การแถลงผลประกอบการครึ่งปีแรก 2559 ของ เอสซีจี ซึ่งมี รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นั่งเป็นประธานในการแถลงข่าวเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางที่ต่อเนื่องจากภาพรวมธุรกิจของเอสซีจี แต่ในด้านหนึ่งกลับเป็นภาพสะท้อนยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรอายุ 103 ปีแห่งนี้ที่เด่นชัดยิ่งขึ้น
เพราะในขณะที่เอสซีจีแถลงผลประกอบการครึ่งปีแรกของ ปี 2559 ว่ามีรายได้จากการขายรวม 218,872 ล้านบาท และมีผลกำไรรวม 29,515 ล้านบาท
แต่ข้อเท็จจริงหลักของผลประกอบการที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้และสัดส่วนผลกำไรจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ภายใต้โครงสร้างของเอสซีจีในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าอนาคตของธุรกิจในกลุ่มซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่แม้จะมีสัดส่วนยอดขายรวมในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับร้อยละ40 ของรายได้จากการขายทั้งหมดของกลุ่ม
กลุ่มธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกลับสร้างผลกำไรให้กับภาพรวมขององค์กรเอสซีจีแห่งนี้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
โดยผลประกอบการของเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 2 ในปี 2559 มีรายได้จากการขาย 42,984 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อน
ความถดถอยลงดังกล่าวนี้ เป็นผลจากทั้งปริมาณและราคาขายที่ลดลงตามการชะลอตัวของตลาดภายในประเทศ มีกำไรสำหรับงวด 2,476 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อน ตาม EBITDA ที่ลดลงและค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นตามโครงการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่ในครึ่งปีแรกของปี 2559 เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขายรวม 88,864 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสภาวะตลาดในประเทศที่ยังคงซบเซา กระทบต่อการเติบโตของราคาและปริมาณขาย และมีกำไรสำหรับงวด 5,766 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตาม EBITDA ที่ลดลงและค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น
ต่างจากความเป็นไปในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ในไตรมาสที่ 2 ในปี 2559 มีรายได้จากการขาย 49,529 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
และมีกำไรสำหรับงวด 11,232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลของต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดีขึ้น และมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น
โดยในครึ่งปีแรกของปี 2559 กลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ มีรายได้จากการขายรวม 97,339 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากราคาเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาแนฟทา และราคาน้ำมันที่ลดลง
แต่มีผลกำไรสำหรับงวด 20,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับเอสซีจีในสัดส่วนที่มากถึงร้อยละ 68-70 ของผลกำไรรวมในช่วงครึ่งปีแรกด้วย
ความเป็นไปของกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ ในด้านหนึ่งนับเป็นภาพสะท้อนทางยุทธศาสตร์ของเอสซีจีในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และกำลังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของเอสซีจีในช่วงศตวรรษที่ 2 ขององค์กรแห่งนี้อย่างยากจะปฏิเสธ
ขณะที่ในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 2 ในปี 2559 มีรายได้จากการขาย 18,841 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 1,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงร้อยละ 19 จากไตรมาสก่อน
ซึ่งทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2559 กลุ่มธุรกิจเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขายเท่ากับ 37,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นทั้งจากสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ และมีกำไรสำหรับงวด 2,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลของ EBITDA ที่เพิ่มขึ้น
ภายใต้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ ด้วยการมุ่งพัฒนานวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added Products & Services: HVA) ซึ่งถือว่าเป็นเข็มมุ่งในการบริหารองค์กรในอนาคต ก็กำลังบ่งบอกทิศทางเชิงบวกให้กับเอสซีจี
โดยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สินค้าในกลุ่มนี้กำลังหนุนเสริมให้องค์กรเอสซีจีสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ในฐานะองค์กรชั้นนำของภูมิภาคและสามารถสร้างยอดการจำหน่ายในช่วงครึ่งปีแรกได้ถึง 82,237 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของยอดขายรวมด้วย
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ซึ่งก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจกระดาษ (เอสซีจี แพคแกจจิ้ง) ก่อนการก้าวขึ้นมาเป็นนายใหญ่ของเอสซีจี เคยระบุว่า นี่คือเซกเมนต์ที่เอสซีจีจะทำ HVA เป็นแต้มต่อทางการค้า เป็นวิธีเลี่ยงสงครามราคา แต่ว่าแต้มต่อนี้จะหายไปเร็ว ถ้าหยุดดำเนินการ เพราะคู่แข่งจะขยับเข้ามาใกล้ได้ตลอด
เพราะขณะที่ธุรกิจกระดาษกำลังขับเคลื่อนท่ามกลางปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ธุรกิจกระดาษของ SCG จะต้องสร้าง “โอกาสทางการตลาด” ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจึงอยู่ที่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและความแตกต่าง โดยเฉพาะการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อใช้กับสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นโอกาสให้ SCG สร้างรายได้จากสินค้า HVA นี้เพิ่มขึ้นอีก
ความพยายามที่จะเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในระดับภูมิภาค ทำให้เอสซีจีกำหนดแนวทางการขยายธุรกิจและการลงทุนไว้ในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีแนวโน้มสดใส และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเอสซีจีสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และจากการส่งออกไปยังอาเซียนในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 รวม 25,186 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของรายได้รวม ลดลงร้อยละ 2 จากปีก่อน
ทั้งนี้ เป็นรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน 13,161 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้จากการส่งออกไปยังอาเซียน 12,025 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 ของรายได้รวม ลดลงร้อยละ 18 จากปีก่อน
สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 มีรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และจากการส่งออกไปยังอาเซียน 49,582 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ของรายได้รวม เท่ากับสัดส่วนของปีก่อน
ทั้งนี้ เอสซีจีมีสินทรัพย์รวมในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 มูลค่า 121,951 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 23 ของสินทรัพย์รวมของบริษัท
ในห้วงยามที่ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอาจไม่ใช่แหล่งกำไรหลักของเอสซีจี และยังมีความผูกพันกับความเป็นไปของการลงทุนภาครัฐและความมั่นใจที่จะเริ่มโครงการใหม่ๆ ในภาคเอกชน
ดูเหมือนว่าอนาคตและเข็มมุ่งของเอสซีจีจะถูกกำหนดให้ต้องวางไว้กับการพัฒนาธุรกิจในกลุ่มเคมีภัณฑ์ และ HVA สำหรับความจำเริญเติบโตในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 2 อย่างหนักแน่นและมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีกไม่น้อยเลย