“วันนี้ยากที่สุด ผมอยากเห็นความรวดเร็วและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทุกแผนงาน”
ความเคลื่อนไหวของตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทยในช่วงหลายปีมานี้ ดูจะเต็มเปี่ยมด้วยสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจ และการขับเคี่ยวในชั้นเชิงทางธุรกิจที่น่าสนใจติดตามไม่น้อย
การวางยุทธศาสตร์เพื่อการรุกคืบและขยายธุรกิจประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่กำลังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของตลาดเครื่องดื่ม ไม่เฉพาะในบริบทประเทศไทยเท่านั้น แต่อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในเวทีภูมิภาคอีกด้วย
“ผมว่า วันนี้ยากที่สุด ช่วงที่ผ่านๆมาเราก็แก้ไปได้ดีที่สุด เพียงแต่วันนี้ผมมองว่า การถูกมอบหมายให้รับผิดชอบในภาระที่กว้างขึ้น ยิ่งจะใจร้อนยิ่งขึ้น อยากเห็นผลลัพธ์ที่ออกมา เหมือนอย่างทีมของผมในช่วงปีที่ผ่านมา ผมอยากเห็นความรวดเร็วและผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ทีมท่องกันหลายรอบ Speed and Result ทุกแผนงาน”
เป็นความคิดรวบยอดของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่บอกกับ “ผู้จัดการ 360” เมื่อไม่นานมานี้ เป็นประหนึ่งบทนิยามทางยุทธศาสตร์
ก่อนที่ ไทยเบฟเวอเรจ จะรุกขยายธุรกิจด้วยเงินลงทุนถึง 2,800ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 29% ของบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ “เอฟแอนด์เอ็น” ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ เพื่อสิทธิในการครอบครองพอร์ตเครื่องดื่ม non-alcohol ของ F&N รวมไปถึงการเสนอขอซื้อหุ้นในส่วนของ คิริน โฮลดิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น อีก 15% ด้วย
ทั้งหมดเป็น “ก้าวกระโดดที่รวดเร็วและเล็งผลเลิศ” ซึ่งฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะทายาทรุ่น 2 ของเจริญ สิริวัฒนภักดี วางเป้าหมายไว้ตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นกุมบังเหียนไทยเบฟเวอเรจ อย่างเต็มตัว และดูเหมือนว่า ฐาปน ไม่ได้พึงพอใจที่จะหยุดเติบโตเพียงเท่านี้ แต่กำลังพิจารณามองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ
“ช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ได้ความรู้มากมาย เปลี่ยนจากวัยเรียนเป็นวัยทำงาน เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ปรับตัวรับสิ่งใหม่ๆ เพราะเหตุการณ์แตกต่างกันไปหมด ผมเรียนรู้การผลิต อยู่ที่โรงงาน เรียนรู้เรื่องตัวสินค้า ตลาดต่างประเทศ ได้ใกล้ชิดทำงานกับทีมฝรั่ง มาทางด้านการขาย การตลาด ภาพรวม ทุกสิ่งทุกอย่างในประเด็นมีรายละเอียดของมันเอง”
ฐาปน ย่อมมีโอกาสผ่านเรื่องราวและการบ่มเพาะทางธุรกิจจาก เจริญ สิริวัฒนภักดี และทีมงานผู้บริหารอาวุโสที่แวดล้อมอยู่รอบตัว เจริญ อย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน ฐาปน ก็กำลังดึงผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ที่มากฝีมือจากทุกสารทิศเข้ามาประกอบส่วนเป็นทีมงานเพื่อรองรับการรุกทางธุรกิจครั้งใหม่ ที่รอคอยการพิสูจน์ความสำเร็จของตัวเขาเองอยู่เบื้องหน้า
การปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหาร ด้วยการดึงมืออาชีพคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นคณะผู้บริหาร อาจให้ภาพที่แตกต่างจากสไตล์การบริหารธุรกิจครอบครัวแบบเดิมที่องค์กรบางแห่งยังคงรักษาไว้ หากแต่ข้อแตกต่างที่ชัดเจนในกรณีของ ไทยเบฟเวอเรจ ก็คือการปรับเปลี่ยนในเชิงของนโยบาย ไปสู่มิติที่เน้นกลยุทธ์เชิงรุกที่รวดเร็วมากขึ้นและหวังผลด้านการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
เพราะวันนี้ ฐาปน เป็นนักธุรกิจที่มีภาระในการบริหารบริษัทในเครือมากถึงกว่า 106 บริษัท ดูแล 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งกลุ่มธุรกิจสุรา ที่มีมากกว่า 30 แบรนด์ กลุ่มธุรกิจเบียร์ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มธุรกิจอาหาร ทั้ง 4 กลุ่มสร้างรายได้รวมกว่า 132,186 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ตัวเลขสัดส่วนรายได้จาก กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มธุรกิจอาหารในระดับ 8% และ 3% ตามลำดับ ย่อมไม่ใช่ตัวเลขที่ ฐาปน คาดหวังและพึงใจ
แน่นอนว่า เป้าหมายของ ไทยเบฟเวอเรจ ไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศ หลังจากที่นำกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ช้างและแม่โขง รุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว ไทยเบฟเวอเรจ วางกลยุทธ์และน้ำหนักไว้ที่กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ประเมินว่ามีโอกาสเติบโตอีกมาก
การเกิดขึ้นของ บริษัท โออิชิอินเตอร์เนชั่นแนล และการจดลิขสิทธิ์แบรนด์ “โออิชิ” เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรุกเข้าสู่ตลาดในระดับสากล ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ “ชาเขียว” เท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงเครื่องดื่มในสายการผลิตอีกหลากหลายแบรนด์ และเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่ได้จาก F&N เข้ามาเติมเต็มความแข็งแกร่งเพิ่มอีก
“ไทยเบฟเวอเรจ ต้องขยายไปยังสินค้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เราทำมาตลอด เกือบ 6 ปี สร้างฐาน เตรียมความพร้อมต่างๆ เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้น อีก 5-10 ปีข้างหน้า ผมอยากเห็นคนไทยภาคภูมิใจกับไทยเบฟเวอเรจ ที่มีสินค้าที่เชิดหน้าชูตาคนไทย และมีสินค้าออกจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศ เน้นนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม รองรับตลาดอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและตลาดทั่วโลก”
เป็นประหนึ่งคำประกาศ เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านธุรกิจ เครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และขยายสู่ตลาดโลกให้มากยิ่งขึ้น สอดรับกับกลไกของระบบการค้าเสรีที่กำลังรุกไล่รูปแบบธุรกิจเดิมๆ ทีละน้อย ช่วงเวลานับจากนี้ จึงถือเป็นก้าวย่างและจังหวะรุกของทั้ง ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ไทยเบฟเวอเรจ ที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง
ติดตามเรื่องราวและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.gotomanager.com และdowmload
Manager 360 on iPad
เดือนพฤศจิกายน 2555 นี้