้อที่ดินบนเกาะยาวน้อยราว 30 ไร่ไว้ตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน จนปี 2546 ที่เขาเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจรีสอร์ต ที่นี่ จึงได้จัดตั้งบริษัท “โรงแรมป่าเกาะ” ขึ้น เพื่อร่วมทุนกับกลุ่มเจมิ่งเฟรย์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเป็น 76 ไร่ และรังสรรค์โรงแรมสุดหรูนี้ขึ้นมา
หลังจากนั้นได้ก่อตั้งบริษัท G Capital ขึ้นเพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวและตั้งบริษัท General Outsourcing เพื่อรับงาน payroll outsource ให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ
ชินเวศเลือกจับทั้ง 3 ธุรกิจนี้เป็นการเปิดฉากตำนานบทใหม่ของ “สารสาส” โดยทั้ง 3 กิจการเริ่มสตาร์ทในเวลาใกล้ เคียงกันคือ ระหว่างปี 2547-2548
ข้อสังเกตคือทั้ง 3 กิจการเป็นธุรกิจที่จับต้องได้จริง ไม่เหมือนกับธุรกิจการเงิน ที่ฟูฟ่องไปกับฟองสบู่ที่เขาเคยทำเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
“มันเป็น real business เลย คือผมก็พยายามทำอะไรที่ 1-เป็นสิ่งที่เขาไม่ทำกัน เป็นสิ่งซึ่งเป็น niche 2-เป็นสิ่งซึ่งทำแล้วเป็นประโยชน์กับส่วนรวม”
ชินเวศมีลูก 3 คน ลูกชายคนโต “ณัฐพล” เรียนจบจากสหรัฐอเมริกา กลับมาเมืองไทยในปี 2544 หลังอาณาจักรจีเอฟล่มสลายไปแล้ว 4 ปี ปัจจุบันเป็นกำลังหลักของชินเวศในเรื่องการทำธุรกิจ รวมทั้งกำลังได้รับการติวเข้มอย่างหนักจากชินเวศอีกด้วย
ลูกสาวคนที่ 2 “วิสา” ทุกวันนี้โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง ส่วนลูกคนสุดท้อง “อาษา” เรียนปริญญาโททางด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศส ชินเวศตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบกลับมา เมืองไทยแล้ว เขาจะให้อาษาไปรับราชการสักระยะหนึ่งก่อน แล้วจึงออกมาช่วยพี่ชายทำงาน
ขณะที่ข้อมูลจากเสาวณีย์ ระบุว่าเธอและชินเวศแยกกันอยู่มานานกว่า 20 ปีเเล้ว โดยเสาวณีย์ หันหน้าไปเข้าวัดเเละปฏิบัติธรรม และคิดว่าควรจะหย่าร้างกันอย่างจริงจัง จึงดำเนินการฟ้องหย่าตั้งเเต่ปี 2553 ซึ่งเมื่อได้ไปตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อดำเนินการเเบ่งสินสมรส พบว่าทรัพย์สินบางรายการที่ไม่ใช่สินสมรส เเต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเธอเองถูกสามีโอนไปให้กับลูก เช่นที่ดินที่เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ที่ดินที่เเม่เเตง จังหวัดเชียงใหม่ เเละที่ดินในเขตประเวศ กทม.
นอกจากนี้ หลังการตรวจสอบยังพบอีกว่า ชินเวศได้ปลอมลายมือชื่อพร้อมเอกสารไปกู้เงินที่ธนาคารทหารไทย สาขาปทุมวัน 2 วงเงิน เป็นจำนวนเงิน 1,400 ล้านบาท จึงดำเนินการฟ้องร้องทางคดีอาญาด้วย
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชินเวศ มักได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นคนสนใจศึกษาเรื่องปรัชญา และหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนามาก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตการเงินแล้ว แต่เขามีเวลาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ยิ่งขึ้นในช่วงหลังจากวิกฤต ซึ่งเขาเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นของหลักธรรมที่ว่าด้วยอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงแท้ แน่นอนของชีวิต และมักอ้างถึงคำพูดขององค์ทะไลลามะแห่งทิเบต ที่เคยกล่าวไว้ว่าชีวิตก็เหมือนกับการท่องเที่ยว
เรื่องราวของครอบครัวสารสาส หากพิจารณาจากวลีที่ว่า “ต่างมีศีลเสมอกัน” ก็คงไม่น่าจะมีสิ่งใดที่ซับซ้อน หากแต่นี่อาจเป็นบทเรียนที่ไม่มีในตำรา ซึ่งชินเวศ สารสาสได้ประสบมากับตัวเองเมื่อหลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีอานิสงส์เผื่อแผ่ต่อสังคมภายนอกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
แต่สังเวียนเพื่อการพิสูจน์ทราบในรอบนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรับฝากเงินจากประชาชนแต่อย่างใด
ติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมของ ชินเวศ สารสาส ได้ที่
ซิกส์เซ้นส์ไฮด์อะเวย์ บันไดสู่เวทีโลกของ “ณัฐ”
“G Capital” หมากตัวใหม่บนสังเวียนเก่า
บทเรียนที่ไม่มีในตำราของชินเวศ สารสาส
จีเอฟโฮลดิ้งส์ ก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินตระกูลโอสถานุเคราะห์