วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Life > ปรับทัศนคติเกี่ยวกับอาหาร… ด่วน

ปรับทัศนคติเกี่ยวกับอาหาร… ด่วน

 
Column: Well – Being
 
เรื่องราวที่นำเสนอต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้อาหารเพื่อช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น หรือทำให้ผ่อนคลายที่ได้ลิ้มรสอาหารรสเลิศหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน แต่เป็นการนำเสนอแนวคิดใหม่ล่าสุดที่ว่า การใส่อารมณ์ลงไปในมื้ออาหารด้วยนั้น ช่วยทำให้เรามีสุขภาพดีขึ้นและช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย
 
นิตยสาร Shape กล่าวถึงกระแสของคนอเมริกันยุคนี้ ซึ่งอาจหมายรวมถึงคนในเมืองใหญ่ทั่วโลกด้วยว่า พวกเขามองว่าการบริโภคกลายเป็นภารกิจในการทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน กากใย สารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่สิ้นเปลืองเวลาน้อยที่สุด ที่สำคัญ คนอเมริกันไม่ต้องการใส่อารมณ์หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ใส่ใจ” ลงไปในมื้ออาหารมากนัก เพราะอาจทำให้พวกเขาบริโภคมากเกินไป หรือบริโภคอาหาร “ผิดๆ” อย่างขนมปัง หรือคัพเค้ก
 
ผลที่ตามมาคือ มื้ออาหารไม่ได้หมายถึงความสุขเพลิดเพลินจากอาหารแสนอร่อยอีกต่อไป แต่กลายเป็นหน้าที่ที่ต้องบริโภคในทำนองว่า “ฉันหิวแล้ว ขออาหารที่กินง่าย เร็ว และมีคุณค่า เพื่อจะได้รีบกลับไปทำอะไรอื่นอีกร้อยพันอย่าง”
 
เราต่างให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่ดีที่ทำให้แข็งแรงขึ้น มีพลัง และมีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เราทำกิจกรรมอันสับสนวุ่นวายจนลุล่วงไปได้พร้อมๆ กัน เราหวั่นวิตกมากว่า ถ้ายอมตามใจปาก บริโภคแต่อาหารขยะ เราจะสูญเสียการควบคุมทั้งหมด และได้รับพลังงานส่วนเกินอย่างมหาศาล
 
แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับเห็นว่า ถ้าเราไม่มีความสุขขณะบริโภค เราจะเกิดความพึงพอใจลดลง และมีแนวโน้มบริโภคเกินด้วยซ้ำไป โดย เจนนี เทตซ์ นักจิตวิทยาคลินิกแห่งนิวยอร์ก ซิตี ยืนยันว่า “การบริโภคควรเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความสุขเพลิดเพลิน”
 
ความสะดวกมาอันดับหนึ่ง
IRI บริษัทวิจัยผู้บริโภคในอเมริกา สะท้อนภาพผู้บริโภคยุคนี้ว่า ชาวอเมริกัน 66 ล้านคนกลายสภาพเป็น “นักกินขณะทำกิจกรรม” เช่น กินอาหารเช้าด้วยผลไม้ปั่นหนึ่งแก้ว หรือขบเคี้ยวอัลมอนด์ระหว่างขับรถ หรือกินโปรตีนแท่งหลังกลับจากออกกำลังกายและมุ่งหน้ากลับบ้าน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คุณแทบไม่มีเวลาซึมซับรสชาติหรือเนื้อสัมผัสของอาหารที่อยู่ในปาก
 
เคลลี ไวเคล ผู้อำนวยการฝ่ายผู้บริโภคของ Technomic, Inc. บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาที่ดำเนินธุรกิจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มอาหารและการบริโภค กล่าวว่า “ความสะดวกเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันอยู่เบื้องหลังการเลือกอาหาร เพราะวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้เราต้องมีวิถีบริโภคอย่างนี้”
 
ขณะเดียวกัน รายงานของ Technomic Consumer Trend Report Series ชี้ว่า คนอเมริกันร้อยละ 32 ยอมรับว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจาก “กินไปพลาง ทำกิจกรรมไปพลาง” ขณะที่ร้อยละ 21 กล่าวว่า พวกเขาแทบไม่มีเวลาหยุดและเพลิดเพลินกับมื้ออาหาร
 
