วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > กระตุ้นใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยว ความหวังเดียวกลางวิกฤตเศรษฐกิจไทย?

กระตุ้นใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยว ความหวังเดียวกลางวิกฤตเศรษฐกิจไทย?

 
 
ความพยายามของกลไกภาครัฐที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการเดินทางท่องเที่ยวและการรับประทานอาหาร ภายใต้มาตรการลดหย่อนภาษีในช่วงระหว่างวันที่ 9-17 เมษายนที่ผ่านมา แม้จะดำเนินไปท่ามกลางความชุ่มฉ่ำของเทศกาลสงกรานต์ 
 
แต่ดูเหมือนว่าเจตจำนงของรัฐดังกล่าวนี้จะไม่ประสบผลสัมฤทธิในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้ตื่นตัวคึกคักได้อย่างที่ตั้งใจ ไม่นับรวมภาวะภัยแล้งที่ทำให้ความรื่นเริงช่วงสงกรานต์ในหลายพื้นที่หดสั้นลง ขณะที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจก็ยังไม่มีปัจจัยบวกมากพอให้ประชาชนมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากนัก
 
ความถดถอยทางเศรษฐกิจและภาวะชะลอตัวในการจับจ่ายที่ปรากฏขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลายเป็นประหนึ่งสัญญาณเตือนภัยครั้งใหม่ ที่กำลังทวีความน่ากังวลใจไม่น้อยเลย ขณะที่กลไกภาครัฐต่างพยายามเร่งระดมมาตรการกระตุ้นเสริมพร้อมกับคำปลอบโยนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังผงกหัวขึ้น ไม่ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะสวนทางกับถ้อยแถลงเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม
 
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2559 ระบุว่า ภาระค่าครองชีพยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและชั่งน้ำหนักก่อนที่จะตัดสินใจใช้จ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายในส่วนที่อยู่นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
 
ทั้งนี้ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนมีนาคม 2559 ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 43.6 เช่นเดียวกับดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของครัวเรือนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวลดลงมาที่ 45.0 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 8 เดือน
 
“บรรยากาศการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของครัวเรือนทุกภาคส่วนนับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2559 เป็นต้นมา เป็นภาพสะท้อนข้อเท็จจริงหนึ่งที่ว่า ตราบใดที่สัญญาณด้านรายได้ของครัวเรือนยังคงไม่กระเตื้องขึ้นอย่างเด่นชัด และ/หรือมีปัจจัยพิเศษมากระตุ้นการตัดสินใจใช้จ่ายแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่การบริโภคจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ และคาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2559 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ซึ่งต่ำลงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.1
 
ขณะเดียวกันกลไกที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยดูจะมีแนวโน้มยอมรับในข้อเท็จจริงที่กำลังคืบคลานมาเผชิญหน้าเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยนับจากนี้คงเติบโตแบบชะลอตัวต่อเนื่องเรื่อยไป โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่ไม่เพียงกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน เกษตรกรและผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น หากยังอาจลุกลามไปสู่การบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏล่าสุดอีกประการหนึ่งก็คือการส่งออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาติดลบถึงร้อยละ 20 และเชื่อว่าภาพรวมการส่งออกทั้งปีคงไม่เติบโตนัก โดยการส่งออกทั้งปีอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0-2 
 
ประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐกำหนดเป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มดังขึ้นทุกขณะในปัจจุบันอยู่ที่การเพิ่มรายรับให้กับประชาชน มากกว่าที่จะกระตุ้นการจับจ่าย เพราะตราบใดที่ประชาชนไม่มีรายได้ก็ย่อมไม่เกิดกำลังซื้อที่จะมาหนุนนำธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ดี
 
กรณีเช่นว่านี้ดูจะย้อนแยงและยั่วแย้งกับความพยายามของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มุ่งหมายจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านมาตรการหลากหลายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการรวมใจเที่ยวไทยเศรษฐกิจไทยยั่งยืน ที่กำลังจะเปิดตัวโครงการในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
 
รายละเอียดของโครงการที่ว่านี้อยู่ที่ความพยายามกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 กันยายน 2559 โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเช่นค่าโรงแรมที่พัก ทุก 500 บาทมาแลกสิทธิ์ลุ้นรางวัลรายเดือน โดยมีของรางวัลทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรางวัลอื่นๆ โดยคาดว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศได้มากถึง 4.3 หมื่นล้านบาท และกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวรวมกว่า 12 ล้านคน
 
