วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > ส่องการผลิตพลังงานไฟฟ้ายั่งยืนของ BPP ในจีน

ส่องการผลิตพลังงานไฟฟ้ายั่งยืนของ BPP ในจีน

ส่องการผลิตพลังงานไฟฟ้ายั่งยืนของ BPP ในจีน สู่ก้าวสำคัญแห่งการพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อป ระดับท้องถิ่น

หลังจากที่เราอยู่กับโลกปกติใหม่นี้กันจนคุ้นชิน สัญญาณความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศก็เริ่มดีขึ้น จีนนับเป็นอีกประเทศยักษ์ใหญ่ที่น่าจับตามองจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาสแรกในปี 2023 เป็นไปในทิศทางบวก ด้วยอัตราการขยายตัวที่ดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 4.5% ต่อปี นำโดยภาคบริการที่เติบโตสูงสุดในรอบ 18 เดือน หลังจากที่จีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศ เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยฟื้นตัวตามกันไปด้วย ธนาคารโลก (World Bank) ยังประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2023 จะมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) เฉลี่ยสูงถึง 5.1% เทียบกับปี 2022 ที่ 3% โดยมีความต้องการในประเทศเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ

เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าก็ย่อมเติบโตสอดคล้องไปในทางเดียวกันด้วย บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพระดับสากล ที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งลงหลักปักหลักฐานธุรกิจในจีนมานานกว่า 20 ปี ได้จับสัญญาณเศรษฐกิจและประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าในจีนว่าจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของผู้ผลิตไฟฟ้าจึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ทันต่อทิศทางตลาดที่ขยายตัว พร้อมๆ ไปกับการตอบรับยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของจีน

“จีนเป็น 1 ใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพที่ BPP มองเห็นโอกาสและเน้นขยายการลงทุนมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษ เพื่อที่จะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจจีนและตอบรับนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน BPP จึงเร่งสร้างการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่มาพร้อมกับเป้าหมายขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2025โดย BPP ยังคงเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มกำลังผลิตในจีนอีก 200 – 800 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า” นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงแนวทางการเติบโตของ BPP ในจีน

การบริหารจัดการพลังงานเพื่อรองรับประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตรากว่า 5% ต่อปี ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่จีนยังต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานดั้งเดิมที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน คาดการณ์ว่าในปี 2023 จีนจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดั้งเดิมอยู่ที่ 65% – 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ อย่างไรก็ดี จีนยังคงเดินหน้าปฏิวัติพลังงานเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดมากขึ้น และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2060 ส่งผลให้ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด อย่างการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและเทรนด์ความต้องการพลังงานของคนยุคใหม่ ขณะเดียวกันก็ออกมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนพลังงานในประเทศ เช่น เพิ่มโควต้าการผลิตถ่านหิน เปิดเหมืองถ่านหินเพิ่ม และยกเลิกเพดานการขึ้้นราคาไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมหนักเพื่อบรรเทาแรงกดดันของผู้ผลิตไฟฟ้า

ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา BPP ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) 3 แห่ง ใน 3 เมืองอย่างเจิ้งติ้ง โจวผิง และ หลวนหนาน การลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) และการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 7 แห่ง ทำให้ในปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตรวม 1,185.40 เมกะวัตต์เทียบเท่า จาก 11 โครงการในประเทศจีน โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้นคิดเป็นประมาณ 20% ของกำลังผลิตรวมจากสินทรัพย์ที่ BPP มีทั้งหมดในจีน

นายประกาย หยกน้ำเงิน Vice President – Business & Market Development ประจำกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ให้ข้อมูลเสริมว่า “ในช่วงแรกของการขยายการเติบโตของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในจีนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ของ BPP นั้น เราเน้นลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดในขณะนั้น แต่ในปี 2022 เป็นปีแรกที่โครงการโซลาร์รูฟท็อปในจีนมีการเติบโตมากกว่าโซลาร์ฟาร์มที่ติดตั้งบนพื้นดิน สาเหตุจากพื้นที่ที่จำกัดมากขึ้นและราคาค่าไฟที่สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโซลาร์ฟาร์มของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นหลายร้อยกิกะวัตต์ พื้นที่ที่จะใช้พัฒนาเป็นโซลาร์ฟาร์มได้จึงมีน้อยลง ที่เหลือจะเป็นพื้นที่การเกษตร ต่อมาเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนพื้นที่โซลาร์ฟาร์มบางส่วนกลับมาเป็นพื้นที่การเกษตร การทำโซลาร์รูฟท็อปจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวในช่วงเวลานี้”

