วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เปิดบทเรียนแนวคิดธุรกิจ กับ “วรัตต์ วิจิตรวาทการ”

เปิดบทเรียนแนวคิดธุรกิจ กับ “วรัตต์ วิจิตรวาทการ”

 
 
จากจุดเริ่มต้นของร้านกาแฟเล็กๆ ขนาด 12 ที่นั่ง เมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้วในนาม OHANA ซึ่งมีความหมายในภาษาท้องถิ่นฮาวายว่า “ครอบครัว” จังหวะแห่งการก้าวเดินบนหนทางสายธุรกิจของ วรัตต์ วิจิตรวาทการ ในวันนี้ได้เปลี่ยนผ่านประสบการณ์และการเคี่ยวกรำ มาสู่ ROAST และแตกหน่อไปสู่ Roots แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการเป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้ง The Commons คอมมูนิตี้มอลล์ที่ให้ภาพความแตกต่างไปจากบริบทเดิมๆ ของย่านทองหล่อ
 
ต้นทุนเบื้องต้นที่มาจากความสนใจและตั้งใจที่จะนำเสนออาหาร เครื่องดื่ม และกาแฟ ที่แตกต่างไปจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไปสู่ผู้บริโภค กลายเป็นปฐมบทแห่งการเดินทางบนถนนสายธุรกิจที่มีการเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ และมั่นคง ก่อนที่จะขยับขยายควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในความสามารถและมีความน่าเชื่อถือ ไม่เฉพาะกับสมาชิกในครอบครัว หากยังรวมถึงผู้สนใจร่วมลงทุนรายอื่นๆ หรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินที่จะหยิบยื่นเงินลงทุนในการขยายกิจการ
 
“ผู้ประกอบการบางรายอาจเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยความพยายามมองหาหรือให้ความสำคัญกับผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพทางการเงิน โดยละเลยที่จะพิจารณาในมิติของเป้าหมาย ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องธุรกิจ แต่เป็นการตั้งคำถามถึงเป้าหมายในชีวิตก่อน แล้วค่อยเลือกที่จะทำในสิ่งหนุนนำเราไปสู่จุดนั้นได้”
 
การเกิดขึ้นของ The Commons ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา อาจสะท้อนภาพทัศนะและแนวความคิดที่ว่านี้ของวรัตต์ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในมุมมองของวรัตต์ การเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ที่แม้จะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ROAST ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการกล่าวถึงในวงกว้าง ที่ดำเนินควบคู่กับการเติบโตแบบ organic แต่ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจที่ว่านี้ จะสามารถสร้างรายได้หรือผลกำไรในปริมาณที่มากพอสำหรับการระดมทุนเพื่อก่อสร้าง The Commons เป็นแน่
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ด้วยทำเลของสถานที่ในซอยทองหล่อ ซึ่งเปี่ยมด้วยศักยภาพและเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์หลากหลาย หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการร้านอาหารรายอื่นๆ ที่พร้อมจะเบียดแทรกเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดหน้าสัมผัสทางธุรกิจให้กว้างขวางออกไป ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงมูลค่าและระดับราคาในการเช่าหรือซื้อที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นความมั่งคั่งให้กับเจ้าของที่ดินได้ไม่ยากนัก
 
แต่ความเป็นไปของ The Commons อาจเป็นประหนึ่งเรื่องราวแห่งโชคชะตาที่ได้กำหนดไว้ เพราะเมื่อที่ดินผืนนี้ว่างลงหลังจากที่สัญญาการเช่าทำร้านอาหารในพื้นที่เดิมสิ้นสุดลง วรัตต์ได้รับการเชิญชวนมิตรสหายที่ทำร้านอาหารดังกล่าวให้เข้าไปสำรวจเครื่องครัวเครื่องเรือนในร้าน แต่ความสนใจของวรัตต์กว้างไกลไปกว่านั้น และได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ที่จะขอเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้เป็นรายต่อไป
 
“เราขอโอกาสที่จะได้พบกับเจ้าของที่ดิน แม้เราจะตระหนักดีว่าที่ดินแปลงนี้คงมีการเสนอราคาและเงื่อนไข ที่เราคงไม่สามารถสู้หรือแข่งขันได้เลย หากประเมินในมิติของผลตอบแทนทางการเงิน แต่เราเชื่อว่าหากเราได้มีโอกาสเสนอแนวความคิดถึงสิ่งที่เราจะลงมือทำ อาจทำให้เจ้าของที่ดินสนใจได้บ้าง”
 
ความตั้งใจจริงของวรัตต์ และวิชรี วิจิตรวาทการ พี่สาวของเขาในวันนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้สูญเปล่า เพราะนอกจากจะได้รับการตอบกลับด้วยข้อเสนอที่ดีกว่าที่พวกเขาตั้งความหวังไว้แล้ว โดยนอกจากจะเปิดพื้นที่ให้เช่าด้วยสัญญาระยะยาว 15 ปีแล้ว เจ้าของที่ดินแปลงนี้ยังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มผู้ร่วมลงทุนในโครงการที่เป็นประหนึ่ง “การขายฝัน” ของวรัตต์และวิชรี พร้อมๆ กับการได้ผู้ร่วมลงทุนส่วนบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งด้วย
 
