วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ปลุกแผน ดิวตี้ฟรีซิตี้ เจาะฐาน “คิง เพาเวอร์”

ปลุกแผน ดิวตี้ฟรีซิตี้ เจาะฐาน “คิง เพาเวอร์”

 
 
แม้สาเหตุหลักหนึ่งที่ฉุดธุรกิจค้าปลีกไทยทรุดหนักต่ำสุดในรอบ 20 ปี มาจากวิกฤตกำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงล่างหดตัวหนัก แต่แย่มากไปกว่านั้น กลุ่มคนไทยระดับไฮเอนด์ เศรษฐีกระเป๋าหนัก แห่เดินทางไปหว่านเม็ดเงินในต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 9% เฉพาะปี 2558 มีมูลค่าสูงถึง 170,032 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการชอปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในประเทศไทยสูงถึง 50,840 ล้านบาท
 
ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด มักย้ำกับสื่อทุกครั้งว่า ตัวเลขการชอปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศของคนไทยเติบโตสูงทุกปี ทั้งที่ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าในไทยลงทุนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลสร้างโครงการระดับไฮเอนด์รองรับกลุ่มลูกค้า ระดมสินค้าแบรนด์เนมยอดนิยมทุกเซกเมนต์และปลุกภาพลักษณ์ “Shopping Destination” ดึงนักท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถลดตัวเลขการจับจ่ายสินค้าในต่างประเทศของนักชอปไทย กระแสเงินที่ควรเข้ามาหมุนเวียนในประเทศรั่วไหลจำนวนมาก 
 
จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 9 หมวดจาก 17 หมวด ตามนิยามของของกรมศุลกากร ในปี 2558 ได้แก่ เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง นาฬิกา แว่น กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง เครื่องประดับคริสตัล ปากกา น้ำหอม สุราต่างประเทศ ผลไม้ เครื่องแก้วคริสตัล ไวน์ เข็มขัดหนัง ดอกไม้ และกล้องถ่ายรูป มีมูลค่ารวมสูงถึง 132,984.44 ล้านบาท 
 
ประเด็นสำคัญ คือ มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (duty paid) มีมูลค่าเพียง 45,168.60 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายศุลกากร (duty free) มีมูลค่าสูงถึง 87,815.83 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า Duty paid เกือบ 80% 
 
จริยา จิราธิวัฒน์ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตัวเลขมูลค่าสินค้า duty paid กับ duty free ที่แตกต่างกันสะท้อนถึงความได้เปรียบด้านกฎหมายเรื่องการยกเว้นภาษีนำเข้า ซึ่งกำลังทำลายโครงสร้างการค้าปลีกในเมืองอย่างรุนแรง เพราะสินค้าที่จำหน่ายในดิวตี้ฟรีไม่กี่แห่งมีมูลค่าสูงกว่าร้านค้าในเมืองหลายพันร้านค้าถึงเกือบเท่าตัว นอกจากนี้ ยังเกิดกรณี “ตลาดของหิ้ว” หรือ “grey market” ซึ่งกำลังขยายขนาดใหญ่มาก โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีผู้ประกอบการที่ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียถึง 1,005,000 ราย แต่มีเพียง 2% ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 
 
ผู้ประกอบการสินค้าแบรนด์เนมบางรายประเมินว่า มูลค่าสินค้านอกระบบ หรือ grey market ใหญ่พอๆ กับตลาดสินค้าในระบบ ซึ่งสินค้านอกระบบส่วนนี้ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐและควบคุมได้ยาก
 
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศไทย แม้มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 12% ต่อปี จนอยู่ที่ระดับ 29.5 ล้านคนในปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการบริโภคสินค้าจากร้านค้าในประเทศกลับไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศที่มุ่งเน้น Shopping Tourism สินค้าแบรนด์เนมยังมีราคาสูงกว่าต่างประเทศ 20-30% และนักท่องเที่ยวนิยมซื้อสินค้าที่ร้านค้าปลอดอากรเป็นหลัก เนื่องจากราคาถูกกว่า
 
ล่าสุด สมาคมค้าปลีกไทยยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดัน “Shopping Tourism” หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงชอปปิ้งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี เพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น และผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็นชอปปิ้งเดสติเนชันของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยเสนอเปิดดิวตี้ฟรีซิตี้ใน 10 เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต สมุย หาดใหญ่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา 
 
รวมทั้งเพิ่มมาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สถานที่ขายสินค้าทันที และการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% สำหรับชาวต่างชาติ
 
“สมาคมค้าปลีกไทยจำเป็นต้องย้ำเรื่องนี้ พูดกันมานาน เสนอมาแล้วหลายรัฐบาล ทั้งเรื่องการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนมและแผนดิวตี้ฟรีซิตี้ ไม่ได้ปีนี้ก็ต้องเสนอต่อไปทุกปีเพราะเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญมาก” จริยากล่าว
 
แน่นอนว่าการนำเสนอไอเดียของกลุ่มเซ็นทรัลผ่านสมาคมค้าปลีกไทยพุ่งเป้าหมายต้องการให้ภาครัฐยกเครื่องธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ในมือของกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ทั้งการผูกขาดการบริหารพื้นที่ในท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งการรุกขยายธุรกิจค้าปลีกย่านใจกลางเมือง รูปแบบ “ดาวน์ทาวน์” เจาะขยายกลุ่มลูกค้าใหม่หรือนักชอปทั่วไป ไม่ใช่แค่กลุ่มนักเดินทาง 
 