ปัจจัยว่าด้วยการท่องเที่ยว ดูประหนึ่งจะเป็นเครื่องมือที่กลไกรัฐพยายามใช้เพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง ในด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะจับต้องได้ง่ายและอาศัยความชำนาญการในการจัดการต่ำกว่าวิธีอื่นๆ เพียงมีงบประมาณในการจัดประชาสัมพันธ์ก็สามารถนำมาเสนอเป็นผลงานได้อย่างสะดวกดาย โดยเฉพาะกรณีที่นำมาเสนอต่อยอดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลต่อเนื่องสู่การบริโภคสินค้าและหนุนนำภาคธุรกิจอื่นๆ ให้ขยับกระเตื้องตามขึ้นมา
 
วิถีของการประเมินคุณค่าในมิติที่ว่านี้ส่งผลให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามนำเสนอโครงการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนบ้านอาเซียน ภายใต้โครงการเอ็กซ์พีเรียน วิท มาริโอ้ (Experience with Mario) ด้วยหวังว่ากลุ่มแฟนคลับของมาริโอ้ เมาเร่อ นักแสดงไทยในประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้จะช่วยปลุกกระแสตามรอยการท่องเที่ยวกับมาริโอ้ในที่สุด
 
“เพื่อนบ้านอาเซียนเหล่านี้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นฐานแฟนคลับของมาริโอ้ เมาเร่อ เกือบ 1 ล้านคนในแต่ละประเทศ รวมถึงเป็นกลุ่มแฟนคลับวัยทำงาน วัยรุ่น และกลุ่มครอบครัว จึงมีศักยภาพและความสามารถในการใช้จ่ายสูง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ตลาดนักท่องเที่ยวอาเซียนในไทยเป็นไปตามเป้าหมาย” ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุ
 
ททท. วางเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจากอาเซียนให้มีรายได้รวม 2.45 แสนล้านบาทหรือเติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 8.3 จากปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ ททท. ประเมินว่าโครงการที่ ททท. ดำเนินการร่วมกับมาริโอ้ เมาเร่อ ในการโปรโมตตลาดการท่องเที่ยวให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และคาดหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากถึง 7.9 ล้านคนในปีนี้ด้วย
 
“ความสำเร็จของการทำตลาดผ่านกระแสไทยป๊อป หรือ ทีป๊อป ที่ร่วมกับมาริโอ้ เมาเร่อ ในตลาดจีน ทำให้ในปีนี้ ททท. ได้ต่อยอดการโปรโมตการท่องเที่ยวร่วมกับมาริโอ้อีกครั้ง โดยจะทำกิจกรรมทั้งในตลาดอาเซียนและในตลาดจีนไปพร้อมกัน”
 
กลยุทธ์ในการนำดารานักแสดงหรือผู้คนมีชื่อเสียงมาร่วมโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมว่าด้วยการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และอาจพบเห็นได้ในหลายประเทศ ซึ่งบางแห่งก็ประสบผลสำเร็จอย่างดี ขณะที่บางแห่งก็ล้มเหลวไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนและสูญเสียไป
 
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การสร้างกระแสไทยป๊อปเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวย่อมมิได้ผูกพันอยู่เฉพาะนักแสดงรายใดรายหนึ่งแต่เป็นกระบวนการที่ต้องสร้างกลไกในการสื่อสารการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องด้วยมิติทางวัฒนธรรมที่มีความลุ่มลึกและยั่งยืนมากกว่าการจัดจ้างพรีเซนเตอร์อย่างฉาบฉวย
 
การพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นกลไกหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจควรพัฒนาอย่างมียุทธศาสตร์ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่งให้มีเอกลักษณ์และเป็นแรงดึงดูดการท่องเที่ยวเพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว มากกว่าการเดินตามนักแสดงคนหนึ่งที่พร้อมจะเสื่อมความนิยมลงไปได้ในระยะเวลาอันสั้น
 
บางทีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในห้วงยามปัจจุบันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจไม่แตกต่างจากความพยายามของแพทย์ที่ทำได้เพียงใช้คลื่นไฟฟ้าช็อกให้เกิดการสะดุ้งสะเทือนด้วยหวังว่าคนไข้ที่มีลมหายใจรวยรินจะกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ และนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางเข้ามาก็คงไม่ต่างจากผู้เยี่ยมไข้ที่เข้าออกผ่านบานประตู โดยที่ผู้ป่วยที่นอนซมอยู่บนเตียงคนไข้ไม่อาจสามารถรู้สึกรับรู้ถึงความยินดีใดๆ ได้อีกแล้ว