ฉันยังจำความรู้สึกขณะมองลอดเข้าไปตามบานหน้าต่างทั้งที่ยังไม่ได้เข้าไปในตัวบ้านด้วยซ้ำว่า “บ้านนี้แหละ… ใช่เลย”
Kay Hill เล่าเหตุการณ์ย้อนหลังเมื่อ 12 ปีก่อน เมื่อเธอกับ David สามีคู่ชีวิตได้เห็นกระท่อม Kent หลังนี้เป็นครั้งแรก ตอนนั้นครอบครัวของทั้งคู่มีบ้านอยู่ห่างออกไปเพียง 20 นาทีเท่านั้น แต่ก็ยังตัดสินใจย้ายบ้านเพื่อให้ลูกทั้งสองได้เรียน ที่โรงเรียนใกล้บ้าน
“จริงๆ แล้วบ้านเดิมของเราก็ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่เรามองในระยะยาวว่า การย้ายบ้านหมายถึงได้อยู่บ้านสไตล์คันทรีที่มีแต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์และเต็มไปด้วยเอกลักษณ์”
กระท่อมหลังนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานจริงเสียด้วย สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 เริ่มแรกเป็นบ้านโล่งๆ ชั้นเดียว แต่ถูกต่อเติมในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาจนกลายเป็นบ้านสองชั้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระท่อมโบราณนี้ยังมีโครงสร้าง ดั้งเดิมหลงเหลืออยู่มากมาย อาทิ คานไม้ที่โค้งงอตามธรรมชาติ เตาผิงที่มีม้านั่งข้างเตา หน้าต่างที่ใช้ไม้แบ่งหน้าต่างกระจกออกเป็นช่องๆ ตามอย่างโบสถ์ฝรั่ง และพื้นปูด้วยอิฐและแผ่นกระดาน ไม้โอ๊กขนาดใหญ่
เมื่อพิจารณาจากอายุของบ้านแล้วต้องถือว่าน่าทึ่งเป็นที่สุด ที่โครงสร้างยังแข็งแรง แทบไม่จำเป็นต้องบูรณะหรือซ่อมแซมอะไรเลย ดังที่ Kay ยืนยันว่า
“ฉันมีสามีเป็นผู้อำนวยการบริษัทก่อสร้าง แน่นอนว่าเขาพร้อมที่จะลงมือบูรณะซ่อมแซมบ้านได้ตลอดเวลา แต่กับบ้านหลังนี้ เรากลับไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพียงเน้นงานตกแต่งตามแนวทาง ที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเท่านั้น”
ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา งานหลักของคนทั้งคู่ก็เป็นอย่าง ที่พูดจริงๆ คือปรับปรุงเพื่อดึงบุคลิกที่แท้จริงของบ้านออกมา รวมทั้งเน้นคุณลักษณะเด่นๆ ที่มีอยู่มากมาย
“เป็นบ้านที่มีซอกมุมมากเหลือเกิน ไม่มีอะไรเป็นไปตามหลักสมมาตรหรือมีสัดส่วนตามมาตรฐานสากลเลย แต่มันทำให้บ้านมีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และน่าสนใจมาก ฉันชอบจินตนาการว่า ก่อนที่เราจะย้ายมาอยู่ มีคนหลายชั่วอายุเคยอยู่มา ก่อน จึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลที่เป็นประวัติของบ้านเพิ่มเติม เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านยุคที่เราเข้ามาอาศัยอยู่มีความ พิเศษอย่างยิ่งยวด”
ทั้งคู่หันไปให้ความสำคัญกับการปรับปรุงภายในบ้านมากกว่า
“ห้องครัวดั้งเดิมดูน่าเบื่อสำหรับเรา เราจึงเปลี่ยนใหม่โดยให้บริษัทของสามีทำตู้ไม้โอ๊กใหม่ทั้งชุด และซื้อเตา Aga มาติดตั้งแทนเตาโบราณ”
พวกเขายังปรับปรุงห้องน้ำ ด้วยการเน้นงานตกแต่งและเพิ่มตู้บิลท์-อินเข้าไปในทุกจุดที่มีที่ว่าง
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดยทั้งสองสร้างห้องสวนหลังคาโค้งถัดจากห้องครัวเพิ่มอีกห้องหนึ่ง
“ห้องนี้ใช้เวลาสร้าง 9 เดือน ทุกอย่างราบรื่นดี ยกเว้นต้อง ต่อสู้กับกองฝุ่นหนาเตอะช่วงเพิ่งสร้างเสร็จ ห้องนี้นอกจากจะทำให้บริเวณบ้านส่วนนี้สว่างขึ้นแล้ว ยังทำให้เราได้ห้องจัดเลี้ยงเพิ่มขึ้นซึ่งเราชอบมาก เพราะคนในครอบครัวและเพื่อนๆ จะมารวมตัวสังสรรค์กันที่ห้อง ส่วนฉันก็ง่วนทำอาหารอยู่ในห้องครัวที่อยู่ติดกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอะไรเลย เราใฝ่ฝันอยากมีบ้านบรรยากาศ อย่างนี้มานานแล้ว คือต้องการมีพื้นที่ที่เชื่อมสวนกับตัวบ้านเข้าด้วยกัน และเป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้ตลอดทั้งปี”
พวกเขาทำให้งานออกแบบห้องสวนขั้นตอนสุดท้ายเกิดสมดุลด้วยการติดตั้งกระจกติดเพดานรูปโค้งในห้องครัว และใช้ไม้โอ๊กโทนสีน้ำผึ้งทำเป็นคาน เพื่อให้เกิดสีตัดกันและเข้าชุดกับคานไม้โอ๊กสีเข้มของเก่าที่เป็นของดั้งเดิม และมีอยู่ทั่วทั้งบ้าน ที่สำคัญพวกเขาไม่ลืมติดตั้งเครื่องทำความร้อนฝังไว้ใต้พื้นกระเบื้อง เพื่อให้เท้าอบอุ่นตลอดปี
แม้ว่า Kay จะเป็นชาวลอนดอนโดยกำเนิด แต่เมื่อได้พบสามีผู้เป็นชาวเคนท์ เธอก็รู้ได้ทันทีว่า ชีวิตชนบทเป็นสิ่งที่เธอปรารถนาและยอมรับว่า
“ตอนนี้ฉันไม่ยอมเข้าไปอยู่ในเมืองอีกแล้ว การแสวงหาบ้านในชนบทเป็นสิ่งที่ต้องการจริงๆ และเมื่อได้พบคุณจะรู้ได้ทันทีว่านั่นคือสิ่งที่ใช่ เหมือนกับที่เรารู้สึกตั้งแต่แรกแล้วว่า กระท่อมหลังนี้คือสิ่งที่รอคอย และไม่คิดจะย้ายไปอยู่ที่ไหนอีก”