กลยุทธ์การเปลี่ยนรูปแบบซื้อสินค้าของคิง เพาเวอร์ จากเดิมนักเดินทางแวะซื้อสินค้าในร้านดิวตี้ฟรีก่อนขึ้นเครื่องหรือแวะซื้อก่อนออกจากท่าอากาศยานมาเป็นการชอปปิ้งสินค้าปลอดภาษีในดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ ซึ่งราคาถูกกว่าในห้างอื่นๆ ก่อนการเดินทางได้ถึง 60 วัน โดยสามารถติดต่อรับสินค้าที่เคาน์เตอร์จ่ายสินค้า (Pick-up Counter) ภายในห้องผู้โดยสารขาออก ท่าอากาศยาน ในวันที่เดินทาง 
 
ขณะเดียวกันดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ยังปลดล็อกให้ลูกค้าทั่วไปสามารถเข้าไปจับจ่ายสินค้าฟรีแท็กซ์ หรือ “สินค้าป้ายฟ้า” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์ดังของบริษัทในประเทศ มีให้เลือกหลากหลาย เช่น นาฬิกา เครื่องใช้ไฟฟ้า กล้องถ่ายภาพ โทรศัพท์มือถือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้ากีฬา เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ของเล่น ตุ๊กตา อาหารกินเล่น สินค้าผ้าไหม ผลิตภัณฑ์สปา ซึ่งปลอดภาษี ราคาถูกกว่าท้องตลาด และหากเป็นสมาชิกบัตรคิง เพาเวอร์จะได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนลดเพิ่มเติม รวมถึงโปรโมชั่นสะสมแต้มแลกสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ
 
ปัจจุบันคิง เพาเวอร์มีสาขาดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ 3 แห่ง ได้แก่ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ รางน้ำ, ศรีวารี และภูเก็ต โดยดาวน์ทาวน์คอมเพล็กซ์รางน้ำ ถือเป็นต้นแบบคอมเพล็กซ์ที่รวมทุกธุรกิจของคิง เพาเวอร์ เนื้อที่รวม 31 ไร่ พื้นที่มากกว่า 150,000 ตร.ม. ประกอบด้วยคิง เพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ ดิวตี้ฟรี มอลล์, ภัตตาคารบุฟเฟต์ “รามายณะ”, โรงละครอักษรา โรงแรมระดับ 5 ดาว พูลแมน กรุงเทพฯ คิงเพาเวอร์ และอาคารสำนักงานใหญ่ของคิง เพาเวอร์
 
ตามแผนอีก 1-2 ปีข้างหน้ากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ยังเตรียมขยายบริการดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่นและจีน รวมถึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเมียนมา ส่วนดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ในไทยยังอยู่ระหว่างการหาพื้นที่เพื่อขยายโครงการใหม่ เนื่องจากสามารถสร้างฐานลูกค้าเติบโตต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มลูกค้าทั่วไป ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อครั้ง 4,000-6,000 บาท และปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 85,000 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท 
 
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ “คิงเพาเวอร์” ในฐานะผู้ยึดครองตลาดทำให้กลุ่มค้าปลีก ทั้งกลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกและร้านค้าปลอดภาษีจับมือกันเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาครัฐปฏิรูปธุรกิจดิวตี้ฟรีเหมือนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ เวียดนาม สปป.ลาว หรือดูไบ ที่ประกาศเปิดเมืองท่าปลอดภาษี 
 
ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น กลุ่มลอตเต้ ประเทศเกาหลี ที่ประกาศเข้ามาเปิดธุรกิจดิวตี้ฟรีในไทย โดยนำร่องสาขาแรกในศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ “โชว์ดีซี” ย่านพระราม 9 แต่ยังติดเงื่อนไขของกรมศุลกากรที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีจุดส่งมอบสินค้าเฉพาะพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ของร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติบางแห่ง เพราะปัจจุบันกลุ่มคิง เพาเวอร์เป็นผู้ชนะประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงสนามบินดอนเมืองและสนามบินภูเก็ต 
 
บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จึงอ้างว่าติดสัญญาสัมปทานกับบริษัทคิง เพาเวอร์ และทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเปิดจุดส่งมอบสินค้า ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การเปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรีและดิวตี้ฟรีซิตี้สามารถขยายตลาดดิวตี้ฟรีเติบโตได้อีกหลายเท่า ซึ่งคิง เพาเวอร์อาจได้ประโยชน์ด้วย รูปแบบเหมือนดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ของคิง เพาเวอร์ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการลงทุนดิวตี้ฟรีซิตี้ในเมืองท่องเที่ยวและกำหนดจุดส่งมอบสินค้า หรือใช้จุดส่งมอบสินค้ารวม ไม่จำเป็นต้องให้ทุกรายมีจุดส่งมอบสินค้า ซึ่งเป็นการลงทุนซ้ำซ้อน 
 
หากมองในแง่ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจท่องเที่ยว “ดิวตี้ฟรีซิตี้” ส่งผลบวกทั้งเซ็นทรัล เดอะมอลล์ เตรียมพร้อมก้าวกระโดดเข้ามาแย่งชิงเม็ดเงินหลายหมื่นล้าน รวมถึงกลุ่มทุนต่างชาติ แต่เสือนอนกินอย่าง “คิง เพาเวอร์” ด้านหนึ่งคงไม่ยอมง่ายๆ แต่อีกด้านหนึ่ง วิชัย ศรีวัฒนประภา มองเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากยุค “สัมปทาน” และเร่งปรับยุทธศาสตร์ ตั้งแต่การเปิดเกมรุกผุด “ดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์”เมื่อ 10 ปีก่อน หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจลงทุนซื้อสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งได้ผลลัพธ์เกินคาด และ “คิง เพาเวอร์” คงไม่หยุดเพียงเท่านี้แน่