วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “ซันโทรี่-คิริน” สยายปีก ปรับกลยุทธ์กินเค้กเออีซี

“ซันโทรี่-คิริน” สยายปีก ปรับกลยุทธ์กินเค้กเออีซี

 

การเข้ามาร่วมทุนของบริษัท ซันโทรี่ ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่อ 6 ปีก่อน มีแผนการใหญ่ชัดเจน เพื่อสยายปีกรุกธุรกิจเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการเปิดตัวสินค้าและปูพรมสู่ประเทศต่างๆ
 
ล่าสุด ซันโทรี่โฮลดิ้งส์เตรียมแผนหวังระดมทุนครั้งใหญ่จากตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น เพื่อเร่งรัดเดินเกมบุกตลาดทั่วโลก รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ “เออีซี”  ซึ่งถือเป็นเค้กก้อนใหญ่มูลค่ามหาศาลจากจำนวนประชากรมากกว่า 600 ล้านคน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ซันโทรี่ถือเป็นบริษัทเครื่องดื่มของญี่ปุ่นที่เก่าแก่กว่า 100 ปี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโอซากา เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น รวมถึงขยายธุรกิจเป็นผู้นำด้านเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์หลายประเภทภายใต้แบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอาหารสุขภาพ ร้านอาหารจานด่วน ร้านอาหารและร้านดอกไม้ มีเครือข่ายธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มียอดขายรวมมากกว่า 1,851,000 ล้านเยน  ซึ่งการร่วมทุนกับทิปโก้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการธุรกิจเครื่องดื่มอย่างมาก
 
แต่การเปิดตัวสินค้าภายใต้ความร่วมมือกันกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว “มิเรอิ” หรือฟังก์ชันนอลดริงค์อย่าง “ดาการะ” และ “เบิร์น” โดยเฉพาะ “มิเรอิ” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ซันโทรี่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดอาเซียนและเปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2554  เนื่องจากมองตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในไทยมีการเติบโตสูงต่อเนื่องและเชื่อในจุดแข็งด้านช่องทางจำหน่ายของทิปโก้ ขณะที่ซันโทรี่มั่นใจเรื่องคุณภาพ รสชาติ ซึ่งผ่านการพัฒนามาอย่างเข้มข้น โดยตั้งเป้ายอดขายปีแรก 1,000 ล้านบาท และต้องการเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในตลาดชาเชียว
 
หากยุทธศาสตร์ “มิเรอิ” ประสบความสำเร็จจะเป็นโมเดลต้นแบบในการส่งสินค้าตัวใหม่ๆ โดยทิปโก้ทำหน้าที่สร้างแบรนด์และทำการตลาด ส่วนซันโทรี่ใช้ความเชี่ยวชาญของทีมงานด้านการวิจัย วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คัดเลือกสินค้ามาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้น
 
เมื่อการบุกตลาดชาเขียวไปไม่ถึงดวงดาวทำให้ “ซันโทรี่” ต้องปรับกลยุทธ์ลงทุนสร้างฐานในประเทศต่างๆ ในอาเซียน และส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดโดยตรง ทั้งที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่ทิปโก้อาศัยเครือข่ายของซันโทรี่ในการส่งออกน้ำผลไม้ 100% เพื่อขยายตลาดส่งออกระดับพรีเมียม
 
เอกพล พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทส่งออกน้ำผลไม้แท้ 100% ไปยังทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเกาหลี ตะวันออกกลาง และจีน โดยประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพสูงสุด คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งทิปโก้เตรียมเปิดฐานการผลิตเพิ่มที่เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั้งในรูปแบบการร่วมทุนกับซันโทรี่ หรือร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นในอาเซียนผ่านเครือข่ายของซันโทรี่
 
“หากซันโทรี่สามารถเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้จะมีการระดมทุนจำนวนมาก มีการขยายการลงทุน ขยายตลาด ซึ่งทิปโก้สามารถอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและเอเชีย จากขณะนี้บริษัทมีสัดส่วนการส่งออก 15% จะเพิ่มเป็น 25-30% และอาจมีการส่งสินค้าในเครือซันโทรี่เข้ามาทำตลาดหรือใช้ไทยเป็นฐานการผลิต”
 
ทั้งนี้ การเรียนรู้จากประสบการณ์และบทเรียนในการทำตลาดเชื่อว่า ยักษ์ใหญ่รายนี้จะสร้างสีสันและปล่อยกลยุทธ์น่าจับตา เพราะยังมีเครื่องดื่มอีกหลายตัวในพอร์ต ทั้งกลุ่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์
 
เช่นเดียวกับ “คิรินกรุ๊ป” ซึ่งจัดเป็นคู่แข่งสำคัญในญี่ปุ่น อายุมากกว่า 100 ปีไม่ต่างกัน ทำธุรกิจหลากหลายทั้งโลจิสติกส์ วิศวกรรม ภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ยา อาหารเสริม และเครื่องดื่ม  โดยถือเป็นบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มน้ำ  ชา กาแฟ น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์  มีเครือข่ายทั่วโลก เช่น อเมริกา บราซิล อังกฤษ อิตาลี อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส  สิงคโปร์  จีน เวียดนาม ไต้หวัน  เกาหลี ฟิลิปปินส์ และไทย
 
แผนของคิรินในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา พยายามกวาดสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกเข้ามาเพิ่มในพอร์ตมากขึ้น นอกจากแบรนด์ของตัวเองอย่าง ได้แก่  Kirin Lager Beer, Kirin Free, Kirin Chu- Hi, Ichiban Shibori, Tanrei Nama, Fire, Namacha และ Gogo no Kocha
 
3 ปีก่อน เคยพยายามเจรจาซื้อกิจการซันโทรี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและเปลี่ยนแผนไปกวาดซื้อหุ้น “ซานมิเกลคอร์ป” เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ  เพิ่มผลกำไรและชดเชยยอดขายเบียร์ในญี่ปุ่นที่หดตัว โดยพุ่งเป้ามาที่ตลาดอาเซียน ซึ่งการซื้อหุ้นในซานมิเกล บริวเวอรี่ สามารถยึดครองส่วนแบ่ง 95% ของตลาดเบียร์ในฟิลิปปินส์ และการซื้อธุรกิจผลิตเบียร์ของซานมิเกล คอร์ป ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ สามารถรุกตลาดจีนและภูมิภาคอาเซียน ได้แบรนด์ดัง Lowenbrau และ Stella Artois โรงงานผลิตเบียร์ 2 แห่งในจีน รวมถึงโรงงานผลิตเบียร์ในอินโดนีเซีย ฮ่องกง ไทย และเวียดนาม
 
แน่นอนว่า ซันโทรี่และคิรินถือเป็นทุนข้ามชาติในสมรภูมิเครื่องดื่มที่จะเข้ามาสยายปีกแข่งขันกับเครือไทยเบฟเวอเรจของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งเพิ่งจบดีลซื้อกิจการอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ “เฟรเซอร์แอนด์นีฟ” หรือ “เอฟแอนด์เอ็น” และเตรียมขนสินค้าเข้ามาทำตลาดล็อตใหญ่ ลุยทั้งตลาดไทยและอาเซียน
 
แค่นึกภาพก็ดุเดือดเลือดพล่านแล้ว