วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > รายงานล่าสุดของ ‘แกรนท์ ธอนตัน’ ชี้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด

รายงานล่าสุดของ ‘แกรนท์ ธอนตัน’ ชี้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด

รายงานธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Report: IBR) สำหรับครึ่งแรกประจำปี 2566 ที่จัดทำโดยแกรนท์ ธอนตัน ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดของสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยโดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่ลดลง โดยรายงานฉบับนี้ได้รวบรวผลการสำรวจและการสัมภาษณ์ธุรกิจในตลาดระดับกลางอย่างละเอียดเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มและเงื่อนไขทางธุรกิจที่คาดหวังในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้

รายงานธุรกิจระหว่างประเทศครึ่งแรกประจำปี 2566 ฉบับล่าสุดนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงความคาดหวังของบรรดาผู้นำทางธุรกิจต่อการเติบโตอย่างเต็มรูปแบบของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายหลังสถานการณ์โรคระบาดรวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รอคอยมาเป็นเวลานานที่ต้องเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่ามกลางปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในประเทศยูเครนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงการกลับมาของโรคระบาดระลอกใหม่

เปลี่ยนสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

คะแนนสุขภาพทางธุรกิจในช่วงเวลาปัจจุบันของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 นั้นถือเป็นเรื่องน่ายินดีต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากคะแนนสุขภาพทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางนั้นติดอยู่ในแดนลบมาตลอดหกเดือนที่ผ่านมา ในส่วนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คะแนนสุขภาพธุรกิจที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางเป็นผู้รายงานด้วยตนเองที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ -2.8 ตามรายงานฉบับก่อน (ผลคะแนนคำนวณจากผลรวมค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของการตอบสนองเชิงบวกและเชิงลบซึ่งอยู่ในช่วง -50 ถึง +50)

ทั้งภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยต่างรายงานการฟื้นตัวของตัวชี้วัดต่าง ๆ รวมไปถึงผลรวมในอัตราที่สูงกว่าคะแนนสุขภาพทางธุรกิจข้างต้น ซึ่งปัจจุบันคะแนนสุขภาพทางธุรกิจของภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นร้อยละ 9.9 และประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 14.3 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม คะแนนสุขภาพทางธุรกิจของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจถึงร้อยละ 5.5 จากช่วงเวลาก่อนหน้าสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพรวมทางธุรกิจที่เป็นเชิงบวกสูงขึ้นอย่างมากตามข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงาน

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทยพบว่าข้อจำกัดด้านอุปทานและด้านอุปสงค์เป็นอุปสรรคที่มีนัยสำคัญลดลงกว่าเมื่อหกเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และร้อยละ 6 ตามลำดับ อาจเกิดจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานี้อาจส่งผลให้การรับรู้ถึงข้อจำกัดด้านอุปสงค์ดีขึ้น

ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ

การพิเคราะห์ผลการสำรวจจากธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดได้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับคะแนนสุขภาพทางธุรกิจที่สูง อัตราร้อยละของธุรกิจที่คาดหวังการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี จะเห็นได้จากคะแนนในครึ่งแรกของปี 2565 นั้นคิดเป็นร้อยละ 64 แล้วลดลงไปเป็นร้อยละ 54 ในครั้งหลังของปี 2565 และลดลงเหลือร้อยละ 46 ในครึ่งแรกของปี 2566 การลดลงนี้ส่งผลให้คะแนนการส่งออกของประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของภูมิภาคและทั่วโลก

ในช่วงเวลาเดียวกันคะแนนรายได้ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 64 ในปีที่แล้วมาเป็นร้อยละ 73 ในปัจจุบัน) ความคาดหวังในการทำกำไรสูงขึ้น (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 82) รวมถึงภาพรวมทางธุรกิจที่เป็นเชิงบวกก็เป็นไปตามแนวโน้มที่คล้ายกัน (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58 เป็นร้อยละ 72) ส่วนคะแนนการจ้างงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน (จากเดิมร้อยละ 36 ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 52) เช่นเดียวกันกับการลงทุนด้านทักษะพนักงาน (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 59) และการลงทุนด้านไอที (จากร้อยละ 49 เป็นร้อยละ 60) ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนของอาเซียนยังคงสูงกว่าคะแนนของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ เหล่านี้

คำอธิบายส่วนใหญ่สำหรับแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นนี้พบว่าเป็นปัจจัยมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศที่เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ การมาถึงของนักท่องเที่ยวก่อให้เกิดสภาพคล่องที่ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้แม้จะไม่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ การบริโภคของภาคเอกชนในประเทศไทยซึ่งได้รับแรงหนุนจากชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve และโครงการสำคัญ ๆ เช่น โครงการ One Bangkok การขยายสนามบินอู่ตะเภา และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป โครงการเหล่านี้บางโครงการอาจช่วยส่งเสริมที่จำเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจการส่งออกของประเทศไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้ของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น (จากร้อยละ 64 ในปีที่แล้วมาเป็นร้อยละ 73)

อุปสรรคที่พึงระวัง

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยบ่อยที่สุด โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ร้อยละ 50 (แย่กว่าช่วงก่อนหน้าเล็กน้อย) ความไม่แน่นอนทางการเมืองน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ควบคู่ไปกับแรงกดดันทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นอาจช่วยขจัดความไม่แน่นอนบางประการได้

ข้อจำกัดอื่นที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทย ได้แก่ ต้นทุนพลังงาน (ร้อยละ 44) และกฎระเบียบต่างๆ (ร้อยละ 32) สิ่งที่น่ากังวลน้อยกว่า คือ ความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ (ร้อยละ 24) ตัวบ่งชี้อุปสรรคเหล่านี้ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของประเทศไปสู่สังคมผู้สูงอายุยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

รายงานธุรกิจระหว่างประเทศครึ่งแรกประจำปี 2566 จัดทำโดยการสำรวจและสัมภาษณ์ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงผู้นำธุรกิจขนาดกลางประมาณ 5,000 ราย (รวมทั้งธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 100 ราย) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนของปีนี้ เราขอขอบคุณ Oxford Economics สำหรับความช่วยเหลือในการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานนี้