วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > On Globalization > สายสัมพันธ์ชาวเกาะ

สายสัมพันธ์ชาวเกาะ

 
Column: AYUBOWAN
 
การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของศรีลังกาในช่วงหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากำลังผลิดอกออกผลไปในทิศทางที่ทำให้ศรีลังกาทวีความน่าสนใจสำหรับนานาประเทศไม่น้อย ไม่เฉพาะในมิติของความสามารถในการจัดการและเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังประกอบส่วนด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะพัฒนาไปได้อีกไกล
 
รายงานข่าวการเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของ John Key นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างและประจักษ์พยานที่ดีในกรณีที่ว่านี้ อีกทั้งยังสร้างแรงกระตุ้นสำหรับพัฒนาการทางสังคมครั้งใหม่ให้กับดินแดนแห่งนี้ด้วย
 
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีลักษณะร่วมทางภูมิศาสตร์ในฐานะที่เป็นเกาะของทั้งสองประเทศนี้ แม้จะเกี่ยวเนื่องกันมายาวนานทั้งในมิติที่ต่างก็อยู่ในเครือจักรภพ (Commonwealth) และ John Key ก็เคยเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศในเครือจักรภพ ซึ่งศรีลังกาเป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2013 
 
แต่การเดินทางเยือนครั้งล่าสุดของ John Key นับเป็นจังหวะก้าวครั้งใหม่ในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของสองประเทศ พร้อมกับการส่งสัญญาณการสานสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างหลากหลายและรอบด้านจากนิวซีแลนด์เข้าสู่ศรีลังกา
 
“ศรีลังกาคือแสงที่เจิดจรัสของภูมิภาคเอเชีย” เป็นคำกล่าวสรุปของ John Key ที่บ่งบอกนัยความหมาย และทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของนิวซีแลนด์ต่อประเทศที่อุดมด้วยโอกาสและพร้อมจะรองรับการลงทุนจากนิวซีแลนด์แห่งนี้
 
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกับกำหนดการเยือนศรีลังกาโดยผู้นำนิวซีแลนด์ครั้งนี้ก็คือ การสื่อโฆษณาทั้งโดยนิวซีแลนด์และออสเตรเลียผ่านโซเชียลมีเดีย ว่าด้วยการเปิดรับสมัครและคัดสรรชาวศรีลังกาที่มีทักษะและความสามารถเฉพาะทาง ทั้งวิศวกร แพทย์ พยาบาล รวมถึงผู้มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และไอทีให้เข้าไปทำงานและพำนักในประเทศทั้งสอง
 
ขณะเดียวกันสถานศึกษาจากทั้งสองประเทศก็พยายามสื่อสารถึงโอกาสใหม่ๆ สำหรับผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับ O Level และ A Level ในศรีลังกาให้มาศึกษาต่อในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียด้วย อาจเรียกได้ว่าเป็นการนำการศึกษาและโอกาสใหม่ในชีวิตมาผูกให้เกิดเป็นกระแสสำนึกและความตระหนักรู้ ที่สามารถต่อยอดไปสู่ความนิยมในแบรนด์ “นิวซีแลนด์” ไปในคราวเดียวกัน
 
ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ John Key ในการเดินทางเยือนศรีลังกาครั้งนี้อยู่ที่กำหนดการเปิดศูนย์เกษตรกรรมสาธิต Fonterra (Fonterra Demonstation Farm) ซึ่งวางเป้าหมายที่จะฝึกอบรมเกษตรกรชาวศรีลังกาจำนวน 2 พันรายต่อปี ให้สามารถพัฒนาการเลี้ยงและคุณภาพสินค้าในกลุ่ม dairy product อย่างครบวงจร
 
ในเอกสารเผยแพร่ของสำนักเลขาธิการประธานาธิบดีศรีลังกา (Presidential Secretariat of Sri Lanka) ได้อ้างถึงคำกล่าวของ John Key ที่ระบุว่าในฐานะที่นิวซีแลนด์และศรีลังกาต่างเป็นประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมที่แข็งแกร่ง นิวซีแลนด์หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความร่วมมือทั้งในมิติขององค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรชาวศรีลังกา และนิวซีแลนด์ไม่มีความปรารถนาที่จะเข้ามาแย่งชิงอาชีพของเกษตรกรศรีลังกาแต่อย่างใด
 
ความน่าสนใจประการหนึ่งของ Fonterra ซึ่งเป็นบรรษัทเอกชนในรูปแบบสหกรณ์ (เกษตรกรผู้ร่วมถือหุ้น: farmer shareholders) จากนิวซีแลนด์รายนี้ เข้ามาประกอบกิจการค้าอยู่ในศรีลังกายาวนานกว่า 35 ปีภายใต้แบรนด์ที่มีทั้ง Anchor Anlene และ Anmum ขณะที่โรงงานผลิตนมผงและผลิตภัณฑ์น้ำนมทุกรูปแบบของ Fonterra ที่เมือง Biyagama ก็ถือเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์นมแห่งใหญ่และทันสมัยที่สุดของศรีลังกาเลยทีเดียว
 
