วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > เจ็ดปีหลังสงครามกับปมในใจ

เจ็ดปีหลังสงครามกับปมในใจ

 
Column: AYUBOWAN
 
เดือนพฤษภาคม 2016 ที่ผ่านมา หากเป็นช่วงที่ศรีลังกายังมีผู้นำชื่อ Mahinda Rajapaksa หรือผู้คนในเครือข่ายของเขาอยู่ในอำนาจ เชื่อว่าบรรยากาศภายในของศรีลังกาคงเต็มไปด้วยกระแสข่าวโหมประโคมถึงชัยชนะเมื่อปี 2009 เหนือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) ที่เป็นจุดเริ่มต้นศักราชแห่งการพัฒนาและสันติสุข
 
หากแต่ในวันนี้ผู้ครองอำนาจทางการเมืองในศรีลังกา แม้จะเคยร่วมมีบทบาทในกรณีดังกล่าว แต่ด้วยสถานะการเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง การกล่าวถึงคุณความดีของคู่ปฏิปักษ์ คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ มากนัก 
 
ในทางกลับกันยังต้องพยายามสืบหาจุดอ่อนและบาดแผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมาเป็นเครื่องมือในการลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามไปในตัวด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ภายหลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาประกาศชัยชนะเหนือกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ และปิดฉากสงครามกลางเมือง (Civil War) สู่ความสงบเมื่อเจ็ดปีที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งดูเหมือนว่าสถานะของศรีลังกาโดยเฉพาะในมิติของโอกาสทางการค้าการลงทุนแห่งใหม่ก็ฉายโชนออกมาเกือบจะทันที
 
นักธุรกิจและสังคมการเมืองระหว่างประเทศต่างรอคอยจังหวะที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่หายไปนานกว่า 3 ทศวรรษ แต่บางส่วนก็ยังหยั่งท่าทีด้วยการตั้งข้อสงวนว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใสทางการเมือง
 
ความเป็นไปของศรีลังกานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมือง ติดตามมาด้วยโครงการพัฒนาหลากหลายและการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ร่วมเสริมให้ภาพลักษณ์ของศรีลังกาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นประหนึ่งอัญมณีที่พร้อมจะถูกขัดเกลาแต่งเติมสีสันให้สุกสกาวและเจิดจรัสอย่างเต็มที่
 
เขตบ้านย่านเมืองโดยเฉพาะในโคลัมโบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ และการพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ๆ ไม่เว้นในแต่ละเดือน
 
ขณะที่จำนวนรถยนต์ที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อสนองความต้องการและดูดซับปริมาณเม็ดเงินที่เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ถนนในกรุงโคลัมโบมีสภาพไม่ต่างกับลานจอดรถ หรือโชว์รูมรถยนต์ขนาดใหญ่ ที่มีรถยนต์เบียดแทรกอัดแน่นจนอาจเรียกได้ว่าล้นพื้นที่ก็ว่าได้
 
การสั่งซื้อและนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องประกาศชะลอการนำเข้ารถยนต์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย
 
แต่นั่นเป็นเพียงปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่างจากยอดภูเขาน้ำแข็งที่พ้นระดับน้ำให้ได้เห็นเป็นประจักษ์ ขณะที่ลึกลงไปเบื้องล่างปัญหาว่าด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประชาชนคนรากหญ้าที่เป็นฐานล่างของสังคม กำลังเผชิญกับประเด็นปัญหาที่หนักหน่วงกว่ามาก
 
ประเด็นว่าด้วยการกระจายโอกาสและรายได้ ดูจะเป็นคุณลักษณะร่วมที่เกิดขึ้นในเกือบทุกหนแห่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสำหรับสังคมศรีลังกาที่มีฐานประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล กรณีที่ว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในความไม่พึงพอใจที่ประชาชนมีต่อนโยบายของรัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้จะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรกลับเป็นไปอย่างจำกัด
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาคธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะหลังจากที่สงครามกลางเมืองสงบลง ชาวสิงหลในท้องถิ่นห่างไกลยิ่งพบว่าพวกเขาถูกละเลยให้ถอยห่างจากกระบวนการพัฒนาที่กำลังโหมประโคมในหัวเมืองใหญ่และพื้นที่ที่ประสบภัยสงครามในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย
 
ความไม่สมดุลของการพัฒนาและปัญหาทางเศรษฐกิจ เริ่มส่งผลให้ชาวสิงหลที่เป็นฐานเสียงใหญ่เริ่มแสดงความไม่พึงพอใจต่อกลไกทางการเมือง และมีแนวโน้มที่จะสั่งสมความไม่พึงพอใจนี้ให้เพิ่มระดับหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ และอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลทางการเมืองในช่วงเวลานับจากนี้
 
แต่ประเด็นที่หนักหน่วงและหยั่งรากซึมลึกมากกว่ากรณีของชาวสิงหลอยู่ที่ทัศนคติและความรู้สึกนึกคิดของชาวทมิฬ ที่ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมาถูกผลักให้เป็นผู้แพ้ในสงครามที่ดูเหมือนจนถึงวันนี้จะปราศจากผู้ชนะที่แท้จริง
 
ปมประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็น “ผู้ต่ำต้อยกว่า” (inferiority complex) ของชาวทมิฬในศรีลังกามิได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงขณะหรือหลังสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษนี้เท่านั้น หากแต่เป็นรากความคิดที่ถูกครอบจากการกระทำของเจ้าอาณานิคมที่ยาวนานกว่า 500 ปีเลยทีเดียว
 
นักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนชาวทมิฬจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงปัญหาในเชิงจิตวิทยาในหมู่ชาวทมิฬดังกล่าว และระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชุมชนชาวทมิฬยังขาดความเข้มแข็งทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง 
 
ยังไม่นับรวมประเด็นว่าด้วยวรรณะ (Casteism) ที่ยึดโยงอยู่กับความเชื่อดั้งเดิมตามแบบของชาวฮินดู ซึ่งนักวิชาการด้านสังคมวิทยาระบุว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวทมิฬในศรีลังกาขาดเอกภาพในการขับเคลื่อน
 
ขณะที่ชาวทมิฬที่เคยอพยพพลัดถิ่นไปแสวงหาโอกาสในต่างแดนและสะสมทุนได้จำนวนหนึ่ง กำลังกลับเข้ามาเพื่อต่อยอดโอกาสครั้งใหม่ กลายเป็นอีกเหตุปัจจัยที่เร่งแยกถ่างให้เกิดช่องห่างของชุมชนยิ่งขึ้นอีกไปโดยปริยาย
 
สงครามกลางเมืองที่ต่อสู้กันด้วยอาวุธท่ามกลางความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการบริหารปกครองชาวสิงหลและทมิฬบนแผ่นดินศรีลังกาในช่วงก่อนหน้านี้ อาจสิ้นสุดลงไปแล้ว 
 
แต่ฉากชีวิตของการต่อสู้ดิ้นรนทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจและโอกาส กับผู้คนจำนวนมากที่ยังต้องเผชิญกับความทุกข์ยากในการเข้าถึงทรัพยากรกำลังเพิ่มระดับความเข็มข้นขึ้นทุกขณะ
 
บางที ปมจิตวิทยาว่าด้วย “the seven-year itch” อาจทำให้ผู้คนในสังคมศรีลังกาทั้งระบบต้องหันกลับมาพิจารณาว่าการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความปรองดองที่ยั่งยืนและเป็นธรรมนับจากนี้ควรมีทิศทางและเป้าประสงค์เช่นไร