วันพุธ, ธันวาคม 25, 2024
Home > New&Trend > วีซ่าเปิด 5 กลโกงที่มิจฉาชีพจ้องทำลายบรรยากาศเทศกาลส่งท้ายปี พร้อมแชร์ทิปใช้จ่ายอย่างปลอดภัย

วีซ่าเปิด 5 กลโกงที่มิจฉาชีพจ้องทำลายบรรยากาศเทศกาลส่งท้ายปี พร้อมแชร์ทิปใช้จ่ายอย่างปลอดภัย

เมื่อเทศกาลฉลองวันหยุดใกล้เข้ามา ขณะที่คุณกำลังเพลิดเพลินกับการมองหาดีลที่ดีที่สุดนั้น อย่าชะล่าใจไป เพราะมิจฉาชีพกำลังหาลู่ทางใหม่ ๆ มาฉวยโอกาสจากคุณอยู่เช่นกัน ซึ่งเป้าหมายของเจ้าพวกนี้คือมันจ้องจะขโมยเงิน ข้อมูลส่วนตัว และเข้าถึงบัญชีต่าง ๆ ของคุณโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อหาประโยชน์ต่อจากนั้นนั่นเอง

วันนี้ วีซ่า จะมาเตือนภัยห้าสุดยอดกลโกงที่เหล่ามิจฉาชีพพยายามฉวยความสุขในเทศกาลวันหยุดไปจากคุณ พร้อมแชร์ทิปดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณได้ใช้ช่วงเวลาแห่งความสุขกันอย่างปลอดโปร่งโล่งใจ ซึ่งข้อมูลดี ๆ แบบนี้ได้รับการแบ่งปันมาจากทีมด้านความเสี่ยงและควบคุมระบบนิเวศทางการชำระเงินของวีซ่า (Visa PERC) ที่จะช่วยให้พวกเรารู้เท่าทันเล่ห์มิจฉาชีพกัน

1. หลอกล่อด้วยการโจมตีแบบฟิชชิ่ง
การโจมตีแบบฟิชชิ่งมักมาในรูปแบบที่ดูไม่เป็นพิษเป็นภัย เช่น ข้อความขอความช่วยเหลือจาก “เพื่อน” หรืออีเมลประกาศว่าคุณเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ เพื่อไม่ให้คุณตั้งตัว แต่กลับทิ้งความเสียหายแบบเจ็บฝังลึกทั้งสิ้น

เพื่อหลอกล่อขโมยข้อมูลส่วนตัว พวกมิจฉาชีพมักอ้างว่าเป็นคนที่เราคุ้นเคย หรือจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ทั้งยังฉวยโอกาสจากข้อความแจ้งเตือน และพวกอีเมลต่าง ๆ ซึ่งเราอาจจะละเลยหรือดูไม่ถี่ถ้วนเพราะปริมาณที่มากขึ้นซึ่งแตกต่างจากช่วงเวลาปกติที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เพราะเราเองก็กำลังมองหาโปรโมชันดี ๆ เพื่อชอปปิงส่งท้ายปีเช่นกัน

จากข้อมูลของ Statista พบว่า เอเชียแปซิฟิกได้ตกเป็นเป้าของการโจมตีแบบฟิชชิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเวียดนาม ไต้หวัน และศรีลังกา อยู่ในกลุ่มท็อป 10 ของเป้าหมายที่โดนฟิชชิ่งมากที่สุดในโลก เมื่อมิจฉาชีพมาพร้อมวิธีฟิชชิ่งใหม่ ๆ และซับซ้อนยิ่งขึ้น การเพิ่มความระมัดระวังและรัดกุมให้มากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ทิปจากวีซ่า: ให้คุณทำตามสี่ขั้นตอนนี้ – หยุด ตรวจสอบ ถามให้รอบ และทำต่อเมื่อแน่ใจเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าคุณรู้ตัวว่าใครหรืออะไรที่คุณกำลังสื่อสารโต้ตอบด้วย ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวไป

2. สวมรอยเป็นร้านค้าที่คุณเลิฟ
เมื่อขาชอปกำลังตามล่าหาดีลสำหรับเทศกาลวันหยุด มิจฉาชีพก็ฉวยโอกาสนี้สวมรอยเป็นร้านค้าออนไลน์คอยจับเหยื่อแบบไม่ให้เรารู้ตัว ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา Visa PERC พบว่า มีเว็บไซต์ปลอมเพิ่มขึ้นถึง 284% เมื่อเทียบกับช่วงสี่เดือนก่อนหน้า เป็นสัญญาณเตือนว่าร้านค้าปลอมเหล่านี้กำลังเข้ามาสร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแน่

นอกจากสร้างร้านค้าออนไลน์และข้อมูลปลอมแล้ว มิจฉาชีพเหล่านี้ยังสามารถสร้างโฆษณาที่ดึงดูดใจ เสนอส่วนลดแบบถล่มทลายสำหรับสินค้าลักซ์ชัวรี่ต่าง ๆ เพื่อล่อให้เหยื่อส่งข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสำคัญสำหรับการชำระเงินมาเพื่อจบการซื้อขายที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

