วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > 5 สิ่งที่ชาวต่างชาติเรียนรู้หลังมาเปิดออฟฟิศในอาเซียน

5 สิ่งที่ชาวต่างชาติเรียนรู้หลังมาเปิดออฟฟิศในอาเซียน

ปัจจุบันบริษัทสตาร์ทอัพในยุโรปจำนวนมากกำลังทยอยขยายตลาดมาสู่อาเซียนมากขึ้น หลังจากที่ยอดขายบนโลกออนไลน์ของภูมิภาคนี้อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก

Saleduck ก็เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพคูปองออนไลน์จากยุโรปที่เลือกแลนด์ดิ้งที่ประเทศมาเลเซีย และใช้ออฟฟิศแห่งนี้เป็นฐานบัญชาการโดยจ้างพนักงานหลายๆ ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาทำงานที่สำนักงานแห่งนี้

 แต่ภายหลังจากเริ่มเปิดออฟฟิศไประยะหนึ่ง General Manager ของ Saleduck อย่างโรซานน์ ฮอร์เทนเชียส ก็พบว่า มีหลายสิ่งที่เธอเข้าใจผิด ทำผิดพลาดและขาดความเข้าใจ จนกระทั่งได้เรียนรู้เพิ่มเติมภายหลังจากเริ่มตั้งออฟฟิศที่ประเทศแห่งนี้

 ในบทความนี้โรซานน์ได้มาแชร์ประสบการณ์บอกเล่าสำหรับคนที่เริ่มทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อที่จะเป็นแบบอย่างให้กับนักธุรกิจ หรือกลุ่มคนอื่นที่สนใจ หรือเลือกจะมาขยายออฟฟิศในต่างประเทศ

1. เรื่องสวัสดิการและสิทธิประโยชน์

โรซานน์เผยว่าสิ่งหนึ่งที่ออฟฟิศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แตกต่างจากออฟฟิศในยุโรป ก็คือวัฒนธรรมสวัสดิการในออฟฟิศ โดยในยุโรปนั้น พนักงานจำนวนมากชื่นชอบสวัสดิการ เช่น ขนมนมเนย มุมกาแฟสด และอีเวนท์อย่างเช่นการออกไปรับประทานอาหารร่วมกันในคืนวันศุกร์ แต่นั่นไม่ใช่กับในประเทศมาเลเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อพนักงานส่วนใหญ่ต้องการจะใช้เวลาในวันศุกร์ร่วมกับครอบครัว และเพื่อนฝูงของเขาเอง ไม่ใช่กับพนักงานในออฟฟิศ

 ขณะเดียวกันการชักชวนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามให้ออกไปดื่มแอลกอฮอล์ด้วยกันแทบเป็นไปไม่ได้ในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก รวมถึงอาหารที่ผู้นับถือศาสนาแตกต่างกัน มักจะต้องการประเภทอาหารที่ต่างกันออกไป จนหลายครั้งเป็นเรื่องยากที่จะรับประทานอาหารร่วมกันได้อย่างหลากหลาย

 นอกจากนี้บริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่มีสวัสดิการเป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงคนในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่หาได้ยากในยุโรป โดยหลังจากเปิดเว็บไซต์ภาคภาษาไทย ก็ได้เรียนรู้ว่าบริษัทจำนวนมากไม่เฉพาะเพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ที่มีสวัสดิการในทำนองเดียวกันให้ด้วย

2. ค้นหาผู้มีประสบการณ์ผิดที่

สิ่งถัดมาที่ทำผิดพลาดก็คือการพยายามหาผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำการตลาดออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซมาอย่างยาวนาน เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่งบูมในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นการหาคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ทาง Saleduck จึงเปลี่ยนแผนมารับบุคคลที่เรียนรู้เร็วและมีความตื่นตัวที่ดี และหากมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับบริษัทออนไลน์ดังๆ อย่างเช่น Lazada หรือ Agoda ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก รวมทั้งพร้อมที่จะทำงานอย่างอิสระภายใต้การสอนจาก General Manager และนั่นทำให้กระบวนการคัดเลือกพนักงานนั้นเสร็จเร็วขึ้น และได้บุคลากรถึง 14 คนมาทำงานในระยะเวลาอันสั้น

