วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ตำนานเหล้าไทย “House of Mekhong”

ตำนานเหล้าไทย “House of Mekhong”

 

ตามข้อมูลประวัติศาสตร์ โรงงานสุราบางยี่ขันแห่งแรก ณ ปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดินเครื่องจักรผลิตเหล้าตั้งแต่ครั้งเริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นถือเป็นสมบัติของนายอากร ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ผูกขาดผลิตสุราขาวหรือ “เหล้าโรง” ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร
           
การผลิตดำเนินเรื่อยมาจนถึงยุคประเทศไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส เกิดกรณีพิพาทกัน  หลวงวิจิตรวาทการได้ประพันธ์เพลงปลุกใจคนไทยให้รักชาติและกล้าเข้าสู่สมรภูมิ ชื่อว่า “ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย” และ “โขงสองฝั่งเหมือนฝั่งเดียวกัน” กรมสรรพสามิตจึงตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ 35 ดีกรี ที่ผลิตขึ้นใหม่ในปี 2484 ว่า “แม่โขง” นับตั้งแต่นั้นมา
           
ต่อมา โรงงานบางยี่ขันเปลี่ยนผ่านสังกัดจากกระทรวงการคลังมาขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนประมูลเช่าโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเมื่อปี 2503
           
ผู้เช่ารายแรกคือ บริษัท สุรามหาคุณ จำกัด โดยจ่ายอัตราค่าเช่าปีละ 41 ล้านบาท และได้รับการต่อสัญญาอีก 10 ปี ตั้งแต่ปี 2513 อัตราค่าเช่าปีละ 55 ล้านบาทบวกส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิอีกร้อยละ 25
           
สำหรับโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานปี 2523 เมื่อบริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด ของกลุ่มตระกูลเตชะไพบูลย์ เข้าร่วมประมูลและชนะได้สิทธิ์เช่า 15 ปี แต่มีเงื่อนไขต้องสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ที่ตำบลบางคูวัด จังหวัดปทุมธานี และยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสุราแม่โขงมีสูงมากจนเกินกำลังการผลิตของ “บางยี่ขัน” ต่อมามีการขยายอายุการเช่าเพิ่มอีก 5 ปี จนถึงปี 2542
           
ในระหว่างนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เมื่อเจริญ สิริวัฒนภักดี สามารถยึดครองบริษัท สุรามหาราษฎร จากกลุ่มเตชะไพบูลย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิ์การเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 ไปโดยปริยาย
 
1 มกราคม 2543 คณะรัฐมนตรีมีมติเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุรา เจริญเปลี่ยนชื่อบริษัทสราญชัย จำกัด เป็นบริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด เข้าประมูลซื้อที่ดินและทรัพย์สินโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 ในราคา 8,251 ล้านบาท
            
ปัจจุบัน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลสิริวัฒนภักดี  มีเครือข่ายโรงเหล้าทั่วประเทศ จำนวน 18 โรง แบ่งเป็นกลุ่มบริษัทแสงโสม 7 โรง กลุ่มบริษัทสุรากระทิงแดง 6 โรง และกลุ่มบริษัทสุราบางยี่ขันอีก 5 โรง โดย “บางยี่ขัน2” ถือเป็นฐานการผลิตหลักของสุราแม่โขงตัวใหม่ที่มีการบ่มนานขึ้นจากเดิม 3-7 ปี เป็น 8 ปี
 
ด้านหน้าของ “บางยี่ขัน2” เปิดพิพิธภัณฑ์แม่โขง หรือ “House of  Mekhong” ซึ่งแม้ไทยเบฟฯ ยังไม่แถลงเปิดตัวออกสื่ออย่างเป็นทางการ แต่ทุกวันนี้จัดเป็น Visitor Center ให้ผู้สนใจ กลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการและแขกคนสำคัญระดับประเทศ เข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดเหล้าไทย กระบวนการผลิต การช่วงชิงสัมปทานเส้นทางกว่าจะเกิดเป็นสุรา “แม่โขง” และขยายเป็นอาณาจักรธุรกิจมูลค่ามหาศาลของกลุ่มตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เช่นทุกวันนี้

 

Related Stories

1. “แม่โขง” ปรับกลยุทธ์ บุกทุกช่องทางแจ้งเกิด

2. ดัน “แสงโสม-หงส์ทอง” ขยายฐานปลุก “นิวดริงเกอร์”