วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > The Global Link > Women in Wonderland > ภาวะตั้งครรภ์ไม่ได้–ผลกระทบที่เกิดจากสงคราม

ภาวะตั้งครรภ์ไม่ได้–ผลกระทบที่เกิดจากสงคราม

ทุกวันนี้โลกของเรามีสงครามหรือการปะทะกันของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศซีเรีย โซมาเลีย อัฟกานิสถาน และโคลัมเบีย การต่อสู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจและการเมืองในพื้นที่นั้นๆ แต่ยังส่งผลถึงสภาพจิตใจของผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย

คงไม่มีใครที่อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีการปะทะกัน แต่เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผู้คนเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับสภาวะตึงเครียดเรื่องความปลอดภัยจากอันตรายๆ ต่างที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการโดนลูกหลงจากการต่อสู้ การถูกจับเป็นตัวประกัน หรือการถูกข่มขืนจากฝ่ายตรงข้าม และในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดก็อาจจะเสียชีวิตได้

การที่ต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียดเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ถ้าหากสงครามที่เกิดขึ้นไม่ได้ใช้เวลานานเท่าไหร่ สุขภาพของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ก็ไม่น่าที่จะย่ำแย่มาก แต่ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควรในการเยียวยาจิตใจของผู้คน แต่ถ้าหากสงครามยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ก็คงไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า ผู้คนที่จะต้องทนอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นจะมีสภาพเป็นเช่นไร

สงครามที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้นั้นมีอยู่หลายสงครามด้วยกันที่เป็นสงครามยืดเยื้อ และไม่มีทีท่าว่าสงครามจะยุติลงเมื่อไร ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจาตกลงกัน ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

อย่างเช่นสงครามที่ประเทศคองโก ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2541 และยังคงมีต่อมาเรื่อยๆ แต่สลับปรับเปลี่ยนพื้นที่เกิดขึ้น หรืออย่างที่ประเทศอินเดีย ที่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินเดียกับกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันมาตั้งแต่ปี 2510 หรืออย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเองก็เช่นกัน ที่ปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2547

สงครามยืดเยื้อเหล่านี้ ล้วนมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ไม่เพียงแต่อาหาร น้ำสะอาด และยารักษาโรค ที่จะกลายเป็นของหายาก แต่สภาพจิตใจของผู้คนที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือความหวาดกลัวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้สภาพจิตใจของผู้คนเกิดความหดหู่ไปด้วย และถ้าหากสภาพจิตใจของผู้คนเหล่านี้ถูกทิ้งให้เผชิญอยู่กับความเศร้าและความเครียดเป็นเวลานาน โดยที่ไม่ได้รับการรักษา ในที่สุดผู้คนเหล่านี้ก็จะมีสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ตามไปด้วย

ภาวะที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่เมืองศรีนคร (Srinagar) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เนื่องจากภาวะความเครียดสูงจากการเกิดสงคราม

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า พื้นที่ในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์ (Jammu–Kashmir) นั้นมักจะเกิดสงครามและมีการปะทะกันระหว่างประเทศอินเดียและปากีสถานอยู่เป็นประจำ เพราะทั้งสองประเทศต่างก็ยืนยันว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นของตน ทำให้เกิดการปะทะกันอยู่หลายครั้ง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ทั้งสองประเทศจะมีการแบ่งพื้นที่การปกครองในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์แล้ว ซึ่งพื้นที่ประมาณ 43% ในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์ เป็นของอินเดีย และอีก 37% เป็นของปากีสถาน แต่ก็ยังคงมีการปะทะกันอยู่บ้างระหว่างทั้งสองประเทศ

ถึงแม้ว่าการปะทะกันระหว่างทั้งสองประเทศจะไม่ได้เกิดขึ้นทุกเดือน แต่การที่มีการต่อสู้เกิดขึ้นในเกือบทุกปี และเป็นเวลานานประมาณ  65 ปี ก็ทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยในแคว้นนี้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแคว้นนี้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

ในทางการแพทย์ได้อธิบายสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ก็เพราะ พวกเธอเหล่านี้เป็นโรคภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงเกินกว่าปกติ และเมื่อร่างกายของเรามีฮอร์โมนชนิดนี้สูงเกินไปทำให้เป็นสาเหตุของปัญหาเรื่องผิวหน้ามัน มีสิวมาก และการมีบุตรยาก  นอกจากนี้ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบยังเกิดขึ้นเพราะมีอาการไม่ตกไข่เรื้อรัง ทำให้ประจำเดือนที่มาในแต่ละรอบมีระยะห่างกันค่อนข้างมาก หรือในบางคนอาจจะทำให้ประจำเดือนขาดไปเลย*

ดอกเตอร์ Ashraf Ganaie ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ ได้ทำการศึกษาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ผู้หญิงในแคว้นจัมมู-แคชเมียร์เกิดอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่า มากกว่า 90% ของผู้หญิงในแคว้นนี้มีอาการของโรคนี้ก็เพราะพวกเธอมีความเครียดสูงมากเกินไป ซึ่งอาจมาจากการตกใจอย่างรุนแรง ความหวาดกลัว วิตกกังวล และความโศกเศร้า อย่างเช่นพวกเธออาจจะเจอสถานการณ์ที่ทำให้เสียใจมากๆ หรือเกิดอาการตกใจอย่างรุนแรง และความเครียดเหล่านี้ทำให้ระบบการทำงานของรังไข่ผิดปกติ จนในที่สุดพวกเธอก็ไม่สามารถที่จะตั้งครรภ์ได้ ในขณะที่อีก 10% ที่เหลือนั้นมีอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบเพราะรังไข่ของพวกเธอเกิดอาการล้มเหลวก่อนกำหนด ซึ่งหมายความว่ารังไข่ของพวกเธอไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติก่อนที่จะถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจจะถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาแล้ว