3. ลัดขั้นตอนในการเจรจาทางธุรกิจ

ในทวีปยุโรปนั้นเป็นเรื่องธรรมดามากที่จะเข้าไปพบปะพูดคุย หรือเจรจาธุรกิจแบบตรงไปตรงมาถึงเป้าหมายและสิ่งที่ต้องการจากคู่เจรจา แต่ในทางกลับกันที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะต้องผ่านการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ และต้องมีโทนเสียงที่ดีในการเจรจา จากประสบการณ์ในการเจรจากับพาร์ทเนอร์ในประเทศอินโดนีเซีย พบว่าการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาในการพบกันครั้งแรก สร้างความอึดอัดใจให้แก่คู่เจรจาเป็นอย่างมาก และหลังจากนั้นจึงได้เรียนรู้วัฒนธรรมการติดต่อกันของคนในภูมิภาคนี้ทีละเล็กทีละน้อยจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ และการตัดสินใจทางธุรกิจมักเกิดขึ้นในการเจรจาครั้งที่สองหรือครั้งที่สามขึ้นไป ซึ่งไม่แตกต่างจากการเจรจาทางธุรกิจในประเทศไทย ที่คู่เจรจามักสนใจที่จะพบและพูดคุยแบบพบปะซึ่งหน้ากันมากกว่าการพูดคุยทางโทรศัพท์ หรืออีเมลเพียงอย่างเดียว และกว่าจะไปถึงขั้นตอนของการเจรจาเรื่องผลประโยชน์นั้น คู่เจรจาต้องมีความรู้สึกสนิทกับอีกฝ่ายก่อน

4. ระยะเวลาผ่านโปรนานเกินไป

ระยะเวลาในช่วงโปรเบชั่น หรือการทดลองงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะอยู่ที่ราว 3 6 เดือน และแจ้งล่วงหน้า 3 วันก่อนที่จะลาออกในช่วงทดลองงาน ซึ่งท้ายที่สุดก็พบว่าการแจ้งล่วงหน้า 3 วันนั้น มีปัญหาอย่างมากสำหรับบริษัทเอง

โดยครั้งหนึ่งในช่วงระยะเวลาทดลองงานเดือนที่สองของ Developer คนหนึ่ง เกิดตัดสินใจรับตำแหน่งในบริษัทอื่น ซึ่งสร้างปัญหาทำให้งานไอทีของเว็บไซต์สะดุดทันที เพราะบุคคลคนนี้รับผิดชอบงานที่สำคัญจำนวนมาก

ดังนั้นในตอนนี้ทางบริษัทจึงได้เปลี่ยนระยะเวลาแจ้งล่วงหน้าเป็น 2 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาซ้ำรอยเดิม และทำให้บริษัทมีเวลาเพียงพอที่จะจ้างบุคคลที่เข้ามาทดแทนกันได้

5. การติดต่อที่แตกต่างกัน

ข้อนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองตระหนักว่าขณะนี้ทำงานอยู่ในเอเชีย ไม่ใช่ทวีปยุโรปก็คือลักษณะการติดต่อ โดยในทวีปยุโรปงานเอกสาร และการแจ้งต่างๆ จะทำโดยอีเมลเท่านั้น ซึ่งน้อยครั้งมากที่จะโทรศัพท์หากัน แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นเรื่องตรงข้ามกัน เพราะการส่งอีเมลติดต่อนั้น ผู้รับไม่ได้สนใจที่จะเปิดอ่าน หรือตรวจสอบเท่าที่ควร บางครั้งส่งแล้วก็เงียบหายไป ดังนั้นการโทรศัพท์หากันจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการติดต่อ เพราะมั่นใจได้แน่นอนว่าจะได้พูดคุยเจรจา และติดต่อกันแม้จะพูดคุยเป็นระยะเวลาอันสั้นก็ตาม 

ท้ายที่สุดสิ่งที่ปรากฏก็คือร้านค้าชื่อดังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างพร้อมใจกันร่วมนำเสนอส่วนลดให้แก่ Saleduck ทั้งคูปองส่วนลดสินค้า และคูปองส่วนลดสำหรับการท่องเที่ยว จนเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และหวังว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนสำหรับการพัฒนาตัวเองและบริษัท สำหรับการตั้งออฟฟิศในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม