วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > Let it Go, Let it Flow @ ลอยละล่อง

Let it Go, Let it Flow @ ลอยละล่อง

 

“อย่างเดียวที่สะท้อนตัวตนของผมกับแฟนคือ ชื่อโรงแรม ตอนนั้นเรากำลังโหยหาอิสรภาพมาก เราอยู่ใน “กรง” มาตลอด แล้ววันหนึ่งที่หลุดออกมา เราก็คงอยากลอยไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ เปรียบเหมือนชีวิตที่ไหลขึ้นลงไปกับน้ำ ไหลไปเรื่อยๆ เอื่อยๆ แต่ไหลไปอย่างมีความสุข”

คำบอกเล่าจากเจ้าของโรงแรมที่มีชื่อว่า “ลอยละล่อง” ซึ่งนอกจากบ่งบอกโลเกชั่นของโรงแรมที่อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อนี้ยังสะท้อนสิ่งที่หนุ่มใหญ่วัย 42 ปีคนนี้แสวงหามาตลอดชีวิต ที่ผ่านมา

สราวุธ ศาสนนันทน์ เป็นอดีตครีเอทีฟในบริษัทเอเจนซี โฆษณาที่ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก ในช่วงชีวิตการทำงานในวงการโฆษณาร่วม 20 ปี เขาฝากผลงานมาแล้วหลาย ร้อยชิ้นงาน เช่น เซ็นทรัลชุด “หนูผี”, สปอนเซอร์, ไวไวควิก, เคาน์เตอร์เซอร์วิส และหม่ำวอยซ์ เป็นต้น

ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยามุ่งหน้าสู่สาทรได้ขับพ้นท่าเรือ ราชวงศ์ไปได้สักพัก ผู้โดยสารที่ชีวิตไม่เร่งรีบและจดจ่อกับการ เดินทางจนเกินไป หลายคนที่เงยหน้าขึ้นมามองทิวทัศน์สองฝั่งน้ำจะได้ชื่นชมกับภาพเจดีย์จีนทรงแปลกตางดงาม นั่นคือที่ตั้งของสมาคมเผยแผ่คุณธรรม “เต็กก่า จีจินเกาะ”

วิวฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านไม้สองชั้นอายุ 30 ปี ลอยปริ่มอยู่ เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา คือ “ลอยละล่อง” โรงแรมขนาด 7 ห้องพัก บนพื้นที่ที่เคยเป็นโรงงานน้ำปลา คลังสินค้า และท่าเรือทรงวาด ซึ่งอยู่ภายในรั้วของวัดปทุมคงคา ถนนทรงวาด

เพราะมีบ้านอยู่ริมน้ำแถวบางลำพู ออฟฟิศอยู่ราชประสงค์ สราวุธชอบเดินทางด้วยเรือด่วน และทุกครั้งที่เห็นบ้านไม้หลังนี้ เขารู้สึกหลงใหล กระทั่งเจ้าของบ้านติดประกาศ ให้เช่า เขาจดเบอร์ไว้ แต่ก็นานกว่าที่จะได้โทรหา

“วันที่มาดูบ้านเป็นวันอาทิตย์ 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่เซ็งมากเพราะไม่อยากไปทำงาน นั่งคุยกับแฟนว่าเราน่าจะหาอะไรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความคิดของเราที่ว่า เราคงไม่เหมาะกับชีวิตทำงานแบบนั้นแล้ว เราอยากมีชีวิตที่บริโภคน้อยลง ใช้ชีวิตช้าลง เลยชวนกันมาดูเล่นๆ พอเข้าบ้านมาก็ชอบเลย เพราะเงียบสงบเหมือนอยู่คนละโลกกับข้างนอก”

จากนั้นอาทิตย์เดียว สราวุธชวนแฟนไปทำสัญญาเช่าบ้าน โดยไม่รู้ว่าบ้านหลังนี้เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังดัง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” เพราะหลังจากถูกใช้เป็นฉากห้องพักของ “พี่ลุง” ที่รับบทโดย “เคน ธีรเดช” บ้านหลังนี้ก็กลายเป็น บ้านพักของเหล่ายามมาตลอด เนื่องจากเจ้าของบ้านมีธุรกิจรักษาความปลอดภัย