จึงไม่น่าแปลกที่คนอเมริกันรุ่นนี้เข้าครัวทำอาหารน้อยกว่าคนรุ่นก่อนมาก มีคนอเมริกันเกินร้อยละ 50 เพียงเล็กน้อยที่มีโอกาสทำอาหารแม้เพียงหนึ่งมื้อต่อวัน โดยข้อมูลขององค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ระบุว่า ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ชาวอเมริกันให้เวลากับการทำอาหารและการบริโภคน้อยที่สุด ทั้งยังมีแนวโน้มกินอาหารคนเดียวมากขึ้นเรื่อย ๆ
 
ผลการสำรวจของบริษัท Hartman Group ระบุว่า มีคนอเมริกันถึงร้อยละ 53 กินอาหารเช้าเพียงลำพัง โดยมากขณะอยู่ในรถหรือที่ทำงาน อีกร้อยละ 46 กินการเที่ยงคนเดียว ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่า พวกเขามีแนวโน้มกินอาหารเย็นคนเดียวมากขึ้นด้วย
 
ดอว์น แจ็คสัน นักกำหนดอาหารและกรรมการที่ปรึกษาของนิตยสาร Shape สรุปว่า เมื่อไม่มีใครพูดคุยด้วยในระหว่างมื้ออาหาร พวกเขามักนั่งหน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ ทำให้บริโภคอย่างขาดความระมัดระวัง “ปัญหาคือ เมื่อทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เรามักบริโภคมากขึ้นและมีความสุขกับอาหารน้อยลง”
 
เมื่อเร็วๆ นี้ Bureau of Labor Statistics เปิดเผยผลการสำรวจว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันใช้เวลารวมกันเพียงหนึ่งชั่วโมงเล็กน้อย สำหรับกินอาหารหลักสามมื้อและอาหารว่าง การกินกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และพวกเขาคิดว่า ดีเสียอีกตราบเท่าที่รู้จักเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์
 
แต่เอลิซา ซีด นักกำหนดอาหารแห่งนิวยอร์กซิตีแย้งว่า พวกเขาอาจรู้สึกอิ่มท้องก็จริง แต่ลึกๆ แล้วกลับโหยหาประสบการณ์การกินอาหารอย่างมีความหมาย “การกินเป็นหนึ่งในความสุขเพลิดเพลินมากที่สุดของมนุษย์ เมื่อขาดความรู้สึกนี้เสียแล้ว การกินจะจบลงด้วยความรู้สึกว่างเปล่าและไร้สุข”
 
อาหารเป็นตัวเชื่อมโยง
เมื่อพูดถึงการกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างมีความสุข เราได้เรียนรู้มากมายจากคนที่อยู่ใน Blue Zones ที่ซึ่งพวกเขามีอายุยืนที่สุด และได้รับการจัดอันดับว่าติดกลุ่มผู้มีความสุขที่สุดในโลก
 
สุรศักดิ์ ชวยานันท์ อธิบายถึงที่มาของคำว่า Blue Zones ว่าเริ่มต้นมาจาก Dr. Michel Poulain นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ชาวเบลเยียม ผู้ศึกษาเรื่องราวของกลุ่มประชากรที่มีอายุยืนทั่วโลก ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เขาเกิดความสงสัยว่า ทำไมผู้ชายชาวซาดีเนีย มีอายุยืนยาวกว่าผู้หญิงชาวซาดีเนีย ทั้งๆ ที่งานสำรวจประชากรที่ทำกันมาทั้งหมดมักพบว่า ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายเสมอ
 
Dr. Michel Poulain จึงได้ร่วมกับ Dr. Gianni Pes นักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ชาวอิตาลี ค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์รายงานวิจัยชิ้นนี้ ในครั้งแรก Dr. Michel Poulain ได้ทำการศึกษาหาข้อมูลของคนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป โดยเริ่มต้นในห้องวิจัยด้วยการระบุตำแหน่งบนแผนที่โลก เมื่อพบผู้ที่มีอายุยืนจากสถานที่ใด ก็ใช้ปากกาสีน้ำเงินวงพื้นที่ตรงนั้นไว้ในแผนที่ จึงได้กลายเป็นที่มาของคำว่า Blue Zones หรือโซนสีน้ำเงิน
 
