วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > พิบัติภัยธรรมชาติ กับงานวิศวกรรมบูรณะโบราณสถาน

พิบัติภัยธรรมชาติ กับงานวิศวกรรมบูรณะโบราณสถาน

 
เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่เกิดขึ้น ณ ประเทศเนปาลเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558 นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงของเนปาลที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นทำให้อาคารเก่าแก่หลายศตวรรษ แหล่งโบราณสถานและมรดกโลกในหุบเขากาฐมาณฑุถูกทำลาย 
 
โบราณสถานเหล่านี้ทรงคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และเป็นดั่งแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้มาเยือนเนปาล สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนไม่น้อย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่อาจประเมินค่าได้ ขณะเดียวกันหลายฝ่ายก็อดกังวลไม่ได้ว่า เหตุการณ์เดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับโบราณสถานในประเทศไทยหรือไม่ 
 
อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทยเองก็ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุทกภัย วาตภัย และธรณีพิบัติ สร้างความเสียหายให้กับถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และสถานที่ต่างๆ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม
 
คณะวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำโดย รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ. ดร.อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ได้ลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับผู้แทนกรมศิลปากร เพื่อศึกษาร่องรอยการเคลื่อนตัวของโบราณสถาน สาเหตุ และแนวทางการบูรณะซ่อมแซมตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งพบร่องรอยความเสียหายของโบราณสถานสำคัญดังนี้
 
องค์เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล จากการสำรวจพบว่า องค์เจดีย์เกิดการทรุดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 3.49 เมตร หรือราวๆ 3.5 องศา ถ้ามองจากระยะไกลจะเห็นความทรุดเอียงได้อย่างชัดเจน โดยเอียงมานานกว่า 20 ปี และมีการบูรณะครั้งใหญ่ไปเมื่อปี พ.ศ. 2522 สำหรับสาเหตุของการทรุดเอียงนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ให้ความเห็นว่า น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งจากฐานอิฐที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและปัจจัยจากดินอ่อนตัวทำให้เกิดการทรุดตัวของชั้นดิน ซึ่งปัญหาอุทกภัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งการทรุดตัวของดิน 
 
โครงสร้างของเจดีย์ใช้อิฐเป็นหลัก รูปทรงสมมาตร ฐานใหญ่คล้ายพีระมิด ซึ่งเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดในสมัยนั้น แต่อย่างไรก็ตาม อิฐซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของเจดีย์ มีกำลังเพียง 1 ใน 10 ของคอนกรีตเท่านั้น ซึ่งสมัยก่อนไม่มีคอนกรีต นานวันเข้าจึงเกิดการเสื่อมสภาพ ผุกร่อน และทำให้ทรุดตัวลงได้ง่ายๆ
 
อีกทั้งชั้นดินของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นดินอ่อน รับน้ำหนักได้ไม่ดีนัก และเมื่อเจอกับปัญหาน้ำท่วมยิ่งทำให้ดินอ่อนตัวมากขึ้น หากการกระจายน้ำหนักของเจดีย์ไม่สมดุล เทไปจุดใดจุดหนึ่ง จะส่งผลให้เจดีย์ทรุดเอียงได้ แต่ด้วยรูปทรงขององค์เจดีย์ที่มีฐานใหญ่คล้ายพีระมิด ดังนั้นเจดีย์จะไม่ถล่มลงมาง่ายๆ แต่อาจจะสะสมการเอียงตัวไปเรื่อยๆ
 
ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยคือ การขยายตัวของเมืองและการจราจรโดยรอบโบราณสถาน สร้างแรงสั่นสะเทือนที่พื้น ซึ่งส่งผลต่อโบราณสถานได้ ส่วนผลกระทบจากแผ่นดินไหวนั้น แม้บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไม่ได้อยู่ในแนวรอยเลื่อน ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวมีโอกาสเกิดน้อยกว่าทางภาคเหนือของไทย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
 
สำหรับแนวทางการบูรณะนั้น นักวิจัยชี้ว่าต้องทำการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการทรุดตัวที่เกิดขึ้นเสียก่อนเพื่อที่จะทำการบูรณะได้ตรงจุดและส่งผลดีที่สุด แนวทางคือต้องหยุดการทรุดตัวและเสริมความแข็งแรงของอิฐ โดยการใช้ปูนเกร๊าท์ (Grout) ซึ่งเป็นปูนอัดด้วยแรงดันฉีดเข้าไปเพื่อประสานและอุดช่องโหว่ของอิฐ สำหรับชั้นดินที่อ่อนตัวนั้น ให้ใช้ซีเมนต์ปั่นกับดินแล้วเสริมเข้าไปเพื่อทำให้ดินที่อ่อนตัวมีความแข็งแรงขึ้น
 
ด้านมุมมองของนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ให้ความเห็นไว้ว่า เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลยังมั่นคงแข็งแรงอยู่ เจดีย์จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายนั้นต้องเอียงเกิน 1 ใน 3 จากจุดศูนย์กลาง ซึ่งความทรุดเอียงที่เกิดขึ้นยังไม่ถึงขนาดที่น่ากังวล แต่ถ้ามีการทรุดเอียงมากขึ้นหรือมีปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความเสียหายก็จำเป็นต้องบูรณะเสริมความแข็งแรงต่อไป แต่ตอนนี้เห็นว่ายังไม่น่ากังวล เพราะการบูรณะไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคำนึงความปลอดภัยของส่วนอื่นประกอบด้วย
 
อีกจุดหนึ่งที่เกิดความเสียหายของโบราณสถานคือที่วัดไชยวัฒนาราม พบการเคลื่อนตัวของเจดีย์เจ้าฟ้ากุ้ง มีรอยแยกขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน ซุ้มประตูแยกตัวออกจากกำแพงวัด พระปรางค์เกิดรอยแยก สาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้น รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม ชี้ว่า วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเกิดน้ำท่วมเกือบทุกปี การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำส่งผลโดยตรงต่อความแข็งแรงของดิน เกิดดินแห้งและดินอ่อนสลับกัน ทำให้พื้นไม่แข็งแรง โบราณสถานที่ตั้งอยู่จึงไม่มั่นคง เกิดความเสียหายอย่างที่ปรากฏให้เห็น
 
แนวทางการบูรณะคือวิเคราะห์การเอียงที่เกิดขึ้น เสริมความแข็งแรง และหยุดการเคลื่อนตัวของเจดีย์ โดยใช้โครงเหล็กเสียบเข้าไปในตัวขององค์เจดีย์ด้วยวิธีการทางวิศวกรรมเพื่อยึดเจดีย์เอาไว้ ที่ผ่านมากรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะไปบางส่วน แต่มีปัญหาเรื่องบุคลากร จึงต้องจ้างบริษัทจากภายนอกเข้ามาบูรณะ ต้องใช้งบประมาณสูงและขาดความต่อเนื่อง
 
ทีมนักวิจัยเล็งเห็นความสำคัญของโบราณสถาน จึงพยายามผลักดันให้มีการเก็บข้อมูลของโบราณสถานอย่างต่อเนื่อง ทั้งลักษณะและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นการตรวจสุขภาพของแหล่งโบราณสถานนั้นๆ บันทึกไว้เป็นฐานข้อมูล เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในอนาคต อีกทั้งพยายามหาเทคนิควิธีและความรู้สมัยใหม่ในการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน เพื่อที่กรมศิลปากรและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
 
เมื่อเรามีฐานข้อมูลที่ดีและมีแนวทางการบูรณะโบราณสถานที่เหมาะสม ยามที่ต้องประสบปัญหาภัยพิบัติหรือความเสื่อมตามกาลเวลา เราจะสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และรักษาสิ่งที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป
 
 
รอยแยกระหว่างซุ้มประตู วัดไชยวัฒนาราม