ดอกเตอร์ Ashraf ได้อธิบายเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้เพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้มีการปะทะกันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทำให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลานาน และความเครียดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่นการมีระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ และสภาวะการมีบุตรยาก อย่างที่เราทราบกันดีว่าการที่จิตใจต้องเผชิญกับความเครียดหรือความเสียใจเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย

การที่ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในแคว้นนี้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเธอมากทีเดียว เพราะผู้คนที่อาศัยอยู่ในแคว้นนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งถือว่าถ้าพวกเธอไม่สามารถมีบุตรได้ ก็เหมือนกับว่าพวกเธอถูกพระเจ้าลงโทษ ดังนั้นการตั้งครรภ์สำหรับพวกเธอจึงมีความสำคัญมาก และสถานการณ์การตั้งครรภ์ไม่ได้ของผู้หญิงในแคว้นนี้เริ่มจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และรุนแรงมากขึ้น

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักข่าว Aliya Bashir ได้เดินทางเข้าไปที่เมืองศรีนคร และได้สัมภาษณ์ Ishrat Hussain ที่แต่งงานมาได้ 2 ปีแล้ว และมีอาการของโรคภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ทำให้เธอไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

Hussain ได้เล่าให้นักข่าวฟังว่า “การที่ชีวิตของเธอไม่สามารถมีลูกได้นั้น ทำให้เธอรู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่แห้งแล้งและไม่มีความหวังใดๆ”  Hussain ยังบอกอีกว่า เธอคิดว่าสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เธอไม่สามารถมีลูกได้ ก็เพราะความเครียดที่เธอมีสะสมมานานตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก และความเครียดเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจนถึงทุกวันนี้เธอก็ยังไม่สามารถลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตได้

Hussain เล่าว่าในปี 2535 ที่มีการปะทะกันเกิดขึ้นระหว่างอินเดียและปากีสถานเพื่อแย่งพื้นที่กัน ระหว่างที่เธอกำลังเดินทางกลับบ้านพร้อมกับพ่อและลุงของเธอ หลังจากที่เดินทางไปร่วมงานแต่งงานของญาติที่เมืองข้างๆ ซึ่งห่างกันประมาณ 60 กิโลเมตร อยู่ดีๆ รถของเธอก็ถูกหยุดโดยกลุ่มทหารของคนพื้นเมือง และทหารเหล่านี้ได้ทุบตีพ่อและลุง และเมื่อเธอพยายามขอให้ทหารเหล่านี้หยุดทำร้ายพ่อและลุง ทหารก็หันกลับมาทำร้ายเธอแทน จนกระทั่งเธอหมดสติไป และเมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบว่าเธอได้รับบาดเจ็บหลายที่ และไม่ได้พบพ่อและลุงของเธออีกเลย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เธอเสียใจเป็นอย่างมาก และยังคงจำเหตุการณ์ทุกอย่างได้เป็นอย่างดี เหมือนกับว่าเหตุการณ์เหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน และในบางครั้งเธอก็ไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ เพราะภาพเหตุการณ์เหล่านี้จะตามมาหลอกหลอนเธอตลอดเวลา

แม้ว่าหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ Hussain จะได้ไปหาหมอและพยายามรักษาอาการเหล่านี้เป็นเวลานาน จนกระทั่งเธอรู้สึกดีขึ้นและตัดสินใจแต่งงานเมื่อสองปีที่แล้ว และเธอก็เพิ่งจะรู้ว่าไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ทำให้เธอมีอาการซึมเศร้าอีกครั้ง และยังทำให้เธอรู้สึกว่าเป็นคนไม่มีค่า และนี่เป็นความผิดของเธอที่ไม่สามารถมีลูกได้

นอกจากนี้เธอยังต้องทนรับคำประณามจากคนในครอบครัวของสามี ที่รุมกันด่าว่า เพราะเธอไม่สามารถตั้งครรภ์ได้  และญาติๆ ของสามียังสนับสนุนให้สามีเธอแต่งงานครั้งที่สอง เพื่อที่จะได้มีลูกไว้สืบสกุล เรื่องนี้ทำให้ Hussain รู้สึกแย่มาก และอยากฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถที่จะโต้แย้งใดๆ ได้เกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานครั้งที่สองของสามี และเมื่อสามีเธอรู้ว่าเธอไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ สามีของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป ให้ความสนใจและสนับสนุนเธอในเรื่องต่างๆ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น Hussain จึงตัดสินใจที่จะหย่าขาดกับสามี เพราะไม่สามารถรับได้ที่สามีจะรับภรรยาคนที่สองเข้ามาอยู่ด้วย

หลังจากที่หย่าขาดกับสามีแล้ว Hussain ได้ย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวของเธอตามเดิม และยังคงต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าที่เกิดจากการที่เธอไม่สามารถตั้งครรภ์ได้

จากเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งดีๆ ใดๆ เลยในสังคม แต่สงครามกลับทำให้เกิดแต่ความสูญเสีย ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะไม่ได้ออกไปสู้รบเหมือนกับผู้ชาย แต่การที่ต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียดเป็นเวลานานๆ ก็ทำให้มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงของผู้ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ

มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และทำให้พวกเธอโศกเศร้าเป็นอย่างมากที่ไม่สามารถจะเป็นแม่ได้ พวกเราควรช่วยกันหยุดสงครามตั้งแต่วันนี้กันเถอะ เพราะสงครามไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในสังคมของเรา

 

* ข้อมูลอ้างอิง
พญ. ภัทรามาส เลิศชีวกานต์, (June 2012), Polycycstic ovary syndrome, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  http://www.med.cmu.ac.th

เรื่อง ศศิภัทรา ศิริวาโท