สำหรับโรงแรมทั่วไป พื้นที่แรกที่แขกจะได้เริ่มต้นประสบการณ์อันดีคือพื้นที่ล็อบบี้ แต่ที่นี่ ห้องครัวคือภาพแรกที่แขกจะได้เห็น ก่อนจะเดินไปถึงพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเจ้าของโรงแรมไม่สะดวกปากที่จะให้เรียกล็อบบี้

พื้นที่ส่วนกลางที่นี่ไม่มีเก้าอี้มากเช่นโรงแรมอื่น แต่เต็มไปด้วยเบาะนั่งพื้นเพื่อให้แขกได้นั่งเหยียดยาว และนอนเอกเขนกในอิริยาบถสบายๆ รอชมวิวแม่น้ำ เรือด่วน เรือสำราญ เรือขนทราย ผักตบ และเศษขยะที่ลอยผ่านไปมา พร้อมกับรอบันทึกภาพยามพระอาทิตย์ตกดินสะท้อนกับเจดีย์ทรงจีน

“เราไม่มีธีมตกแต่ง มีแต่คีย์เวิร์ดให้ดีไซเนอร์ คือ “เปลญวน” เพราะเราทั้งคู่ชอบนอนเอกเขนก และอยากให้ดูสบายๆ ก็เลยไม่มีเก้าอี้เยอะ” สราวุธเล่า ด้วยการตกแต่งแบบนี้ แขกจึงรู้สึกราวอยู่บ้านตัวเอง หลายคนทิ้งของมีค่าแล้วเดินกลับห้องโดยไม่กลัวสูญหาย

การตกแต่งห้องพัก 7 ห้อง ใช้ “สี” เป็นชื่อห้อง โดยจุดเด่นแต่ละห้องแตกต่างกัน อาทิ ห้อง Green ซึ่งเป็นห้องที่ราคาแพงสุดถึง 4,000 บาท (ช่วงปกติ) จุดเด่นอยู่ที่บรรยากาศห้องโรแมนติก มีขนาดกว้างและเห็นแม่น้ำได้ 180 องศา ห้องนี้จึงถูกใจคู่รักและคู่ฮันนีมูนเป็นพิเศษ

ขณะที่ห้อง Black โดดเด่นที่ห้อง อาบน้ำบรรยากาศบ้านริมคลอง ห้อง Yellow มีสวนสวยด้านหน้าห้อง ภายในห้องมีอ่างน้ำสมัยจีนโบราณให้แช่ตัว ส่วนห้อง Red เป็นการดัดแปลงห้องใต้หลังคาเป็นห้องพักกิ๊บเก๋สำหรับผู้ใหญ่หัวใจเด็กที่เคยฝันอยากซุกตัวกลิ้งไปกลิ้งมาในซอกหลืบใต้หลังคา และห้อง White โดดเด่นที่เป็นห้องรวม 2 ชั้น 4 เตียง เตียงละ 1,100 บาท (ช่วงปกติ) พร้อมพื้นที่ส่วนกลางในห้อง  เพื่อให้เพื่อนใหม่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

แม้ “ลอยละล่อง” จะเป็นโรงแรมเล็กๆ แต่ที่นี่ก็พร้อมด้วยเครื่องทำน้ำอุ่น อ่างอาบน้ำ ทีวี ดีวีดีที่เจ้าของเลือกมาให้และมี wi-fi ฟรีพร้อมบริการแบบไทยๆ บน พื้นฐานความจริงใจและความหวังดีที่พึงมีต่อกัน อันเป็นสิ่งที่สราวุธมองหามาตลอดชีวิตการทำงานก่อนหน้านี้

โรงแรมแห่งนี้เปิดบริการในเดือนเมษายน 2554 ด้วยการโปรโมตผ่านเฟซบุ๊กและเว็บไซต์เป็นหลัก โดยมีเอเยนต์รายเดียวคือ agoda.com จากเดือนแรกๆ ที่พอหาห้องว่างได้บ้าง ผ่านมาไม่ถึงปี ที่นี่ถูกจองเต็มตลอดเดือนไปแล้วหลายเดือน โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น

แขกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติทั้งจากชาติตะวันตกและเอเชีย ระยะหลังมีชาวไต้หวันและชาวจีนเพิ่มขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลจากหนัง “รถไฟฟ้าฯ” ที่ไปโด่งดังในเมืองจีน โดยเป็นที่นิยมในกลุ่มเอ็นจีโอ นักดนตรี ศิลปิน และตากล้อง เกือบทุกคนมาด้วยเหตุผลอยากอยู่ริมน้ำและสัมผัส ชีวิตที่เป็นจริงของชาวกรุงเทพฯ

“มีแขกเคยบอกว่า จริงๆ เขาอยากเก็บที่นี่เป็นความลับ แต่ก็อดใจไม่ได้ที่จะบอกต่อ แขกบางคนมาที่นี่ 3 ครั้งแล้วจนกลายเป็นเพื่อนกัน ถ้าห้องไม่ว่าง เราก็พาไปพักที่บ้านแทน”

ผลตอบรับที่ดีเหล่านี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้สราวุธยิ่งขึ้นว่า การตัดสินใจเดินออกจาก “กรง” ราคาแพงเท่ากับเงินเดือนหลายหลักของตำแหน่ง Creative Director ในบริษัทเอเจนซีโฆษณาชั้นนำของโลกที่เขาถูกขังอยู่นานร่วม 20 ปีนั้น ถูกต้องแล้ว

“ทำงานมาถึงจุดหนึ่งแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันเลี้ยวผิด มันไม่ใช่ทางที่เราอยากทำเลย แล้วเผอิญอาชีพเรามันค่อนข้างจะขัดแย้งกับความคิดเรา ยิ่งอายุมาก ยิ่งตกผลึกมาก ก็ยิ่งรู้สึกว่าเลี้ยวผิดลึกขึ้นไปเรื่อย ณ วันนั้นเราอยากบริโภคน้อยลง แต่งานเรากลับเต็มไปด้วยการบริโภค และต้องคอยบอกให้คนอื่นบริโภค ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว” สราวุธย้ำว่าความคิด นี้เป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้ต้อง “แหกคุก”

นับจากเช้าแรกที่ได้ “อิสรภาพ” คืนมา สราวุธแลกด้วยการตื่นนอนเช้ากว่าเดิมเยอะเพื่อทำอาหารเช้าให้แขก จากที่เคยใช้แต่นิ้วคลิกคอมพิวเตอร์และชี้นิ้วสั่งทีมงานในฐานะไดเร็กเตอร์ วันนี้เขาต้องตอกตะปู งัดฝากระดาน ไสไม้ แก้น้ำรั่ว ซ่อมส้วม ฯลฯ ด้วยตัวเอง เขายอมรับว่า งานหนักขึ้น แต่รายได้คงไม่ดีเท่าเดิม แต่งานนี้ทำให้เขาหัวเราะได้ดังขึ้น “ช่วงหลังรู้สึกว่าฟังเพลงได้เพราะขึ้น เพราะเราไม่ต้องรีบฟังเหมือนสมัยก่อน ทั้งๆ ที่นาฬิกาก็ยังหมุนจังหวะเท่าเดิม แต่นาฬิกาอันเดิมเรารู้สึกว่ามันหมุนเร็วจนเราไม่มีเวลาคิด ไม่มีเวลาให้ตัวเอง ไม่มีเวลาให้คนอื่น ไม่มีแม้แต่เวลาจะฟังความเห็นต่าง ไม่มีเวลาทำความเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานพยายามจะบอกอะไร สุดท้ายคุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งเดียวที่คุณพยายามเข้าใจคือ เงิน เท่านั้นเอง เพราะจริงๆ แล้วคุณไม่ได้กลัวลูกค้าหรอกแต่กลัวไม่ได้เงินจากลูกค้า”

สราวุธมักรู้สึกแปลกใจที่ทั้งที่พูดกันคนละภาษา แต่เขาและแขกสามารถคุยกันรู้เรื่องและเข้าใจกันดีมาก เทียบกับที่ทำงานเก่า ขนาดประชุมกันถึง 7 รอบ และพูดภาษา เดียวกัน แต่ก็ยังไม่เข้าใจกัน “สัญญาณ” จากความไม่เข้าใจสั่งสมจนความรู้สึกแปลกแยกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลังในการทำงานวงการโฆษณา

“เศรษฐกิจแย่ ผู้บริโภคไม่ใช้เงิน ผมกลับเข้าใจผู้บริโภค แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องบอกให้บริโภคๆๆ ยิ่งหลังๆ โฆษณาไปไกลกว่าที่ผมอยากไป แบ่งแม่เป็นอย่างนี้อย่างนั้น แม่แบบ A อยากให้ลูกเก่ง แบบ B ไม่ได้อยากให้ลูกเก่งแต่อยากให้แข็งแรง ฯลฯ ผมว่า แม่ก็มีแม่เดียวนี่แหละ แม่ที่อยากให้ลูกเขาแข็งแรง เป็นเด็กดี” เก่งหรือไม่อีกเรื่อง ไม่มีใครผิดใครถูก เพียงแต่ผมไม่เข้าใจ พูดกับใครก็ไม่ได้ มันก็เริ่มอึดอัด”

สราวุธเชื่อว่าเขาคงเป็น “ปลาตีน” ในหมู่ “สัตว์บก” มานานเกินไป อาจถึงเวลาแล้วที่ปลาตีนควรกลับลงน้ำ บวกกับความรู้สึกผิดที่ไม่อาจทำงานถวายหัวให้บริษัทอีกต่อไป เขาจึงยอมลาออกมาเริ่มต้นเรียนรู้ “ชีวิตใหม่” ที่เขาเลือกเอง 

ช่วงแรกทั้งสองยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจโรงแรมเล็กๆ แห่งนี้จะไปรอดหรือไม่ แต่สิ่งที่ทั้งคู่มั่นใจมากคือ พวกเขาสบายใจขึ้นและมีชีวิตที่ช้าลง เพราะขั้นตอนในชีวิตลดน้อยลง และไม่ต้องทำงานตอบสนองต่อระบบบริโภคนิยมอย่างเอาเป็นเอาตายเช่นเดิมอีกแล้ว

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ด้วยความเป็นไดเร็กเตอร์ ในห้องทำงานส่วนตัวที่กลายเป็นอาณาจักร ทำให้เขารู้สึกใหญ่จนไม่คิดว่าตัวเองจะทำผิดได้ จึงไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำ “ขอโทษ” ทว่านับตั้งแต่ทำงานโรงแรมเขาจำไม่ได้ว่าได้กล่าวขอโทษอย่างถ่อมตน ให้กับแขกและคนรอบข้างมาแล้วกี่ครั้ง

“ก่อนนี้เราอยู่กับสิ่งสมมุติ ตำแหน่งที่โตขึ้น ห้องที่เขาสร้างให้ จริงๆ ก็คือเขาเอาคอกมากั้น เอากระจกมาวาง พอคุณมองกระจกก็คิดว่าเราสำเร็จกว่าไอ้คนที่อยู่ ในกระจก เผลอคิดไปว่าเรา “ใหญ่” ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับธรรมชาติ ทุกคนล้วนตัวเล็ก เท่ากันหมด”

เป็นเจ้าของโรงแรมมาปีกว่า สราวุธ บอกว่า ช่วงที่ดีที่สุดคือเวลาที่ได้นั่งดูแม่น้ำ พลิ้วไหวตามแรงลมและกระแสน้ำยามดึกและตอนเช้าตรู่อย่างไม่ต้องเร่งรีบ ด้วยความเชื่อว่าเมื่อใดที่ได้เป็นเจ้าของเวลาตัวเอง คนเราจะเริ่มมีเวลาให้กับทุกอย่างรอบ ตัว ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ และตัวเอง ซึ่งนั่น จะทำให้เข้าใจชีวิตได้ดีขึ้น

สำหรับสราวุธและคู่รัก ความภูมิใจใน “ลอยละล่อง” ไม่ใช่เพราะความสวยงาม หรือคำชื่นชมจากแขก แต่เพราะที่นี่คือ “สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ” ที่ทั้งคู่ตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในแบบของตน

“ในหนัง Shawshank มีคำพูดว่า ความกลัวจะเก็บคุณไว้ แต่ความฝันจะทำให้ คุณมีอิสระ ทำให้คุณลอยละล่อง แต่ระหว่างที่ยังเลือกไม่ได้ว่าจะกลัวหรือจะฝัน ก็จงรู้ไว้ว่าชีวิตมันสั้น จงทำทุกนาทีให้มีคุณค่าที่สุด” หนุ่มใหญ่ทิ้งท้าย