วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “Symbol of Trust” มาตรฐานทีวีโฮมช้อปปิ้งไทย?

“Symbol of Trust” มาตรฐานทีวีโฮมช้อปปิ้งไทย?

 
ความพยายามที่จะยกระดับและสร้างมาตรฐานกิจการทีวีโฮมช้อปปิ้ง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นและผุดพรายราวดอกเห็ดในฤดูฝน โดยเฉพาะในยุคหลังจากที่ช่องทีวีไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสถานีหลักในแบบเดิม หากยังมีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี และดิจิตอลทีวี มาช่วยขยายและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายอีกด้วย
 
การแสวงหาความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้ง ที่จะร่วมกันสร้างบรรทัดฐานทางธุรกิจ ทั้งในมิติของการสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจ การร่วมกันจัดวางกฎระเบียบ รวมถึงการให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภคที่เข้ามาเป็นผู้ซื้อสินค้า และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่จะจัดหน่าย เป็นกรณีที่ดำเนินสืบเนื่องมาเป็นระยะ
 
หากย้อนหลังกลับไปตั้งแต่เมื่อทีวีโฮมช้อปปิ้งได้เข้ามาสู่การรับรู้ของสังคมไทย เมื่อช่วงปี 1994 หรือเมื่อประมาณ 20 ปี ล่วงมาแล้ว พบว่าธุรกิจดังกล่าวได้จุดกระแสทั้งความสนใจและวิพากษ์จากสังคมวงกว้างอยู่เป็นระยะ ทั้งในมิติของกฎระเบียบจากภาครัฐ ที่ขาดความชัดเจน การโฆษณาสินค้าด้วยสรรพคุณที่พิเศษเกินจริง ซึ่งทำให้ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ต้องเผชิญกับปัญหาว่าด้วยภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือจากสังคมตลอดมา
 
“การเกิดขึ้นของสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้งประเทศไทย ไม่ได้ยุติปัญหาให้หมดไป เพราะยังมีประเด็นการขายโฆษณา การให้บริการลูกค้า และคุณภาพของสินค้าที่พึงมีในอนาคต แต่เราพยายามควบคุมและจัดการให้ลดน้อยลง และที่สำคัญ ในทุกๆ ครั้งที่เกิดปัญหา ก็จะมีคนรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้น จนจบทุกกรณีไป นั่นคือ ความตั้งใจของการก่อตั้งสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง ประเทศไทย” ทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) ระบุในงานเปิดตัวสมาคมฯ เมื่อไม่นานมานี้
 
การจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้ง เป็นความพยายามที่ดำเนินต่อเนื่องมานับปี โดยในเบื้องต้นมีบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง 5 รายประกอบด้วย “ทรูซีเล็คท์-ช้อปแชนแนล-โอช้อปปิ้ง-ทีวีไดเร็ค-ทีวีดีช้อป” ประกาศความร่วมมือจัดตั้ง “สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย)” ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2014
 
วัตถุประสงค์การก่อตั้งสมาคมในครั้งนั้นระบุว่า เพื่อดูแลผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิอันชอบธรรมจากการใช้บริการโฮมช้อปปิ้ง พร้อมยกระดับการประกอบธุรกิจให้มีมาตรฐานสากลระดับโลก และมีประสิทธิภาพ มีจริยธรรม เติบโตอย่างยั่งยืน ก้าวไปข้างหน้าแบบมืออาชีพ และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ
 
โดยในปี 2015 ผู้ประกอบการรายใหม่ ในนาม ไฮ ช้อปปิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ช่อง ไฮ ช้อปปิ้ง ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติมอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้สมาคมแห่งนี้เป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการทีวีโฮมช้อปปิ้งรายใหญ่ของไทยไว้เกือบครบทุกราย 
 
โดยนอกจาก 6 บริษัทสมาชิกจะมีทุนจดทะเบียนรวมกัน ทั้งสิ้นกว่า 2,600 ล้านบาทแล้ว มิติที่สำคัญในการรวมกลุ่มเป็นสมาคมประการหนึ่งก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นบริษัท ทรู จีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ทรู ช้อปปิ้ง ผ่านช่อง ทรู ซีเล็คท์ หรือในกรณีของบริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) ผู้ประกอบธุรกิจ ช่อง ช้อป ชาแนล รวมถึงบริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โฮม ช้อปปิ้ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจ โอช้อปปิ้ง ล้วนแต่มีโครงข่ายของธุรกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลายเป็นฉากหลัง
 
ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทย ทั้งทรูวิชั่น ซีพีออล เดอะมอลกรุ๊ป ไอซีซี รวมถึงเซ็นทรัล ดีพาทเม้นท์สโตร์ ในขณะที่บริษัทจากต่างประเทศ ทั้งซีเจ โอ ช้อปปิ้ง ยักษ์ใหญ่จากเกาหลี บริษัท ซูมิโตโม ผู้ประกอบการค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น บริษัท โตโน่ อิงค์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งถือเป็นโฮมช้อปปิ้งอันดับหนึ่งในไต้หวัน ต่างเข้ามาร่วมกิจกรรมในโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
 
