วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ญี่ปุ่น ปรับกลยุทธ์ รุกหนัก ภาคการเงินไทย

ญี่ปุ่น ปรับกลยุทธ์ รุกหนัก ภาคการเงินไทย

 

ราวกับเป็นความตั้งใจของบรรดาบรรษัทการเงินจากแดนซามูไร ที่พร้อมใจขับเคลื่อนก้าวย่างสำคัญเพื่อปักธงชัยในตลาดการเงินเมืองไทย ทั้งในภาคธุรกิจธนาคารและธุรกิจประกัน โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ เริ่มต้นจากมูฟเมนต์สำคัญของ “มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” หรือ MUFG 

หลังจากเป็นข่าวฮือฮามานานหลายเดือน ในที่สุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็ได้ข้อยุติเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คนใหม่ของ BAY  คือ “แบงก์ ออฟ โตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิมิเต็ด” หรือ BTMU ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับต้นจากแดนปลาดิบ ซึ่งได้ซื้อหุ้น BAY จาก “จีอี แคปปิตอล” ที่ถืออยู่ 25.33% 

คนไทยส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ “แบงก์ ออฟ โตเกียว มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิมิเต็ด” แต่อันที่จริง BTMU ไม่ใช่ “คนแปลกหน้า” สำหรับวงการธนาคารในเมืองไทย เพราะ BTMU ได้เข้ามาเปิดสาขาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อ 50 กว่าปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย

แต่สำหรับในภาคการเงินระดับโลก BTMU เป็นที่รู้จักในฐานะธนาคารในเครือสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น คือ “มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป” หรือ MUFG ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับต้นของโลก และยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายสำคัญของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลก มอร์แกน สแตนเลย์

MUFG เป็น Bank Holding Company หรือบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นของตนเองมากกว่า 1ธนาคาร โดยธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจธนาคาร นอกจากนี้ยังมีทรัสต์ บัตรเครดิต ลิสซิ่ง ฯลฯ รวมถึงบริการบริหารสินทรัพย์ เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นต้น 

ทั้งนี้ เอกสารของ BTMU ระบุว่า เป้าหมายของการซื้อหุ้น BAY ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจของ BTMU ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสอดคล้องกับแผนเร่งขยายกิจการของประธานแห่ง BTMU คนใหม่ ซึ่งตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้จากต่างแดนเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 30% โดยมีภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เป็นแหล่งรายได้หลักที่มาจากต่างประเทศ

การเข้าเทกโอเวอร์ BAY ครั้งนี้ ส่งผลให้ MUFG กลายเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประวัติศาสตร์ชาติญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการธนาคารในประเทศไทย 

คาดกันว่า ธนาคารต่อไปที่จะถูกกวาดซื้อหุ้นคือ TMB ในส่วนที่ ING ถืออยู่ โดยครั้งนี้ นอกจากผู้ประมูลสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “สึมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปฯ” ที่พลาดจากดีล BAY ยังมีผู้ท้าชิงสำคัญคือ “เมย์แบงก์” ธนาคารอันดับหนึ่งของมาเลเซีย และ “ยูโอบี” จากสิงคโปร์ ที่จะกลับมาฟาดฟันกันอีกครั้ง

ปลายเดือนมิถุนายน ยังมีอีกหนึ่งข่าวเด่นที่แย่งชิงพื้นที่ข่าวการเทคฯ หุ้น BAY นั่นคือ ข่าวการแย่งซื้อหุ้นบริษัทไทยประกันชีวิต ของบริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัยถึง 2 ราย ได้แก่ “สึมิโตโม ไลฟ์ อินชัวรันซ์” บริษัทประกันชีวิตอันดับ 3 ของญี่ปุ่น และ “เบอร์ 4” อย่าง “เมจิ ยาสึดะ ไลฟ์ อินชัวรันซ์” นอกจากนี้ ยังมี “Khazanah Nasional Berhad” ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลมาเลเซีย เข้าร่วมประมูลด้วย

แม้จะยังไม่มีแถลงการณ์ชัดเจน แต่สำนักข่าวหลายแห่งรายงานตรงกันว่า เมจิ ยาสึดะฯ น่าจะเป็นผู้ที่คว้าดีลนี้ไป ด้วยข้อเสนอที่สูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 700 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับหุ้น 15% ของไทยประกันชีวิตอดีตบริษัทประกันชีวิตอันดับ 2 ของไทยมาหลายสมัย แต่เพิ่งถูก “เมืองไทยประกันชีวิต” ขึ้นแทนที่เมื่อปีที่ผ่านมา 

เชื่อกันว่าความพยายามเข้ามาในธุรกิจประกันชีวิตของบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น น่าจะเป็นผลมาจากตัวเลขเบี้ยประกันชีวิตในเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ที่คาดว่าจะเติบโตในอัตรารวมกันถึง 8.5% ระหว่างปี 2554-2564 โดยมีมูลค่าคิดเป็น 631,000 ล้านดอลลาร์ 

จริงๆ แล้ว การเข้ามาของบริษัทประกันชีวิตญี่ปุ่นในธุรกิจประกันชีวิตไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะบริษัทประกันชีวิตอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นอย่าง “นิปปอน ไลฟ์ อินชัวรันส์” ก็ได้เข้ามาถือหุ้นใน “กรุงเทพประกันชีวิต” ตั้งนานแล้ว โดยได้เพิ่มทุนเป็นสัดส่วนเกือบ 25% เมื่อราว 4 ปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมี บริษัท “ไดอิชิ ไลฟ์ อินชัวรันส์” ที่ได้เข้ามาถือหุ้น 24% ในไทยสมุทรประกันชีวิตอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่กรกฎาคม ปี 2551 โดยต้นเดือนมิถุนายน กลุ่มไดอิชิเพิ่งบรรลุดีลซื้อหุ้น 40% ใน “PT Panin Life” ของอินโดนีเซีย ด้วยสนนราคา 337 ล้านดอลลาร์ อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์หลักของบริษัท คือการแสวงหาโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจไปในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก 

ขณะที่สึมิโตโม ไลฟ์ฯ แม้จะพลาดเป้าจากประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะเข้าสู่ตลาดอาเซียน โดย Bloomberg ระบุว่า สึมิโตโมฯ พยายามเข้าซื้อหุ้น 40% ในบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเครือของธนาคาร Negara หรือ PT Bank Negara Indonesia (BBNI) ด้วยข้อเสนอที่อาจสูงถึง 800 ล้านดอลลาร์

อีกก้าวย่างที่แม้ไม่เป็นข่าวเด่นดังเท่า 2 ข่าวแรก แต่นับว่ามีนัยต่อธุรกิจในภาคประกันของไทยไม่แพ้กัน ได้แก่ ข่าวการเปิดตัว “อิออน อินชัวรันส์ เซอร์วิส (ประเทศไทย)” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่เพิ่งผ่านมา

ทั้งนี้ อิออน อินชัวรันส์ฯ เกิดจากการควบรวมกิจการของสองบริษัทนายหน้าประกันภัย คือ “เอซีเอส อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ (ประเทศไทย)” และ “เอซีเอส ไลฟ์อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ (ประเทศไทย)” เป็นบริษัทในเครือ “อิออน ธนสินทรัพย์” ประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต 

จากการควบรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท พร้อมกับแผนระดมเงินทุนจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและขยายธุรกิจ กลุ่มอิออนฯ เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ อิออน อินชัวรันส์ฯ น่าจะมีรายได้สูงขึ้นจนก้าวติดอันดับท็อป 5 ของบริษัทประกันภัยชั้นนำในเมืองไทย จากปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 8
     
อีกเพียง 1 วันถัดมา บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ได้แถลงข่าวความร่วมมือระหว่างอิออนฯ กับกลุ่มเมเจอร์และแมคโดนัลด์ เพื่อกระตุ้นยอดผู้ถือบัตรเครดิตอิออนโกลด์และคลาสสิค ทั้งนี้ การแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ถือบัตรอิออน นับเป็นก้าวเล็กๆ ที่อิออนฯ พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา 

อิออนฯ ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการด้านการเงิน รวมถึงบริการบัตรเครดิต บริการสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล และบริการอื่นๆ ในประเทศไทยมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2535 สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 20 ก.พ. 2556 อิออนฯ มีฐานลูกค้าที่ถือบัตรกว่า 6.7 ล้านใบ มียอดการให้สินเชื่อกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท และมีรายได้รวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

“ในญี่ปุ่น บัตรอิออนถือเป็นเบอร์ 1 มีผู้ใช้บัตร 20 ล้านคน กลุ่มอิออนวางเป้าหมายไว้ว่า บัตรอิออนจะต้องเป็นเบอร์ 1 ในเอเชียในแง่ของจำนวนผู้ใช้บัตร ฉะนั้นการที่อิออนจะไปถึงเป้าได้สำเร็จ นั่นหมายความว่า “อิออน ธนสินทรัพย์” ก็ต้องผลักดันให้บัตรอิออนเป็นเบอร์ 1 ในเมืองไทยด้วย ซึ่ง AEONTS มีความพยายามมาตลอด”

คำยืนยันที่หนักแน่นของ มร.จุน ซูซูกิ กรรมการ บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) เป็นเสมือนสัญญาณที่บอกได้ว่า นับจากนี้ คนไทยน่าจะได้เห็นความพยายามที่อาจเป็นย่างก้าวเล็กๆ ที่สำคัญของ “กลุ่มอิออน” ในประเทศไทยและเอเชียได้บ่อยขึ้น

เหล่านี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของปรากฏการณ์ซากุระบานในภาคการเงินไทย แต่ดูเหมือนว่า ปรากฏการณ์นี้จะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย เพราะบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่จากแดนซามูไร ดูจะสนใจบุกภาคการเงินในหลายประเทศแถบอาเซียน

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตาม “นโยบาย Abenomics” หรือเพราะแรงดึงดูดจากการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่ในอาเซียน หรือเพราะการเปิดเสรีทางการเงินของกลุ่มประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 หรืออาจเป็นความต้องการส่วนลึกของญี่ปุ่นที่อยากจะทวงตำแหน่ง “เบอร์ 1” ทางเศรษฐกิจของเอเชียคืนจากจีนและเกาหลี

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การแข่งขันในภาคการเงินของไทยและอาเซียนที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนต้องคอยลุ้นว่า ในที่สุดแล้ว ในเวทีอาเซียนหรือแม้แต่เวทีไทยจะหลงเหลือบริษัทประกันหรือธนาคารของคนไทย อยู่กับเขาบ้างไหม!!