วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > KALPITIYA: จุดหมายใหม่การท่องเที่ยว

KALPITIYA: จุดหมายใหม่การท่องเที่ยว

 
Column: AYUBOWAN
 
ความเป็นไปของ Puttalam และภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของศรีลังกา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเร่งระดมสรรพกำลังในการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในภาคการผลิต อุตสาหกรรมและพลังงานเท่านั้น 
 
หากแต่ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่ประกอบส่วนด้วย Lagoon ขนาดใหญ่ ชายฝั่งทะเลที่ทอดยาวกำลังได้รับการประเมินศักยภาพเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ
 
พื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการยกระดับและเร่งพัฒนาเพื่อเชื้อเชิญนักธุรกิจผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจากทั้งภายในและภายนอกประเทศให้เข้ามาลงทุนในระยะที่ผ่านมาอีกแห่งหนึ่ง อยู่ที่เขต Kalpitiya หมู่บ้านชาวประมง ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากโคลัมโบทางทิศเหนือ 160 กิโลเมตร และมีประวัติการณ์เชื่อมโยงกับการค้าทางทะเลและการเป็นจุดพักเรือมาตั้งแต่อดีตกาล
 
ยังไม่นับรวมถึงการเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ทั้งโปรตุเกสและดัตช์ เจ้าอาณานิคมต่างลงหลักปักฐาน และสถาปนาให้ Kalpitiya เป็นที่มั่นที่อุดมด้วยป้อมค่าย พร้อมกับส่งผ่านอิทธิพลทางวัฒนธรรมและทิ้งร่องรอยแห่งมรดกทางประวัติศาสตร์นี้ไว้ในนาม Dutch Bay จนถึงปัจจุบัน
 
ขณะที่ภูมิประเทศซึ่งเป็นแหลมทอดยาวไปกว่า 48 กิโลเมตรและมีความกว้าง 6-8 กิโลเมตรขนาบข้างด้วย Puttalam Lagoon ทางด้านตะวันออกและมหาสมุทรอินเดียทางชายหาดด้านตะวันตก ควบคู่กับการมีเกาะแก่งแวดล้อมอีกกว่า 14 แห่ง ทำให้ Kalpitiya กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ และกลายเป็นจุดขายที่น่าสนใจไม่น้อย 
 
ความพยายามที่จะพัฒนาให้ Kalpitiya เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่หนึ่งใน 15 แห่งของศรีลังกานี้ ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติมาตั้งแต่เมื่อปี 2003 และเริ่มมีกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและสันทนาการขยับขยายเข้ามาจับจองพื้นที่กว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมดใน Kalpitiyaในรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป
 
กระบวนการไล่รื้อหรือผลักดันชาวบ้านดั้งเดิมออกจากพื้นที่ เพื่อรวบรวมที่ดินมาพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยกว่า 2,500 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ กลายเป็นประเด็นในเชิงสังคม ที่ส่งผลต่อจิตวิทยาการเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่าสถานการณ์ความเป็นไปในห้วงยามเมื่อปี 2003-2004 ยังคุกรุ่นด้วยเปลวเพลิงแห่งสงครามกลางเมืองที่กำลังอยู่ในช่วงโหมประโคมเพื่อชัยชนะเบ็ดเสร็จของรัฐบาล
 
สถานการณ์ในพื้นที่ Kalpitiya และของศรีลังกาโดยรวม ดูจะเลวร้ายลงไปอีกเมื่อพื้นที่ชายฝั่งได้รับความเสียหายจากสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย 2004 แต่กลับเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนด้านธุรกิจท่องเที่ยวเบียดแทรกและฉวยจังหวะโอกาสในการเข้ามาครอบครองพื้นที่ชายฝั่งในราคาที่ต่ำลงไปอีกและเตรียมพร้อมที่จะรุกเดินหน้าในธุรกิจนี้
 
การสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองในปี 2009 นอกจากจะถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศศรีลังกาแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเป็นประหนึ่งการส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการในเกือบจะทุกสาขาธุรกิจที่รอคอยจังหวะโอกาสเข้ามาลงทุนในศรีลังกา ได้เริ่มโถมตัวเข้ามาสู่สังเวียนที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถประกาศตัวเป็นผู้ครองตลาดนี้อย่างเอิกเกริก
 