นอกจากนี้ ในฐานะประเทศผู้ผลิตที่สำคัญของโลกทำให้จีนมีความพร้อมในการเป็นแหล่งผลิตวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์ กังหันลม แบตเตอรี่ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศอุตสาหกรรมพลังงาน ด้วยขนาดของตลาดที่ใหญ่มาก ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นการทำธุรกิจพลังงานสะอาดในแหล่งที่รวมผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานไว้อย่างครบวงจร จึงเป็นโอกาสมากกว่าจะเป็นความท้าทาย หากมองจากมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในตลาดอย่าง BPP

ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวของโซลาร์รูฟท็อปในจีนยังมีแรงหนุนจากอัตราค่าไฟที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตที่มีไฟส่วนเกินมีโอกาสขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยได้ในราคาที่สูงกว่าการขายให้ระบบที่ราคาขายส่ง “ตัวอย่างเช่นที่ปักกิ่ง ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปสามารถขายให้แก่ผู้ใช้ได้ในราคาประมาณ 2.40 บาทต่อหน่วย แต่หากขายไฟเข้าระบบ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 – 1.70 บาทต่อหน่วย จึงทำให้โซลาร์รูฟท็อปเติบโตเร็วเพราะมีโอกาสในการแข่งขัน แม้รัฐจะไม่ได้ให้เงินอุดหนุน (Adder) ดังเช่นในช่วงเริ่มต้นของการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แล้วก็ตาม” นายประกาย กล่าวเสริม

ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจพลังงานและหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดของจีน BPP ยังสามารถพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับและไว้ใจ จากผลงานทั้งด้านศักยภาพในการผลิต ประสบการณ์ การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนโดยรอบพื้นที่และหน่วยงานท้องถิ่น โดยใช้หลัก ESG ผสานจุดแข็งของระบบนิเวศทางธุรกิจ ทำให้ BPP กลายเป็นบริษัทไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นให้พัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับเมืองเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ย “BPP ทำธุรกิจในเมืองเจิ้งติ้งมานานกว่า 20 ปี ผ่านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเจิ้งติ้ง (Zhengding) ทั้งการจ่ายความร้อนให้แก่ครัวเรือนที่ทำได้ดีเกินกว่ามาตรฐานกำหนด และการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมในระดับมณฑล จากการนำความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ เพื่อทำระบบปรับอากาศให้กับเมือง (District Heating) ให้หลายพันครัวเรือนได้นำความร้อนไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเจิ้งติ้งยังถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญของมณฑลเหอเป่ย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนคนปัจจุบันให้ความสำคัญ จากการที่ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาเมืองเจิ้งติ้ง” นายกิรณ ตอกย้ำถึงความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว

จากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานที่สั่งสมมา BPP จึงพร้อมเดินหน้ากับโอกาสที่ได้รับ โดยในปัจจุบัน BPP กำลังพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้เมืองเจิ้งติ้ง ด้วยศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ถึง 167 เมกะวัตต์ สำหรับอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น ที่ทำการของหน่วยงานรัฐ และโรงเรียนต่างๆ

การทำโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับเมืองเจิ้งติ้งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การหล่อเลี้ยงเมืองให้มีชีวิตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้โดยใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นนั้น สามารถเป็นไปได้ “เมืองจะมีโอกาสขยายไปเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) มีระบบการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เพราะเมืองคือชีวิต และชีวิตคนเราก็ต้องมีการบริโภค แต่จะบริโภคอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะฉะนั้น เราจึงมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยการจัดการพลังงานอยู่เสมอ เราสามารถนำระบบดิจิทัลเข้ามาบริหารและลดการสูญเสียพลังงานได้ รวมไปถึงสามารถนำมาใช้บริหารการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดได้ ปัจจุบันในจีนมี 8 มณฑลจากทั้งหมด 32 มณฑลหรือประมาณ 25% ที่มีตลาดซื้อขายไฟแบบวันต่อวันหรือชั่วโมงต่อชั่วโมง ตลาดไฟฟ้าในจีนจึงมีความเสรีในระดับหนึ่ง เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับ BPP ในตลาดไฟฟ้าเสรีที่เรามีประสบการณ์ด้วย” นายกิรณ กล่าวทิ้งท้าย

BPP ยังคงยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Powering Energy Sustainability with Quality Megawatts” เพื่อสร้างเมกะวัตต์ที่มีคุณภาพด้วยหลัก “Triple E” ได้แก่ 1. Ecosystem สร้างระบบนิเวศของธุรกิจไฟฟ้าที่มีสมดุลของพอร์ตธุรกิจทั้งจากพลังงานความร้อน พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีพลังงาน 2. Excellence: รักษาประสิทธิภาพของการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ และ 3. ESG: ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม