วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > New&Trend > เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ โชว์ศักยภาพแบบสวนกระแส หลังปรับโฉม 1 ปี

เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ โชว์ศักยภาพแบบสวนกระแส หลังปรับโฉม 1 ปี

 
เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ โชว์ศักยภาพแบบสวนกระแส หลังปรับโฉม 1 ปี เติบโตพุ่งแตะ 20% มั่นใจครึ่งปีหลังโตได้อีก
 
เปรมินทร์ เลอนรเสฏฐ์ ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ เปิดเผยว่า ภาพรวมของ เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ตลอดระยะเวลา 1 ปีภายหลังปรับโฉมจาก ‘ดิจิตอล เกตเวย์’ ถือว่าไปได้ดีเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 20%
 
เนื่องจากความเชื่อมั่นของแบรนด์สินค้าและบริการระดับแนวหน้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่เล็งเห็นศักยภาพของเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ และทยอยเปิดตัว Flagship store อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ Traffic กลุ่มเดิม ขณะเดียวกันก็สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ ได้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ในวันธรรมดามี Traffic ประมาณ 30,000 คน ในขณะที่ช่วงสุดสัปดาห์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ จะพุ่งสูงขึ้นกว่าวันธรรมดาเฉลี่ยที่ 20-30%
 
“ปัจจุบัน เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ถือเป็นศูนย์การค้าที่รวม Flagship store ของแบรนด์สินค้าและบริการที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากมาย ซึ่งสามารถดึงดูดทั้งกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ โดยล่าสุดเปิดสาขา ‘อีทูดี้ (ETUDE)’ ที่บริหารงานโดยบริษัทแม่จากประเทศเกาหลีเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่บริเวณชั้น 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เปิดตัวแบรนด์อื่นๆ อาทิ เครื่องสำอางเกาหลี Hannese, Glowfish (โกลว์ฟิช) Serviced Offices และ Kuppadeli (คับปาเดลี่), สถาบันสอนภาษา Primo the Education Loft, ร้าน ARCOVA Korean lifestyle store จำหน่ายสินค้า อาทิ กิฟต์ช้อป เครื่องเขียน อุปกรณ์บิวตี้ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท
 
การขยายสาขาที่ 2 ภายในศูนย์การค้าเดียวกันของบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นยอดฮิต Fuku in Town เป็นต้น และที่กำลังจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ตามมาติดๆ กับ “ลาเนจ (LANEIGE) ชอปสแตนด์อะโลนแห่งแรกและที่เดียวในเมืองไทย เมคอัพแบรนด์ดังจากประเทศเกาหลี และอีก 3-4 แบรนด์ทั้งด้านธุรกิจอาหารและความงาม
 
นอกจากนี้ ในส่วนของการเช่าพื้นที่เพื่อจัดอีเวนท์, ถ่ายทำภาพยนตร์, กิจกรรมส่งเสริมการขาย และบูธหมุนเวียนต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเกินคาดเช่นกัน ปัจจุบันศูนย์สามารถปล่อยเช่าพื้นที่ไปได้แล้วกว่า 95% จากพื้นที่ให้เช่ารวม 4,600 ตารางเมตร เฉลี่ยค่าเช่าอยู่ที่ 2,800-3,200 บาทต่อตารางเมตร
 
โดยสัดส่วนรายได้หลักยังอยู่ที่รายได้จากค่าเช่าพื้นที่อยู่ที่ 80% และการจัดกิจกรรมรวมทั้งพื้นที่สื่อโฆษณาภายในศูนย์อยู่ที่ 20% โดยประมาณ” เปรมินทร์ เลอนรเสฏฐ์ กล่าว
 
“สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือนั้นอยู่ระหว่างการปรับปรุงในบริเวณชั้น 4 เพื่อพัฒนาเป็น Food & Beverage โซน ปัจจุบันกำลังมองหาแบรนด์ด้าน Food & Beverage ที่เพิ่งมีเพียงสาขาเดียว และมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น และสนใจที่จะขยายสาขาเข้ามาในย่านใจกลางเมืองเพื่อเติมเต็มโซนดังกล่าว”
 
ต่อมุมมองการวิเคราะห์ภาพรวมศูนย์การค้าในย่านกลางเมืองและแนวโน้มในอนาคตนั้น เปรมินทร์ เลอนรเสฏฐ์ แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า
 
“ศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองนั้นยังเป็นที่นิยมของทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติในทุกเซกเมนต์แต่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้เกิดความแปลกใหม่อยู่เสมอ ดังเช่นที่เห็นการปรับเปลี่ยนของแต่ละศูนย์การค้าในย่านดังกล่าว โดยส่วนตัวมองว่าภาพรวมศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองจะมีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 59 เป็นต้นไป โดยในปีนี้ เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ ใช้งบการตลาดอยู่ที่ 15 ล้านบาท”
 
และเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 1 ปี เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ จึงได้จัดงาน ‘1st Anniversary to Beauty Continued’ ขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ถึง 10 ก.ค. 59 เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนด้วยดีมาโดยตลอด