หลังจาก 2 ค่ายน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไทยปักธงเปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่ในอาเซียนเมื่อปลายปี 2555 เพื่อขยายแนวรบรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงทุนผุดปั๊ม Platinum ตามแนวคิด PTT Life Station ที่มีบริการครบวงจรแห่งแรกในกรุงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ศูนย์บริการล้างอัดฉีดและตรวจเช็กระบบแอร์รถ ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ร้านค้าแบรนด์ท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อและบริการด้านการเงิน
ขณะที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จับมือกับคู่ค้าในพม่า รีแบรนดิ้งเปิดปั๊มบางจากในจังหวัดเมียวดีเป็นแห่งแรก
ปี 2556 ต้องถือเป็น “Big Step” ในการเปิดเกมรุกขยายสาขาชนิดปูพรมเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะ ปตท. กำลังพยายามมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนเร็วกว่ากำหนดที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ. 2020 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ปตท. วางแผน 5 ปีแรกขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 270 แห่ง งบลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว( สปป. ลาว) จากปัจจุบันเปิดแล้ว 20 แห่ง จะขยายเป็นไม่ต่ำกว่า 60 แห่ง กัมพูชา ปัจจุบันมี 14 แห่ง จะขยายเป็น 45 แห่ง ฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมี 50 แห่ง จะขยายเป็น 130 แห่ง และพม่า ซึ่งถือเป็นประเทศเปิดใหม่ ตั้งเป้าขยายให้ได้ 40 แห่ง
ล่าสุด ประกาศทุ่มงบลงทุนทุกกลุ่มธุรกิจของเครือ ระหว่างปี 2556-2560 จำนวน 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบเฉพาะของ ปตท. ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 50% จะใช้ในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้งธุรกิจน้ำมันครบวงจร การสำรวจและผลิตน้ำมัน โครงการปิโตรเคมีขนาดใหญ่
สรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียน ลาวถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากและมีพื้นฐานด้านธุรกิจน้ำมันค่อนข้างดี เพราะในอดีตเป็นประเทศที่มีบริษัทน้ำมันต่างชาติครบทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็นเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ รวมถึง ปตท. แต่วันนี้บริษทน้ำมันต่างชาติกลุ่มไอโอซี (International Oil Company) ถอนการลงทุนทั้งหมด และขายกิจการปั๊มให้นักธุรกิจท้องถิ่นจนเหลือ ปตท. ปิโตรเวียดนาม และบริษัท เชื้อไฟลาว ที่เป็นเจ้าใหญ่ ซึ่ง ปตท. ถือเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงที่สุด
นอกจากนี้ การเลือกลงทุนปั๊มรูปแบบใหม่ที่ สปป. ลาว ถือเป็นการนำร่องการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็น Land Link ที่เชื่อมกับประเทศอื่นๆ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา และจีน ซึ่งเศรษฐกิจกำลังมีอัตราการเติบโตสูง
สำหรับกัมพูชา ซึ่ง ปตท. ฝังตัวอยู่นานเกือบ 20 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นในช่วงจังหวะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้าไปจัดการเลือกตั้งและมีการสั่งน้ำมันอากาศยานจาก ปตท. ซึ่งเปิดโอกาสให้เข้าไปขยายธุรกิจ สร้างคลังน้ำมันที่เมืองกัมปงโสม และเปิดปั๊มน้ำมันในกรุงพนมเปญ
