วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” โลกทั้งใบ ภายใต้ “แบรนด์” เดียว

“ซีพี ฟู้ดเวิลด์” โลกทั้งใบ ภายใต้ “แบรนด์” เดียว

 

ความพยายามสร้างโมเดลธุรกิจค้าปลีกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องการบรรลุเป้าหมาย เพราะไม่ใช่แค่กลยุทธ์สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบอาหารที่มีมากมายอยู่ในมืออีกหลายสิบเท่า หลายร้อยเท่า และหลายพันเท่า แต่ยังเป็นการขยายช่องทางจำหน่ายและหน้าร้าน เพื่อกระจายสินค้าถึงมือกลุ่มเป้าหมายใหม่ทั่วโลก 
 
ปัจจุบันโครงสร้างค้าปลีกของซีพีแยกเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มร้านอาหาร (Restuarant) ได้แก่ เชสเตอร์กริลล์ ธุรกิจห้าดาว ร้านอาหารจานด่วน “ซีพีคิทเช่น” ร้านเดอะกริลล์ ร้านสเต๊กหมูคูโรบูตะ สเต๊กปลา สแน็กทูโก และอีซี่สแน็ก ซึ่งกลุ่มนี้มีการขยายแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเมนูอาหารยอดนิยม และล่าสุดขยายเพิ่มอีก 2 แบรนด์ คือ ข้าวขาหมู “โป๊ยก่ายตือคา” ข้าวไข่เจียว และเพิ่มร้าน Otop thai เข้ามาทดลองขายสินค้ากลุ่มอาหารโอท็อปจากชุมชนต่างๆ
  
อีกกลุ่ม คือค้าปลีกอาหาร (Food Retail) ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีการปรับและยกเครื่องหลายครั้งตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน “ซีพีเฟรชมาร์ท” ทดลองตลาดเมื่อ 7 ปีก่อน และปรับใหม่อีกครั้ง แยกเป็น 4 โมเดล โดย 3 โมเดลแรกอยู่ภายใต้กลุ่ม “ซีพีเฟรชมาร์ท” ประกอบด้วย “ซีพีเฟรชมาร์ท” เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กใกล้เคียงกับร้านสะดวกซื้อ มีทั้งวัตถุดิบเนื้อสัตว์ สินค้าในการประกอบอาหาร สินค้าอาหารแปรรูป สินค้าอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงเบียร์ ขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม ของหวานต่างๆ แถมด้วยบริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
 
โมเดลที่ 2 ซีพีเฟรชมาร์ท พลัส ซึ่งปรับมาจากโมเดล “ซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต” เน้นจุดขาย 3 คอนวีเนียน คือ “คอนวีเนียนทูบาย” มีสินค้าจำหน่ายเหมือนร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น “คอนวีเนียนทูคุ้ก” มีผลิตภัณฑ์แช่แข็งเหมือนร้านซีพีเฟรชมาร์ท และ “คอนวีเนียนทูอีท” มีรายการอาหารเหมือนร้านอาหารจานด่วน ซึ่งล่าสุดเปิดแล้ว 5 สาขา ได้แก่ สาขาซีพีทาวเวอร์ 3 ฟอร์จูนทาวเวอร์ ธัญญะช้อปปิ้งพาร์ค ทาวน์อินทาวน์ และสาขาวังน้อยที่จับมือกับค่ายน้ำมันเชลล์
 
โมเดลที่ 3 ตู้เย็นชุมชน จำหน่ายสินค้ากลุ่มวัตถุดิบเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ สินค้าแปรรูป และสินค้าสำเร็จรูป โดยเน้นเจาะซอยย่อยในชุมชนต่างๆ บุกเข้าถึงทุกอำเภอทุกจังหวัดทั่วประเทศ
 
รูปแบบค้าปลีกทั้ง 3 โมเดล ภายใต้การบริหารของบริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ประกาศรุกหนักในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ตั้งแต่ปี 2557-2559 ภายใต้งบลงทุนรวม 1,500 ล้านบาท แยกเป็นการขยายร้านซีพีเฟรชมาร์ทอีก 1,000 สาขา หรือปีละ 300-350 สาขา จากปีนี้มีสาขารวม 700 สาขา ร้านซีพีเฟรชมาร์ท พลัส ปีละ 10-15 สาขา หรือเป้าหมายรวม 50 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 5 สาขา และตู้เย็นชุมชนขยายให้ได้ 50,000 จุด หรือปีละ 15,000 จุด จากปีนี้อยู่ที่ประมาณ 15,000-16,000 จุด

ส่วนโมเดลน้องใหม่ “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” ซึ่งถือเป็น “หัวหอก” ที่สามารถต่อยอดร้านค้าปลีกในเครือได้ทั้งหมด ในรูปแบบศูนย์อาหารที่เน้นไลฟ์สไตล์คนเมืองและคนรุ่นใหม่ ซึ่งล่าสุด ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง เปิดสาขาที่ 2 ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พื้นที่เกือบ 2,500 ตร.ม. จำนวนที่นั่งทานอาหาร 660 ที่นั่ง หลังจากทดลองตลาดเปิดสาขาแรกที่อาคารปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปลายปี 2555

สำหรับพื้นที่การให้บริการในศูนย์อาหารแบ่งพื้นที่หลัก 3 ส่วน คือ พื้นที่อาหารรองท้อง (light meal) พื้นที่อาหารอิ่มท้อง (heavy meal) และมุมอาหารทานเล่นและของฝาก (fun meal) โดยแยกเป็นร้านค้าและบริการในเครือซีพี 30% เช่น  ซีพีคิทเช่น ซีพีอีซี่สแน็ก เดอะกริลล์ โป๊ยก่ายตือคา และร้านค้าแบรนด์พันธมิตรอีก 70% รวม 13 แบรนด์
 
วิรัตน์ เตชะนิรัติศัย รองกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจค้าปลีก บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้บริหารศูนย์อาหารซีพี ฟู้ดเวิลด์ กล่าวว่า โมเดลธุรกิจศูนย์อาหาร “ซีพี ฟู้ดเวิลด์” ประกอบด้วย 3 โมเดลหลัก คือ ขนาดเล็กหรือแบบเกาะกลาง พื้นที่ประมาณ 30-50 ตร.ม. ขนาดกลาง พื้นที่ 400-600 ตร.ม. ซึ่งเปิดสาขาต้นแบบแห่งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช และสาขาขนาดใหญ่ พื้นที่มากกว่า 1,000-1,500 ตร.ม. ซึ่งเปิดสาขาต้นแบบแห่งแรกที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
 
เฉพาะปีนี้ บริษัทเตรียมเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ ถ.รัชดาภิเษก ถนนพัฒนาการ และสาขามหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ ถ.แจ้งวัฒนะ โดย 2 สาขาแรกเป็นโมเดลขนาดกลาง ส่วนสาขาปัญญาภิวัฒน์เป็นโมเดลขนาดใหญ่ พื้นที่ 1,000 ตร.ม. และตั้งเป้าขยายให้ได้ปีละ 5 สาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำเลเป้าหมายมีทั้งในโรงพยาบาล อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์ราชการ คอนโดมิเนียม มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ

โดยเฉพาะโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นโมเดลแรกที่ซีพีเอฟนำร่องเป็นสาขาต้นแบบจนประสบความสำเร็จ สามารถทำรายได้มากกว่าเดือนละ 3 ล้านบาท บางเดือนพุ่งสูงถึง 5 ล้านบาท อย่างสาขาโรงพยาบาลศิริราชมีผู้ใช้บริการมากกว่า 3,000 คนต่อวัน ทำรายได้เฉลี่ยวันละ 120,000 บาท และมีแผนเจรจาขอพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงก่อสร้าง ส่วนสาขาโรงพยาบาลจุฬาฯ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการ 4,000-5,000 คนต่อวัน รายได้เฉลี่ย 130,000-150,000 บาทต่อวัน อัตราเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 15% และมีแผนขยายเฟส 2 ด้วยเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ซีพีเอฟต้องการเจาะตลาดในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มบริษัท โซเด็กซ์โซ่ จากประเทศฝรั่งเศส ผู้ให้บริการด้านซ่อมบำรุงอาคารและบริการอาหารเป็นผู้ผูกขาดบริการในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ รวมถึงการขยายเข้าสู่การให้บริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยขณะนี้กำลังร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อศึกษาและผลิตเมนูอาหารผู้ป่วยที่มีรสชาติอร่อยต่างจากอาหารผู้ป่วยทั่วไป
 
หาก “ซีพีฟู้ดเวิลด์”บุกเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถผลักดันมูลค่าสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่า
 
วิรัตน์กล่าวว่า ภาพรวมตลาดศูนย์อาหารในปัจจุบันมีมูลค่าหลายพันล้านบาท และมีโอกาสเติบโตอีกหลายเท่า เนื่องจากมีช่องว่างในตลาดและยังไม่มีใครบุกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นฟู้ดคอร์ทในโมเดิร์นเทรด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสโตร์ทำเองในลักษณะบริการลูกค้าเท่านั้น ไม่ลงทุน ไม่เน้นรูปลักษณ์หรือสีสันมากมาย

คู่แข่งที่เห็นชัดเจนมีเพียง 2 ค่าย คือ บริษัท เบรดทอล์ค (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้บริหาร “ฟู้ดรีพับลิก” (Food Republic) จากสิงคโปร์ ปัจจุบันมี 3 สาขา ที่เซ็นทรัล พระราม 9  เมกาบางนา และสยามเซ็นเตอร์

แม้ค่ายฟู้ดรีพับลิกมีแผนขยายสาขาในหลายแห่ง เช่น ทำเลสวนสนุก คอมมูนิตี้มอลล์ แต่ด้วยความเป็นต่างชาติจะต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลและศึกษาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะการจัดหาซัปพลายให้เหมาะกับพื้นที่และกลุ่มลูกค้า
 
อีกค่าย “ฟู้ดลอฟท์” ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เช่น สาขาชิดลม แจ้งวัฒนะ ลาดพร้าว ห้างเซน และเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยา บีช โดยเน้นกลุ่มลูกค้าระดับบน อย่างไรก็ตาม กลุ่มเซ็นทรัลพยายามหาทำเลเพื่อขยายสาขา เช่น การเข้ามาประมูลแย่งชิงพื้นที่ในกลุ่มโรงพยาบาล แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
 
ขณะที่ “ซีพีฟู้ดเวิลด์” เน้นจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบน ขึ้นอยู่ที่ทำเลและสถานที่ โดยในระยะแรกจะเน้นพื้นที่ในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างแบรนด์และการรับรู้ก่อนที่จะขยายไปต่างจังหวัดในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ในจังหวัดใหญ่ๆ เมืองท่องเที่ยว เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมถึงตามเส้นทางถนนซูเปอร์ไฮเวย์สายหลักๆ

และเมื่อแบรนด์มีความแข็งแรง นโยบายของธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องการผลักดันหัวหอกใหม่ตัวนี้บุกตลาดโลก เหมือนอย่างศูนย์อาหารในประเทศเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า เวียดนาม ลาว และประเทศที่ซีพีหรือซีพีเอฟมีฐานการผลิต โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย  ซึ่งวิรัตน์ยืนยันว่าน่าจะเห็น “ซีพีฟู้ดเวิลด์”โกอินเตอร์ภายใน 5 ปี

“หากถามประธานธนินท์ ท่านอยากให้ขยายสาขาไปต่างประเทศวันนี้พรุ่งนี้ และไปทุกประเทศ เพราะการเปิดซีพีฟู้ดเวิลด์ไม่ใช่แค่การเปิดแบรนด์ศูนย์อาหารของซีพี แต่ยังหมายถึงการยกแบรนด์ร้านอาหารและผลิตภัณฑ์ของซีพีที่มีอยู่ไปด้วย สามารถขยายตลาดได้อีกมาก” วิรัตน์กล่าว

ทิศทางธุรกิจของซีพี จากยุคการขายเมล็ดพันธุ์พืชสู่ธุรกิจเกษตรครบวงจร และขยายเข้าสู่ยุคธุรกิจอาหารครบวงจรตามกระแสและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ

ล่าสุด ซีพีกำลังเร่งเจรจาแผนขยายธุรกิจในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดใหม่และใหญ่มาก หลังจากสยายปีกทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยเตรียมเข้าไปตั้งโรงงานผลิตแซนด์วิช ซึ่งจะใช้วัตถุดิบประเภทไก่แช่แข็งจากไทยทั้งหมด และเน้นทำตลาดที่กรุงลอนดอนและในอังกฤษ ส่วนการลงทุนในสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป และยังมีแผนรุกเข้าสู่อีกหลายประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา
 
“ซีพี” จะเป็นครัวของคนทั้งโลก เป้าหมายนี้จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ธนินท์ฝันและอยากเห็นในเร็ววันนี้แน่