ภายใต้แผนการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุคสมัยของ Mahinda Rajapaksa ที่ได้รับการกล่าวถึงในนาม Mahinda Chintana นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะสนองตอบต่อนโยบายและทิศทางการพัฒนาของศรีลังกาในยุคหลังสงครามซึ่งกำลังต้องการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในทุกภาคอย่างมหาศาล 
 
ไม่นับรวมกับข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลศรีลังกาพยายามแสวงหาผู้ประกอบการมาพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งในมิติของการเป็นช่องทางในการดึงดูดเงินตราต่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับศรีลังกาไปในคราวเดียวกันด้วย
 
แผนการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ Kalpitiya ซึ่งประกอบส่วนไปด้วยการพัฒนาสนามบินภายในประเทศ การลงทุนเพื่อสร้างสวนสนุกใต้น้ำ (Under Water Amusement Park) สนามกอล์ฟ สนามแข่งม้า และสนามคริกเก็ต จึงไม่ใช่การนำเสนอที่เลื่อนลอย หากเป็นความมุ่งหมายที่ยังไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้นเพราะผลแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มาคั่นจังหวะเสียก่อน
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในขณะที่รัฐบาล Mahinda Rajapaksa พยายามจะเร่งพัฒนาการลงทุนด้านการท่องเที่ยว แต่ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพพลัดถิ่น (displaced persons) ในพื้นที่เป้าหมายเหล่านี้ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือเยียวยาให้ได้มีที่อยู่อาศัย และนั่นอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Mahinda Rajapaksa สูญเสียคะแนนนิยมจากมวลชนฐานรากไปโดยปริยาย
 
ขณะเดียวกัน การเร่งพัฒนาพื้นที่เพื่อการขยายธุรกิจการท่องเที่ยวได้สร้างความกังวลในประเด็นว่าด้วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เพราะพื้นที่ใน Kalpitiya ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่มีความสมบูรณ์ทางนิเวศและหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของศรีลังกา และทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องเร่งวางมาตรการและแผนพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย
 
กระนั้นก็ดี กิจกรรมว่าด้วยการท่องเที่ยวของ Kalpitiya ไม่ได้หยุดชะงักลงไปมากนัก หากแต่กำลังไต่ระดับความนิยมขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการผจญภัย เพราะนอกจาก Kalpitiya จะเป็นจุดเริ่มต้นของการไปเฝ้าชม วาฬ และโลมา นอกชายฝั่งแล้ว ที่นี่ยังมีแนวปะการังให้ได้สำรวจและชื่นชมความงามใต้ผืนทะเลด้วย
 
แต่กิจกรรมทางน้ำที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมมากขึ้นเป็นลำดับก็คือ Kitesurfing ซึ่งพร้อมส่งมอบความตื่นเต้นท้าทายให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่ต้องการความประทับใจจากกิจกรรมทางน้ำรูปแบบนี้ และทำให้โรงแรมที่พักหลายแห่งใน Kalpitiya ชูจุดขายการเป็น kite beach villa เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
 
ภายใต้การแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ที่กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ การกำหนดตำแหน่งของศรีลังกาซึ่งต้องแข่งขันกับทั้งเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียใต้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดียที่อุดมด้วยทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวทั้งในมิติของวัฒนธรรม หรือมัลดีฟส์ ที่มีจุดขายว่าด้วยหาดทรายและท้องทะเลกว้างใหญ่ ถือเป็นกรณีที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง
 
ความพยายามของรัฐบาลศรีลังกาที่ต้องการเบียดแทรกเข้ามาเป็นอีกหนึ่งจุดหมายทางเลือกในตลาดท่องเที่ยว ในช่วงที่ผ่านมา จึงอยู่ที่การระบุว่าศรีลังกาเป็นจุดหมายปลายทางที่มีครบครันทุกมิติให้นักท่องเที่ยวได้เลือกตามความต้องการและประสบการณ์ที่ประสงค์จะเก็บเกี่ยว
 
จังหวะแห่งการก้าวย่างของการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ Kalpitiya ในห้วงยามนับจากนี้ อาจเป็นประหนึ่งข้อต่อที่จะสะท้อนวิถีแห่งการดำเนินไปของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวศรีลังกาว่าจะสามารถสร้างสมดุลในการพัฒนาและก่อให้เกิดแรงเหวี่ยงเพื่อเปลี่ยนผ่านการรับรู้ของนักท่องเที่ยวได้มากน้อยอย่างไร เป็นเรื่องที่ชวนติดตามไม่น้อยเลย