SAAM เปิดเกมรุกสินทรัพย์ดิจิทัล จับมือหนึ่ง ปรมินทร์ และ FWX ลุยธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเต็มตัว ชูบริการเพิ่มสภาพคล่องสร้างรายได้ระยะยาว ขยายฐานรายรับตลาดทุนใหม่ พร้อมเตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพ 10 ล้านดอลลาร์ มุ่งสู่การเป็น Microstrategy of Thailand
บริษัท เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAAM เดินหน้าเปิดกลยุทธ์สำคัญในการเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ชูบทบาท “ผู้ให้บริการ เพิ่มสภาพคล่อง” (Liquidity Provider) ให้กับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมเตรียมออกหุ้นกู้แปลงสภาพ วงเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 360 ล้านบาท) แบบไม่มีดอกเบี้ย เพื่อรองรับแผนการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างยั่งยืน
นายพดด้วง คงคามี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เพียงแค่การถือครองเหรียญเพื่อเก็งกำไร แต่เป็นการขยับเข้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ระยะยาว ด้วยการสร้างระบบในการเพิ่มสภาพคล่องและบริการพื้นฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ในช่วงเวลาที่บริษัทไทยหลายแห่งยังชั่งใจกับการเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัล SAAM กลับเดินหน้าเต็มที่ และไม่ได้มองเพียงแค่การลงทุนในคริปโทฯ แต่ก้าวสู่บทบาทการเป็นผู้วางโครงสร้างระบบ ที่รองรับการเติบโตของตลาดทุนแบบใหม่
“เราไม่ได้เข้ามาเพื่อถือเหรียญ แต่กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ที่จะช่วยให้ตลาดเติบโตและมีรายได้กลับคืนมาอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ต่างจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า หรือท่อส่งน้ำในโลกจริง” นายพดด้วง กล่าว
ผู้ให้บริการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล คือผู้ที่วางสินทรัพย์ทั้งคริปโทฯ และเงินบาทไว้ทั้งสองฝั่งของการเทรดในกระดานซื้อขาย โดยมีโมเดลรายได้ที่มาจาก
1) ส่วนต่างของราคาซื้อขาย (spread) ซึ่งเมื่อมีผู้ซื้อและขาย ผู้ให้บริการเพิ่มสภาพคล่องจะได้ส่วนต่าง
2) ความแตกต่างของราคาในแต่ละกระดานเทรด เมื่อราคาของคริปโทฯ ในหลายกระดานมีค่าแตกต่างกัน ผู้ให้บริการเสริมสภาพคล่องสามารถซื้อในที่ที่ราคาถูก และขายในที่ที่แพงกว่าได้ ผ่านระบบอัตโนมัติ
3) ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากกระดานเทรด
ปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นากาโมโตะ แล็บส์ จำกัด
ซึ่งมูลค่าการเทรดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยที่ SAAM สามารถให้บริการได้นั้นมีมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ
เบื้องหลังการขับเคลื่อนกลยุทธ์นี้ SAAM ไม่ได้เดินเดี่ยว แต่จับมือกับพันธมิตรสำคัญอย่าง นายปรมินทร์ อินโสม ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างบล็อคเชน และการกำกับดูแล และร่วมลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท ใน FWX แพลตฟอร์ม DeFi ที่มีเทคโนโลยี AI สำหรับการบริหารความเสี่ยงและเทรดแบบไร้ตัวกลาง
“การออกหุ้นกู้แปลงสภาพครั้งนี้ไม่ใช่แค่การระดมทุน แต่คือจุดเริ่มต้นของโครงสร้างใหม่ ที่เปิดให้ทั้งนักลงทุนและพันธมิตรระดับสถาบันเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเงินดิจิทัลที่ยั่งยืน” นายปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นากาโมโตะ แล็บส์ จำกัด กล่าวเสริม
อีกจิ๊กซอว์สำคัญคือ FWX แพลตฟอร์ม DeFi ที่พัฒนาเครื่องมือเทรดโดยใช้ AI เพื่อสร้างความคล่องตัวให้กับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแบบไร้ตัวกลาง ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนสถาบันสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเผชิญความซับซ้อนทางเทคนิค พร้อมยกระดับระบบ Liquidity Provision และ Digital Asset Market Making ให้แข็งแรงและต่อเนื่องในระดับโครงสร้าง
นายชานน จรัสสุทธิกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวเอ็กซ์ จำกัด (FWX) กล่าวว่า “FWX ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์ม DeFi ทั่วไป แต่เรากำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการซื้อขายที่สามารถเชื่อมโยงกับนักลงทุนสถาบันทั่วโลกได้อย่างแท้จริง โดยใช้ AI เข้ามาช่วยจัดการความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายภายใต้ระบบไร้ตัวกลาง ซึ่งถือเป็นหัวใจของ DeFi ยุคใหม่”
“การพัฒนา Web3 ที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากโครงสร้างสภาพคล่องที่แข็งแรง และการออกแบบที่รองรับการเติบโตแบบสถาบัน SAAM และ Nakamoto Labs กำลังวางรากฐานนี้ไว้อย่างมีระบบ ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดการเงินไทยในระยะยาว” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุดมศักดิ์ รักษ์วงวาร ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา บริษัท เอฟดับบลิวเอ็กซ์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติม
SAAM ย้ำว่าแผนธุรกิจใหม่นี้ไม่เพียงช่วยกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม แต่ยังสร้างแนวทางการเติบโตใหม่ที่เชื่อมโยงทั้ง “ทุน – เทคโนโลยี – โครงสร้าง” เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่บทบาทศูนย์กลาง Institutional DeFi และ Web3 Infrastructure ในระดับภูมิภาคและระดับโลก