Blue Zone จึงเป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใดก็ตามในโลก ที่มีสัดส่วนของประชากรที่มีคนอายุยืนนาน คนกลุ่มนี้ยังเป็นคนชราที่มีสุขภาพดี แข็งแรง และมีชีวิตชีวา อยู่ในช่วงอายุ ๘๐ ปีขึ้นไป จนสามารถฉลองอายุครบรอบหนึ่งศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปีได้
 
ปัจจุบัน Blue Zones ในทั่วโลกมี 5 แห่งคือ แถบภูเขาซาดีเนีย ประเทศอิตาลี, เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, แหลมนิโคยา ประเทศคอสตาริกา, เมืองโลมาลินดา ประเทศสหรัฐ และเกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซ
 
แดน บิวต์เนอร์ ผู้เขียนหนังสือ The Blue Zones Solution: Eating and Living the World’s Healthiest People กล่าวว่า
 
“คุณจะไม่เคยเห็นผู้คนแถบ Blue Zones กินอาหารขณะขับรถ พวกเขาจะไม่ถูกเบี่ยงเบนความสนใจจากมื้ออาหารตรงหน้า”
 
บิวต์เนอร์ยังวิจัยพบว่า การได้รวมกลุ่มกันกินอาหารที่มีประโยชน์กับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ไม่เพียงทำให้เรามีความสุขและผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังทำให้สามารถลดน้ำหนักและมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วย
 
ช่วงเวลาที่อยู่ในวงล้อมของคนที่คุณรักและชอบ และการได้เชื่อมโยงเชิงสังคมกับพวกเขานี่แหละ ที่ทำให้ร่างกายลดการผลิตคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่สามารถส่งผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร และเป็นสาเหตุให้เราเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินในรูปของไขมัน โดยเฉพาะบริเวณส่วนกลางลำตัว
 
เขายังอธิบายว่า “เมื่อคุณอยู่ในภาวะเร่งรีบ วิตกกังวล หรือโดดเดี่ยว ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อภาวะอักเสบที่นำไปสู่การเป็นโรค”
 
นอกจากนี้ การลงมือทำอาหารแม้เพียงง่ายๆ ยังช่วยลดความเครียดและมีโอกาสแสดงตัวตนของตนเองอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราหมกมุ่นกับการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์และใช้งานสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบจับต้องไม่ได้ การได้ลงมือนวดแป้งหรือทำสลัดง่ายๆ จึงช่วยสร้างความสุขเพลิดเพลินได้
 
นำความสุขกลับสู่มื้ออาหาร
ผู้เชี่ยวชาญเน้นว่า แทนการเน้นที่สารอาหารและปัจจัยความสะดวกที่ได้รับจากอาหารที่บริโภค เราจำเป็นต้องหวนกลับสู่การได้สัมผัสกับความสุขเพลิดเพลินจากอาหารดี ๆ และความรู้สึกที่เราได้รับจากอาหารนั้นๆ ต่อไปนี้เป็นสี่วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เกิดขึ้นได้
 
หยุดกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน–ผลการวิจัยชี้ว่า ผู้คนยิ่งบริโภคอาหารมากขึ้นเมื่อดูรายการทีวีนานขึ้น เพราะสมองไม่มีโอกาสบันทึกอย่างแน่นอนว่า คุณบริโภคอาหารเข้าไปมากเท่าไร ทุกครั้งที่กินอาหาร ให้นั่งกินที่โต๊ะ และปิดอุปการณ์อิเล็กทรอนิกส์ในห้องทั้งหมด
 
กินอย่างตั้งใจขึ้น–ให้ตั้งใจกินอาหารแต่ละคำอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ลิ้มรสชาติ เนื้อสัมผัส และกลิ่นอย่างแท้จริง วิธีนี้ช่วยให้คุณซาบซึ้งในอาหารมากขึ้น และทำให้มื้ออาหารมีความพิเศษ
 
ทำอาหารเองเมื่อมีโอกาส–ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้พยายามลงมือทำอาหารเอง แม้มีโอกาสเพียงครั้งคราว เพราะทำให้คุณมีอารมณ์ร่วมมากขึ้นกับสิ่งที่ได้บริโภค
 
กินอาหารร่วมกับผู้อื่น–แทบไม่มีอะไรดีกว่าความสุขจากการได้ร่วมโต๊ะกินอาหารดีๆ กับคนที่คุณรัก