ตามแผน ในต้นปี 2556 ปตท. จะเปิดสถานีบริการรูปแบบพาร์คในกรุงพนมเปญ ผนวกเอากลุ่มนอนออยล์ ทั้งร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนและร้านสะดวกซื้อจิฟฟีเข้าไปเจาะตลาดด้วย
ส่วนพม่าอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อศึกษาระบบกฎหมาย โครงสร้างระบบสาธารณูปโภค แต่การที่ ปตท. เข้าไปเจาะตลาดน้ำมันหล่อลื่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3 และคาดหวังว่าจะขึ้นเป็นผู้นำในเร็วๆ นี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ เนื่องจากการเจาะตลาดของบริษัทน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น ปตท. หรือบางจาก มักเริ่มต้นจากการทำตลาดน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งถือเป็นการสร้างแบรนด์ที่ง่ายและสามารถขยายผลให้การขายอย่างอื่นง่ายขึ้น
ด้านค่ายบางจาก แม้เป้าหมายการขยายสถานีบริการน้ำมันตามแผนโรดแมพ 3 ปี ระหว่างปี 2556-2558 มีจำนวนเพียง 20 แห่ง แบ่งเป็น สปป. ลาว 10 แห่ง พม่า 5 แห่ง และกัมพูชา 5 แห่ง แต่ถือเป็นแผน สเต็ปแรกเริ่มต้นจากศูนย์ เมื่อเทียบกับ ปตท. ที่มีฐานธุรกิจค่อนข้างแข็งแกร่งแล้ว
ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามแผนหลังจากเปิดปั๊มแห่งแรกที่เมืองเมียวดี ซึ่งร่วมมือกับนักธุรกิจท้องถิ่น บริษัท อ่อง นัง ทา เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบการกิจการปั๊มน้ำมัน ล่าสุด บริษัท อ่อง นังทา เทรดดิ้ง เสนอซื้อแฟรนไชส์จากบางจากเพื่อนำปั๊มเก่ามาปรับโฉมใหม่ภายใต้แบรนด์ “บางจาก” เพิ่มอีก 1 แห่งในเมืองเมียวดี และในเดือนมีนาคมนี้จะส่งทีมสำรวจพื้นที่ในเมืองย่างกุ้ง เพื่อเปิดปั๊มอีก 1 แห่ง
รูปแบบการขยายสาขาของบางจากจะไม่เน้นการลงทุนเองทั้งหมด แต่ใช้วิธีจับมือกับคู่ค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหรือเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันและซื้อขายแฟรนไชส์ รีแบรนดิ้งปั๊ม เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนและใช้เม็ดเงินไม่สูง คือเป้าหมาย 20 แห่ง ใช้งบลงทุนเพียง 30-40 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงต่อยอดนำธุรกิจกลุ่มนอนออยล์ ทั้งร้านกาแฟอินทนิล และร้านสะดวกซื้อขยายเข้าไปในปั๊ม
ส่วนการขยายสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่จะเริ่มลงทุนหลังเปิดเออีซีแล้ว โดยเน้นเมืองหลวง เมืองเศรษฐกิจ เช่น กรุงพนมเปญ ย่างกุ้ง ฯลฯ
“การเปิดปั๊มแห่งแรกในเมียวดี สามารถเพิ่มยอดขาย 10-20% เพราะชาวพม่ารู้จักแบรนด์บางจากผ่านการทำตลาดน้ำมันหล่อลื่น และถ้ามองกรอบการลงทุนในอาเซียน ระยะ 3-5 ปี ตรงนี้ถือเป็น Next Step ที่สามารถต่อยอดความเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม พลังงานลม แสงอาทิตย์ และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งโอกาสเปิดให้เราเข้าไปลงทุน หรือมองอีกมุมถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติของธุรกิจ เหมือนบริษัทข้ามชาติที่มีโอกาสแล้วขยายไปทั่วโลก 100 กว่าประเทศ” ยอดพจน์กล่าว
แนวรบเออีซีจึงถือเป็น “Big Step” ได้อย่างแท้จริง
เป้าหมายการขยายสถานีบริการน้ำมัน (จำนวนแห่ง) | ||
---|---|---|
ปตท. | บางจาก | |
(ปี 2555-2559) | (ปี 2556-2558) | |
พม่า | 40 | 5 |
ลาว | 60 | 10 |
กัมพูชา | 45 | 5 |
ฟิลิปปินส์ | 130 | – |