การรุกของทั้งรัฐบาลนิวซีแลนด์ และ Fonterra ในมิติที่ว่านี้จึงไม่ได้เป็นเพียงความพยายามขยายฐานทางธุรกิจโดยลำพัง หากในอีกด้านหนึ่งยังเป็นแรงกระตุ้นที่อาจหนุนนำให้เกิดพัฒนาการว่าด้วยการสร้างสหกรณ์เกษตรกรผู้ถือหุ้นแบบที่ Fonterra ดำเนินอยู่ด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรของศรีลังกาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
 
ยังไม่รวมถึงกรณีว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร (food security) ที่ทั้งสองชาติจะได้ประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวอีกโสตหนึ่ง
 
ขณะเดียวกันองค์ประกอบของเจ้าหน้าที่และคณะนักธุรกิจที่มาพร้อมกับ John Key ในครั้งนี้ ยังดำเนินไปท่ามกลางศักยภาพขององค์ความรู้ที่กำลังจะแผ่กว้างเข้าดึงดูดความสนใจของชาวศรีลังกา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ Education New Zealand หน่วยงานที่รับผิดชอบในสร้างแบรนด์ด้านการศึกษา และการส่งเสริมการศึกษาต่อในนิวซีแลนด์ รวมถึง Tait Communications ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ว่าด้วยระบบรักษาความปลอดภัยและการจัดการโครงข่าย ที่ต่างสะท้อนภาพการนำสังคมองค์ความรู้และ creative economy มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจและดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
 
การเดินทางเยือนศรีลังกาของนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์จึงมีนัยความหมายมากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อภารกิจด้านพาณิชย์ แบบ trade mission ทั่วไป หากแต่ยังสะท้อนความเจนจัดในมิติของความช่วยเหลือ ร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งในส่วนของการผลิตและการบริหารจัดการ ยังไม่นับรวมถึงประเด็นว่าด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรมที่มีนัยความหมายและกำลังจะกระตุ้นความสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐต่อรัฐและประชาชนต่อประชาชนได้อย่างลงตัว
 
โดยในการสนทนาระหว่าง John Key กับ Ranil  Wickremesinghe นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ช่วงหนึ่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้ชนะเลิศ 2015 Rugby World Cup ได้เสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนากีฬารักบี้ทีมชาติของศรีลังกา ให้สามารถก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของเอเชีย โดยอาจจะเชื้อเชิญอดีตผู้เล่นและผู้ฝึกสอนของนิวซีแลนด์ให้มาดูแลเรื่องนี้ ไม่นับรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินด้วย
 
ข้อเท็จจริงที่น่าเสียดายของทีมรักบี้ทีมชาติศรีลังกา ซึ่งมีสัญลักษณ์และสมญานามว่าเป็น “ช้างป่าผู้กล้าหาญ” (Brave Elephant: Tuskers) ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ พวกเขาถือเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของเอเชีย จะเป็นรองก็เพียงญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ที่เป็นทีมระดับนำ และอยู่ในการแข่งขัน Tri Nation ซึ่งถือเป็นการแข่งขันระดับสูงสุดของเอเชีย
 
ผลการแข่งขันระดับเอเชียครั้งล่าสุดเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ศรีลังกามีโอกาสที่จะขยับจากการแข่งขันระดับ Division 1 ขึ้นสู่การแข่งขัน Tri Nation แทนเกาหลีใต้ แต่ด้วยเหตุผลทางการเงินทำให้ศรีลังกาต้องถอนทีมออกจากแข่งขันในรอบ play off และปล่อยให้เกาหลีใต้อยู่ในการแข่งขัน Tri Nation ซึ่งถือเป็นการแข่งขันระดับสูงสุดของเอเชียต่อไป
 
การให้ความช่วยเหลือเป็นสันถวไมตรีแก่ “ช้างป่าผู้กล้าหาญ” ในกีฬารักบี้จากฝั่งฟากของนิวซีแลนด์ สร้างให้เกิดสีสันใหม่ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ของศรีลังกาไม่น้อยเลย ในขณะเดียวกันก็เกิดประเด็นย้อนแย้งจากการที่รัฐบาลศรีลังกาได้มอบของขวัญแก่นิวซีแลนด์เป็นลูกช้างเพศเมียอายุ 5 ปีนาม Nandi เพื่อส่งมอบให้กับสวนสัตว์เมือง Auckland ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ถึงความเหมาะสมจากบรรดานักกิจกรรมว่าด้วยสิทธิสัตว์ของทั้งศรีลังกาและนานาชาติพอสมควร
 
มิติมุมมองที่เกิดขึ้นจากประกฏการณ์เล็กๆ เหล่านี้ กำลังบอกกล่าวนัยความหมายไม่เฉพาะกับระบบความสัมพันธ์ที่กำลังจะพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นของประเทศเกาะทั้งสองประเทศนี้เท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งผู้ที่กำลังดำเนินบทบาทในการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายควรจะตระหนักและใส่ใจในความละเอียดอ่อนของบริบทที่อยู่แวดล้อม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อหาและความประสงค์ซึ่งต่างเป็นผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกันเท่านั้น
 
ปัญหาที่น่าจะช่วยกันขบคิดต่อไปก็คือ สังคมไทยจะสามารถเข้าใจและตกผลึกรากฐานทางวัฒนธรรม นำมาเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในฐานะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และ “การทูตเชิงวัฒนธรรม” นี้ได้อย่างไรหรือไม่ เป็นคำถามที่ท้าทายไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ
 
เครดิตภาพ: Presidential Secretariat of Sri Lanka