ความเชื่อ ความตั้งใจจริง ประกอบส่วนกับวิสัยทัศน์ของเจ้าของที่ดิน ที่ต่างตั้งความหวังที่จะประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นการคืนกำไรหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว แต่นั่นคงเป็นไปไม่ได้หากความชัดเจนทางความคิดที่มีต้นร่างมาจากทั้งวรัตต์และวิชรี ที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานมาก่อนหน้านั้นมากกว่า 5 ปี
 
แนวความคิดที่จะสร้าง The Commons ซึ่งมีความชัดเจนอยู่ในความคิดคำนึงของวรัตต์และวิชรี กลายเป็นภาพร่างที่อุดมด้วยรายละเอียดกว่า 60หน้ากระดาษ A4 และทำให้การถ่ายทอดไปสู่รูปธรรมที่ชัดเจนในขั้นตอนการออกแบบของอมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิกจาก Department of Architecture ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของโครงการ แต่นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปจบออกมาจากแบบร่างในหน้ากระดาษให้สำเร็จเป็นตัวอาคารที่ปรากฏขึ้นจริง
 
เพราะภายใต้ความประสงค์ที่จะสร้างและเปิดพื้นที่สำหรับการเป็น community มากกว่าที่จะมีสถานะเป็นเพียง shopping mall อีกแห่งในทองหล่อ ทำให้วรัตต์และวิชรีมีภาระในการอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ร่วมลงทุน และสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยสัดส่วนและปริมาณของพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่เช่า ที่ดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางที่สวนทางกับมิติความคิดและความเข้าใจของนักการเงินทั่วไป ซึ่งกรณีที่ว่านี้ทำให้โครงการ The Commons ปรากฏตัวออกสู่สาธารณะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์และควรจะเป็นไปเป็นปี
 
ขณะที่กระบวนการก่อสร้างซึ่งดำเนินไปในช่วงเปลี่ยนผ่านของข้อกำหนดทางกฎหมายที่จำกัดให้ The Commons มีพื้นที่ใช้สอยได้เพียง 5,000 ตารางเมตร ทำให้ต้องตัดพื้นที่อาคารจอดรถจำนวน 100 คันที่วางผังไว้เป็นอาคารใต้ดินออก และทำให้ประเด็นว่าด้วยที่จอดรถของ The Commons กลายเป็นต้นทุนแฝงที่ผู้บริหารต้องตามมาแก้ไขโจทย์ข้อนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการแสวงหาพื้นที่เช่าทำที่จอดรถ หลังจากที่ปัญหานี้ส่งผลให้ลูกค้าของที่นี่จำนวนหนึ่งไม่ได้รับความสะดวกในช่วงที่ผ่านมา
 
ทัศนะที่น่าสนใจมากประการหนึ่งของวรัตต์ แม้จะผ่านประสบการณ์และอาจกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในการนำพา ROAST Roots ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการกล่าวถึง ก่อนที่จะมาสู่การเป็นผู้ร่วมริเริ่มและบริหาร The Commons ในวันนี้ ก็คือ ความพยายามที่จะบริหารธุรกิจภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด ซึ่งทำให้นักธุรกิจหนุ่มรายนี้ ดำเนินชีวิตธุรกิจไปบนฐานของความคิดสร้างสรรค์ การเน้นที่จะดึงจุดเด่นและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งถือเป็นพลังในการขับเคลื่อนธุรกิจในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังกล่าวถึง ธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่น้อยเลย
 
นอกจากนี้ วรัตต์ยังเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับการสร้าง “ทีม” ซึ่งมีความหมายกว้างไกลไปกว่าการมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น หาก “ทีม” ในความหมายของเขาคือการสร้างองคาพยพของกลุ่มผู้คนที่มีความคิด และความตั้งใจเดียวกัน โดยเฉพาะในมิติของความตั้งใจที่จะเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน
 
“แน่นอนว่า ทีม คือคนที่มาทำงานร่วมกับเรา แต่ที่สำคัญกว่านั้น คนที่มีความเชื่อคล้ายๆ เรา มีความตั้งใจจริงต่อสิ่งที่กำลังจะทำพอๆ กับเรา เพราะอาชีพนี้หากประเมินจากภาพนอกอาจให้ภาพที่สวยงาม แต่จริงๆ แล้วอาชีพนี้เหนื่อยมาก ใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
 
การสื่อสารที่ต่อเนื่อง สม่ำเสมอและชัดเจน ที่สำคัญมีความจริงใจทั้งในมิติของเป้าประสงค์ที่จะดำเนินไป การร่วมไปลงมือปฏิบัติให้เห็นประจักษ์ กลายเป็นกลไกในการสร้างแรงจูงใจและบันดาลใจ ให้ทุกคนในทีม ตระหนักและเข้าใจถึงภารกิจที่มีร่วมกันไปโดยปริยาย
 
ขวบปีที่ผ่านมาของ The Commons ย่อมไม่อาจเป็นบทสรุปแห่งความสำเร็จ หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของวรัตต์ วิจิตรวาทการ ที่พร้อมจะรีเฟรชและเติมเต็มประสบการณ์ครั้งใหม่ให้กับทั้งตัวเขาเองและ The Commons ชุมชนใหม่ที่กำลังจะขยายตัวออกไปนับจากนี้