ทิปจากวีซ่า: ถามตัวคุณเองด้วยคำถามง่าย ๆ สามข้อนี้ ก่อนจะกลายเป็นเหยื่อมิจฉาชีพส่งท้ายปี

1. ข้อเสนอนี้น่าเชื่อหรือไม่

2. ฉันกำลังชำระเงินด้วยวิธีที่ปลอดภัยหรือไม่

3. ฉันต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมหรือไม่

3. หลอกเก็บข้อมูลส่วนตัวของคุณด้วยดีลปลอม

เทศกาลวันหยุดคือช่วงพีคของการเดินทางท่องเที่ยว ที่แน่นอนไม่ว่าจะการเดินทางโดยเครื่องบิน การสำรองที่พัก และการจองที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้มิจฉาชีพเลือกพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมเหล่านี้โดยการสร้างเว็บไซต์ปลอม ส่งอีเมลหลอกลวงเกี่ยวกับการยกเลิกเที่ยวบิน และทำรายการสถานที่เที่ยวช่วงเทศกาลวันหยุดที่ไม่มีอยู่จริงเพื่อหวังขโมยข้อมูลและเงินของคุณ

ในเอเชียแปซิฟิก มิจฉาชีพใช้บอทสำหรับ ‘Seat Spinning’ ตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ไม่ได้รับอนุญาต (OTAs) ใช้บอทเพื่อกว้านจองที่นั่งของสายการบินแบบยังไม่จ่ายเงินตุนไว้จำนวนมาก จากนั้นก็เอามาขายต่อบนเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อเก็บข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดเกี่ยวข้องกับการชำระเงินของคนที่จองไปด้วย

ทิปจากวีซ่า: คุณต้องแน่ใจว่าได้จองการเดินทางกับร้านค้าที่ไว้ใจได้ โดยตรวจสอบ URL ของผู้ให้บริการสายการบิน การท่องเที่ยว และที่พัก หลีกเลี่ยงโฆษณาออนไลน์ที่จะลิงก์ไปยังเว็บไซต์บริษัทท่องเที่ยวปลอม และสุดท้าย ชำระเงินผ่านช่องทางที่ปลอดภัยอย่างวีซ่า เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณหมดกังวลกับการฉ้อโกงแล้ว ยังสามารถติดตามการยกเลิก หรือการเปลี่ยนแปลงการจองเพื่อท่องเที่ยวของคุณได้ในทันที

4. ทำให้คุณเข้าใจผิดด้วยแอปปลอม

แอปมือถือปลอมที่มาในธีมเทศกาลวันหยุด โผล่ให้เห็นเยอะขึ้นในฤดูกาลท่องเที่ยว พร้อมเสนอบริการแบบครบวงจรตั้งแต่วางแผนการเดินทางไปจนถึงการค้นหากิจกรรม “สนุกๆ” อย่าง ตามรอยซานต้าทั่วโลก เป็นต้น

แม้ว่าบางครั้งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ประสบการณ์การท่องเที่ยว แต่อีกทางก็สามารถเป็นทัพหน้าของมัลแวร์ที่เข้ามาปล้นข้อมูลการล็อกอินและการชำระเงินของเราได้เช่นกัน ในความเป็นจริงมัลแวร์มือถือในเอเชียแปซิฟิกบันทึกสปายแวร์ที่พุ่งเป้าไปที่ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 77% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทิปจากวีซ่า: แม้ว่าการดาวน์โหลดแอปจากร้านค้าทางการจะพอช่วยได้ แต่ก็เพียงพาคุณไปยังเว็บไซต์ทางการของร้านค้าเพื่อยืนยันว่าแอปที่ดาวน์โหลดมานั้นเป็นอันที่ถูกต้อง การใช้งานแอปเหล่านี้ให้ระวังการอนุญาตให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลอะไรบ้างบนมือถือของคุณ ท้ายที่สุด ให้อัปเดตอุปกรณ์ของคุณอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าความปลอดภัยของเครื่องคุณเป็นปัจจุบัน

5. ขโมยบัตรและข้อมูลส่วนตัวของคุณ

ประการสุดท้าย เมื่อการชอปในเทศกาลหยุดยาวนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นแถมคนก็พากันออกไปท่องเที่ยวมากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องขโมยจึงสูงตามเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น การออกไปชอปก็เป็นการเปิดช่องให้คุณเสี่ยงโดนขโมยบัตรเพื่อการชำระ โทรศัพท์ หรือเหนือกว่านั้นคือขโมยข้อมูลสำคัญในการชำระเงินผ่านอุปกรณ์สกิมมิ่งจากตู้เอทีเอ็ม นอกจากภัยคุกคามทางดิจิทัลแล้ว ผู้บริโภคยังต้องตื่นตัว และรู้จักป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองด้วย

ทิปจากวีซ่า: เมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ ให้คอยระมัดระวังสิ่งรอบตัว และเก็บข้าวของให้ปลอดภัย แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่น่าสงสัย ณ ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่อง POS ที่จุดรับชำระเงินที่ได้รับอนุญาต ในกรณีที่ทำบัตรสูญหายให้ติดต่อธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรโดยทันที หรือให้แจ้งระงับข้อมูลสำคัญในการชำระเงินของคุณผ่านทางแอปโมบายแบงก์กิ้งเพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายไม่พึงประสงค์