วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ บนกลยุทธ์ที่เติบโตอย่างมั่นคง

อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ บนกลยุทธ์ที่เติบโตอย่างมั่นคง

 
 
นับเป็นก้าวย่างสำคัญของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่ได้ฤกษ์งามยามดีเปิดโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 ไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ว่า บี.กริม เพาเวอร์ จะเป็นบริษัทในกลุ่ม บี.กริม ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศมายาวนานกว่า 139 ปี จังหวะก้าวเดินนับจากนี้ของ บี.กริม เพาเวอร์ดูจะเป็นไปเพื่อสร้างความสำเร็จอีกขั้นในธุรกิจโรงไฟฟ้า
 
“การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ด้วยการทำให้ลูกค้าเห็นความถึงศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่มีคุณภาพสูง และราคาต่ำกว่าคู่แข่ง นับเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า” ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ อธิบาย 
 
โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 4 และ 5 มีกำลังการผลิตรวม 262.2 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญด้านหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในการเลือกลงทุนสร้างโรงงาน เมื่อมองเห็นว่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมนั้นมีสาธารณูปโภคพื้นฐานคือ พลังงานไฟฟ้า และไอน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมการลงทุนของประเทศให้เติบโตมากขึ้น 
 
แม้ว่าปี 2558 และ 2559 บี.กริม เพาเวอร์จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปีนี้ที่ทำให้ บี.กริม เพาเวอร์ตัดสินใจเข้าตลาดหุ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุน และสร้างความมั่นคง อีกทั้งจะยังเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำกลุ่มผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในประเทศไทย
 
ทั้งนี้ “กลยุทธ์ที่อาจเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญให้ บี.กริม เพาเวอร์ขึ้นมาอยู่เหนือคู่แข่งได้คือ การมีทีมผู้บริหารและทีมงานที่มีความสามารถมากไปด้วยประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน การบริหารจัดการที่ดำเนินงานโดยทีมปฏิบัติการและทีมบำรุงรักษาของบริษัทฯ เอง การเลือกใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูง และเทคโนโลยีทันสมัย” ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อธิบาย 
 
บี.กริม เพาเวอร์ ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐมาอย่างยาวนานจากการเป็นผู้ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP มากถึง 17 โรง จากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม และสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP จำนวน 15 โรง จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์  
 
สัญญาการซื้อขายที่ บี.กริม เพาเวอร์ได้รับจาก กฟผ. และ กฟภ. น่าจะเป็นเครื่องการันตีที่ช่วยสร้างความน่าสนใจ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจให้แก่อุตสาหกรรมของลูกค้า
 
ตลอดเวลา 139 ปีที่กลุ่ม บี.กริม เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย คีย์หลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” มี 3 ข้อหลักๆ คือ 1. การบริหารจัดการที่ดี 2. การมีผู้นำที่ดี และ 3. ต้องรู้จักที่จะปรับตัวตามสภาพสังคมในช่วงเวลานั้นๆ 
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ได้เปิดดำเนินการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วรวมทั้งสิ้น 28 โรง โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,626 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไอน้ำ 350 ตันต่อชั่วโมง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 12 โรง โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 15 โรง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 โรง 
 
แต่ที่น่าสนใจคือแผนการในอนาคตที่บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ที่บอกว่าตัวเองเป็นเพียงผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก คือการคาดหมายว่าภายในปี 2564 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้บริหาร บี.กริม เพาเวอร์ คาดว่าจะมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,383.3 เมกะวัตต์ ซึ่งหมายถึงอัตราการเติบโตที่เป็นเป้าหมายสำคัญคือ 50 เปอร์เซ็นต์ 
 
ซึ่งแม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะมีวี่แววที่ยังสดใสอยู่ หากแต่การตั้งเป้าหมายเช่นนั้นถือว่าไม่ธรรมดา กระนั้นกำลังการผลิตรวม 2,383.3 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2,137.5 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 114.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 102.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 16.0 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 13.0 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำรวม 500.0 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 59,000 ล้านบาท 
 
นอกจากนี้ ปรียนาถยังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ให้ได้ภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่ บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ใน สปป. ลาวมากถึง 9 โครงการ 
 
แผนการในอนาคตของ บี.กริม เพาเวอร์ ในปีอีก 5 ปีข้างหน้า ประกอบกับแนวทางนโยบายจากบริษัทแม่อย่าง กลุ่ม บี.กริม พร้อมกับทัศนคติในการบริหารงานของผู้บริหารระดับสูง น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน นอกจากนี้การได้รับสัมปทานโรงไฟฟ้าในประเทศกลุ่ม AEC น่าจะเป็นตัวหนุนนำให้ บี.กริม เพาเวอร์ ก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าบนเวทีที่มีคู่แข่งในธุรกิจโรงไฟฟ้าได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ 
 
ห้วงเวลาที่สถานการณ์พลังงานไทยกำลังเรียกร้องหาความมั่นคง และการเติบโตขึ้นของบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กท่ามกลางกระแสดังกล่าว จะเป็นไปอย่างไรยังเป็นเรื่องที่น่าติดตาม