มาตรฐานของโฮมช้อปปิ้งในห้วงระยะเวลานับจากนี้จึงเป็นประหนึ่งการวางกลไก ทั้งเพื่อตรวจสอบ ควบคุม และที่สำคัญสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ภายใต้สัญลักษณ์แห่งการเชื่อมั่น หรือ “The Symbol of Trust” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งในมิติของผู้ประกอบการก็คือ การบังคับใช้กฎระเบียบจาก กสทช. ในการระงับใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าไม่ถูกกฎระเบียบ ไม่ได้มาตรฐาน หรือโฆษณาเกินจริง ลดจำนวนจนเกือบจะหายไปเกือบหมดและลดลงไปมาก ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ประเมินว่านี่คือความถูกต้อง
 
ขณะที่ในมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากจะมี สคบ. เข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่บังคับใช้ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้สินค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปรับปรุงให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการดูแลผู้บริโภคอย่างตั้งใจ ภายใต้กรอบกฎหมายที่เคร่งครัด โดยเฉพาะการขออนุญาตจากภาครัฐ
 
“มีสองเรื่องที่ไม่เคยมาพร้อมกัน คือความถูกต้องและความเหมาะสม การเกิดขึ้นของสมาคมฯ และสัญลักษณ์แห่งการเชื่อมั่น หรือ “The Symbol of Trust” จะเป็นประหนึ่งจังหวะก้าวที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งในประเทศไทย” นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) ระบุ
 
ทั้งนี้รูปธรรมในการดูแลผู้บริโภค ภายใต้ความเชื่อมั่นผ่าน “Symbol of Trust” อยู่ที่หลักประกันว่าลูกค้าจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ 5 ประการทั้งในส่วนของการคืนสินค้าได้ (Return Policy) การรับประกันคุณภาพสินค้า (Quality Guarantee) ความรับผิดชอบในการใช้สินค้า (Product Liability) การให้บริการหลังการขาย (After Sale Service) และการครอบคลุมภายใต้กฎหมาย 8 ฉบับ (Rule & Regulation) ที่เป็นข้อบังคับของหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง
 
“แม้ว่าในความเป็นจริงกฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเป็นสิ่งที่ใช้บังคับมานานแล้ว แต่การออก trust mark ของสมาคมในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง และจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น”
 
ปัจจุบันมูลค่าตลาดทีวีโฮมช้อปปิ้งอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท และมีการเติบโต 20-25% ซึ่งจากการผนึกกำลังในการจัดตั้งสมาคมฯ กันครั้งนี้ จะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาด 85% โดยในอนาคตสมาคมฯ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีก 3-4 ราย จากผู้ประกอบการรายย่อยๆ ในตลาดที่มีอยู่ประมาณ 15 ราย และจะทำให้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า 95% และคาดว่าอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้งจะเติบโตด้วยมูลค่าตลาดประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท 
 
“หากหน่วยงานรัฐไม่ออกระเบียบมาให้เราคุ้มครองผู้บริโภค เราจะทำมั้ย เราต้องทำเองอยู่แล้ว”
 
ทั้งนี้ จากข้อมูลของผู้ที่เคยสั่งสินค้าจากสมาชิก พบว่ามีผู้ที่เคยสั่งสินค้าทางทีวีมาแล้วจำนวน 6 ล้านคน หรือ 13% ของผู้มีรายได้ 45 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สามารถเติบโตได้อีกมาก แต่สิ่งที่ทีวีโฮมช้อปปิ้งจะต้องเร่งดำเนินการคือการรักษาฐานลูกค้าเดิม และการหาลูกค้าใหม่ให้มาซื้อเพิ่มในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง มีความเติบโตและยังยืนต่อไปได้” ทรงพลกล่าว
 
ภายใต้ช่องทางการขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากมาย จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมีการสั่งซื้อสินค้าจากโฮมช้อปปิ้งมากยิ่งขึ้น ธุรกิจโฮมช้อปปิ้งจึงเป็นธุรกิจที่เติบโตสวนกระแสสภาพเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวและถือได้ว่าเป็นธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการให้ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็น ตาดู หูฟัง และได้รับรู้ข้อมูลในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานหรือกลยุทธ์ ที่ว่า Entertaining people with information
 
นับเป็นการแข่งขันแบบความร่วมมือของ 6 บริษัท โฮมช้อปปิ้งในไทย ซึ่งแม้มีฐานกลุ่มลูกค้าเดียวกัน กระนั้นก็ดีแต่ละบริษัทฯ ต่างมีสินค้า หรือจุดขายที่มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน และมีจุดเด่นเป็นของตัวเอง
 
“ลูกค้ามั่นใจ หน่วยงานรัฐสบายใจ” จึงถือเป็นประหนึ่งความคาดหวังของการจัดตั้งสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง ในประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี