วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > New&Trend > สกว.เข็นงานวิจัยการแพทย์-เวชสำอางรอขึ้นห้าง รัฐทุ่ม 500 ล้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

สกว.เข็นงานวิจัยการแพทย์-เวชสำอางรอขึ้นห้าง รัฐทุ่ม 500 ล้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

 

สกว.จับมือสภาอุตสาหกรรมโชว์ผลงานวิจัยกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ เวชสำอาง และอาหารสุขภาพ ที่มีศักยภาพพร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์ แย้มปี 60 รัฐบาลทุ่มงบ 500 ล้านบาทให้ สกว. หนุนทุนวิจัยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

 

. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดงาน User Forum “ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve): กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ เวชสำอาง และอาหารสุขภาพ” ซึ่งจัดโดย สกว. ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่มีศักยภาพในการต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัยเพื่อหาแนวทางสร้างความร่วมมือขยายผลวิจัยสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม

 

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควบคู่กับการก้าวเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และมีโมเดล “ประเทศไทย 4.0” เป็นตัวปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value–Based Economy)

 

โดยมีเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา สกว.เองก็ต้องปรับบทบาทในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อให้เกิดการสร้างเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

 

ในปี 2560 สกว. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล จำนวน 500 ล้าบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นการทำงานให้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ และเกิดการใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

 

ภายใต้ความร่วมมือจากภาคเอกชนในการกำหนดโจทย์วิจัยและทิศทางการวิจัย การร่วมวิจัย รวมถึงช่วยผลักดันให้ผลงานวิจัยต่อยอดขยายผลในระดับอุตสาหกรรม เวทีนี้จะเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยจะได้หาแนวทางสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขับเคลื่อนงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการ และเกิดการทำงานในรูปแบบTriple Helix คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ทำให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศอย่างเหมาะสม เกิดการผลิตผลงานวิจัย รวมถึงการสร้างบุคลากรวิจัยที่สามารถตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศไปสู่การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

 

สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงในงาน ประกอบด้วย

 

1.กระดูกเทียมจากเปลือกหอย โดย นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสังเคราะห์วัสดุที่มีสมบัติเทียบเท่ากระดูกมนุษย์และมีความอ่อนนุ่ม โดยนำแป้งข้าวเจ้าผสมกับไฮดรอกซีอะพาไทต์จากผงเปลือกหอย พร้อมสารตัวช่วยต่างๆ ให้เป็นแผ่นนุ่มเนื้อพรุนสำหรับรักษาหรือซ่อมแซมกระดูก

 

2. เครื่องตรวจวัดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตัน โดย อ.วัชรา แก้วมหานิล คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งออกแบบและสร้างเครื่องมือทดแทนเครื่องอัลตราซาวด์เดิม เครื่องมีน้ำหนักเบา พกพาได้ ใช้งานง่ายโดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ มีความปลอดภัยสูง ให้ผลวินิจฉัยที่มีความแม่นยำสูง ทราบผลภายใน 1 นาที

 

3. ผลิตภัณฑ์ยับยั้งเอชไอวีชนิดทาจากสารธรรมชาติ โดย ศ. ดร.วิภาวี นิตยานันทะ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งพัฒนาสูตรและกรรมวิธีผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดทา เป็นเจลใสคล้ายเจลหล่อลื่น มี “ไมโครบิไซด์” (Microbicides) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อเอชไอวีผ่านทางเนื้อเยื่อบุผิว รวมทั้งจุลชีพก่อโรคที่มากับการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะสตรีและกลุ่มรักร่วมเพศสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อผ่านทางช่องคลอดและช่องทวารหนัก โดยตั้งเป้าวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อในราคาที่ทุกกลุ่มที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเข้าถึงได้

 

4. เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยและติดตามผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดย ศ. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งช่วยวิเคราะห์อาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของโรคเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และแม่นยำ อีกทั้งประเมินติดตามการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทางได้ ตัวเครื่องมีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

 

5. ไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดิน โดย ศ. นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งช่วยลดปัญหาการเดินติดขัด และลดอุบัติเหตุของการหกล้มในผู้ป่วยพาร์กินสัน รวมทั้งผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดิน

 

6. เครื่องมือยืดถ่างกระดูกระหว่างฟันและยืดถ่างกระดูกขากรรไกร โดย รศ. ทพญ. ดร.บุญศิวา ซูซูกิ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถทำงานได้พร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการควบคุมแนวทางการเคลื่อนที่ของฟันและกระดูกระหว่างฟันทั้งสามมิติ ไม่เกิดการเคลื่อนที่ของฟันในทิศทางที่ไม่ต้องการ ใช้รักษาผู้ป่วย เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ประสบอุบัติเหตุบริเวณขากรรไกรและใบหน้า และมีเนื้องอกของกระดูกขากรรไกร

 

7. วัสดุทางทันตกรรมจากกาวผึ้ง โดย รศ. ทพญ. ดร.ปัทมา ชัยเลิศวณิชกุล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งคิดสูตรและกรรมวิธีผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับปิดเนื้อเยื่อในฟันที่มีส่วนผสมของ “พรอพอลิส” หรือ “กาวผึ้ง” ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคและให้ผลการรักษาฟันที่เกิดบาดแผลทะลุเนื้อเยื่อในฟันได้มีประสิทธิภาพ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

8. สารผสมสำหรับทำความสะอาดฟันเทียม โดย ศ. ดร.สุวิมล ทวีชัยศุภพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสารผสมประกอบด้วย น้ำมันตะไคร้ สารลดแรงตึงผิว และตัวทำละลาย สำหรับแช่ฟันเทียมเพื่อทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราที่เกาะอยู่กับฟัน

 

 

9. สเปรย์สมุนไพรป้องกันโรคในช่องปากแบบครบวงจรจากสมุนไพรธรรมชาติ ที่มีความปลอดภัยสูง โดย ศ. ทพญ. ดร.วิภาวี นิตยานันทะ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์ม และต้านการอักเสบในผลิตภัณฑ์เดียว เหมาะกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา อาทิ ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อเอชไอวี เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด

 

10. ผลิตภัณฑ์กันแดดจากแก่นสีเสียด โดย ผศ. ดร.อรพรรณ อนุรักษ์วรกุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากสมุนไพรท้องถิ่นที่สามารถใช้ทดแทนหรือลดการใช้ครีมกันแดดจากสารเคมีได้เป็นอย่างดี ปกป้องรังสี UVA และ UVB ช่วยบำรุงผิว ยังยั้งการสร้างสีของผิวหนัง มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ

 

    11. เจลแต้มสิวจากโปรตีนชีวสารกึ่งบริสุทธิ์ (แบคทีริโอซิน) โดย รศ. ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เจลมีความคงตัวของสารออกฤทธิ์นานกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ผ่านกระบวนการทดสอบแล้วยืนยันได้ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้บริเวณผิวหนัง

     

    12. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ โดย รศ. ดร.ศิริธร ศิริอมรพรรณ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความปลอดภัยและเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงผู้รักสุขภาพ ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก

     

    13. ผลิตภัณฑ์แก้อาการเผ็ด โดย ผศ. ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยบรรเทาหรือกำจัดอาการเผ็ด แสบร้อนจากการบริโภคอาหารที่มีความเผ็ดได้ดีและรวดเร็ว ปลอดภัย ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องดื่มพร้อมบริโภค หมากฝรั่ง และผลิตภัณฑ์แบบผงพร้อมชง

     

    14. สมุนไพรไทยสำเร็จรูปสำหรับประกอบอาหาร โดย ผศ. ดร.ปุณฑริกา รัตนตรัยวงศ์ ซึ่งนำสมุนไพร อาทิ ใบกะเพรา ใบโหระพา ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ มาผ่านกระบวนการคงคุณภาพและการแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบพร้อมปรุงและรับประทานได้ทันที อาหารที่ปรุงเสร็จมีกลิ่น สี รสสัมผัส และรสชาติของสมุนไพรใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสมุนไพรสด

     

    15. เม็ดบีดสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดย ผศ. ดร.พัฒทรา ธีรพิบูลย์เดช คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้สารสกัดเข้มข้นจากสมุนไพรในรูปแบบเม็ดขนาดเล็กเป็นส่วนประกอบและโรยหน้าตกแต่งในอาหารและเครื่องดื่ม แทนการใช้สมุนไพรโดยตรง

     

    16. แผ่นแปะหนังเพื่อนำส่งสารสกัดกระชายดำเข้าสู่กระแสเลือด โดย ศ. ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารสำคัญในปริมาณที่แน่นอน ควบคุมการปล่อยระดับสารสำคัญในกระแสเลือดได้คงที่มากกว่ารูปแบบการรับประทานตลอดระยะเวลา 48 ชั่วโมง เพิ่มความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน เหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ ต้องการบำรุงร่างกาย และผู้ชายที่มีปัญหาด้านสมรรถนะทางเพศ

     

    17. ผลิตภัณฑ์ขัดผิวหน้า โดย ศ. ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย ผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยที่มีปริมาณวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง และขจัดเซลล์ที่เสื่อมสลายออก ทำให้ผิวหน้าสะอาดได้ ให้ความนุ่มและชุ่มชื่นแก่ผิวหน้า

     

    18. สารสกัดใบมะรุมเพื่อลดโคเลสเตอรอลในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะโคเลสเตอรอลสูงได้ ผ่านการทดสอบทั้งสัตว์ทดลองและมนุษย์ ลดปัญหาเรื่องการดูดซึมจากการรับประทานแคปซูลผงใบมะรุมในท้องตลาด โดย ศ. ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย

     

    19. โลชั่นหอม โดยบริษัท เวลเทค ไบโอเทคโนโลยี่ จำกัด ซึ่งต่อยอดงานวิจัยน้ำหอมที่ทำการห่อหุ้มด้วยเทคโนโลยีควบคุมการปลดปล่อยน้ำหอม “Chitora®” ที่ใช้สารไคโตซานจากธรรมชาติมาพัฒนาสูตรตำรับโลชั่นหอมที่มีความคงตัวนานถึง 8 ชั่วโมง โดยไม่ระคายเคือง

     

    20. ผลิตภัณฑ์เจลเย็นบำรุงผิวหลังออกแดด โดยบริษัท เวลเทค ไบโอเทคโนโลยี่ จำกัด ต่อยอดระบบนำส่งสารเข้าผิวด้วยเทคโนโลยี WellCap® ในการกักเก็บสารเคอร์คิวมินจากขมิ้นชันไว้ในอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโน พัฒนาสูตรเจลเย็นลดอาการผิวร้อนแดงหรือไหม้แดดที่มีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำ และมีสารเคอร์คิวมินช่วยฟื้นฟูและปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระหลังออกแดด

     

    21. สบู่ขจัดสิวแซนโทน บริษัท เวลเทค ไบโอเทคโนโลยี่ จำกัด ต่อยอดการกักเก็บสารอัลฟ่าแมงโกสตินจากเปลือกมังคุดในอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโน มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสิว ต้านการอักเสบ ลดอาการแพ้ และฤทธิ์ฝาดสมานที่ดี ช่วยทำความสะอาดและขจัดสาเหตุของสิวไปพร้อมกัน