วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > มาเลือกตั้งกันเถอะ

มาเลือกตั้งกันเถอะ

 
Column: AYUBOWAN
 
ขณะที่ความเป็นไปในแวดวงการเมืองไทยยังมีสภาพประหนึ่งติดบ่วงให้ต้องละล้าละลังและชะงักงันไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างตั้งใจ ภายใต้คำถามว่าจำเป็นต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ และจะปฏิรูปสิ่งใด อย่างไรให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งดูเหมือนว่ากำหนดการเลือกตั้งที่ผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งรอคอยจะไม่ได้ถูกบรรจุในปฏิทินไปอีกนานทีเดียว
 
แต่สำหรับสังคมศรีลังกา ซึ่งเพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้นำในตำแหน่งประธานาธิบดีตามระบอบประชาธิปไตยครั้งใหญ่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พวกเขากำลังเดินหน้าเข้าสู่คูหาเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 225 ที่นั่งมาทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติ
 
ไม่ได้หมายความว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาศรีลังกา เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ไม่ได้มีสภานิติบัญญัตินะคะ หากแต่ไมตรีพละ สิริเสนา (Maithripala Sirisena) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดมีการเลือกตั้งก่อนกำหนดครบวาระ โดยจะเลือกตั้งกันในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 นี้
 
มูลเหตุที่ทำให้ศรีลังกามีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่เร็วขึ้นกว่ากำหนดถึงกว่า 10 เดือน โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดคือเมื่อเมษายน 2010 และมีวาระ 6 ปีก็คือ คำมั่นสัญญาว่าด้วยการปฏิรูปทางการเมืองของไมตรีพละ สิริเสนา เมื่อต้นปี 2015 หลังจากครองชัยชนะในการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งสามารถโค่น Mahinda Rajapaksa ให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปท่ามกลางความแปลกใจของผู้สังเกตการณ์แต่ละกลุ่ม
 
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของไมตรีพละ สิริเสนา หลังการเลือกตั้งประชาธิปไตยเมื่อเดือนมกราคม 2015 ติดตามมาด้วยคำมั่นสัญญาและแผนปฏิรูป 100 วัน เพื่อแก้ไขข้อกำหนดบางประการในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะวาระและอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดี ที่ก่อนหน้านี้ Mahinda Rajapaksa พยายามขยายไปอย่างกว้างขวางไม่สิ้นสุด
 
เป็นการเสนอเพื่อปรับแก้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมนะคะ ไม่ใช่ฉีกรัฐธรรมนูญเดิมแล้วยกร่างขึ้นใหม่ โดยรัฐธรรมนูญของศรีลังกาฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือฉบับปี 1978 ซึ่งถือเป็นฉบับที่ 3 นับตั้งแต่ได้รับเอกราช โดยฉบับปี 1978 นี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐ ที่ได้มีการปรับแก้ไปตามยุคสมัยจนถึงขณะปัจจุบันรวมแล้ว 19 ครั้ง
 
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของไมตรีพละ สิริเสนา ในฐานะที่เป็นผู้สมัครอิสระแข่งขันกับ Mahinda Rajapaksa ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ยังส่งให้เขาดำรงตำแหน่งประธานพรรค United People’s Freedom Alliance: UPFA ไปโดยปริยาย ท่ามกลางความคลุมเครือของบทบาทการนำและการรอคอยการกลับมาของขั้วอำนาจในฝั่งฟากของ Mahinda Rajapaksa ด้วย
 
ความพยายามที่จะปฏิรูปของไมตรีพละ สิริเสนา จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และข้อเท็จจริงทางการเมืองของศรีลังกาไม่ได้อยู่ในห้องทดลองครอบแก้วที่ปราศจากเหตุปัจจัยและตัวแปร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติของพหุสังคมที่มีความจำเริญและพร้อมรับฟังความคิดเห็นหลากหลาย
 
ไมตรีพละ สิริเสนา พยายามรักษาดุลทางการเมืองด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติด้วยการเชิญ United National Party: UNP พรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภามาร่วมคณะรัฐบาล โดยแต่งตั้งให้ Ranil Wickremesinghe หัวหน้าพรรค UNP ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ท่ามกลางความหวังที่จะสามารถผลักดันการปฏิรูปและสร้างความปรองดองทางการเมืองในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้
 
แต่กำหนดการปฏิรูปด้วยการแก้ไขข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไมตรีพละ สิริเสนา ล่าช้ากว่าเงื่อนเวลาที่เคยได้ระบุไว้ เพราะตามแผนปฏิบัติการเดิมรัฐธรรมนูญควรแก้ไขเสร็จตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ก่อนที่สภานิติบัญญัติจะถูกยุบตั้งแต่เดือนเมษายนเพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
 
กระนั้นก็ดี สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือความเคารพในคำมั่นสัญญา หรือหากจะกล่าวด้วยศัพท์บัญญัติทางรัฐศาสตร์ว่า “สัญญาประชาคม” ก็ต้องถือว่า ศรีลังกามีความงอกเงยในกระบวนการประชาธิปไตยในระดับที่สูงและมีผู้นำทางการเมืองที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางจริยธรรมการเมืองพอสมควร
 
อย่างไรก็ดี ความซับซ้อนจากความเป็นพหุสังคม ที่มีความหลากหลายในกลุ่มชนหลายเชื้อชาติความเชื่ออย่างมาก รวมถึงอดีตที่เจ็บปวดจากบาดแผลของสงครามกลางเมืองของศรีลังกา ทำให้การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอุดมไปด้วยสีสันและการปรับเปลี่ยนจับขั้วพันธมิตรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเกินที่จะคาดเดาผลล่วงหน้า
 
ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจติดตามในการเลือกตั้งครั้งใหม่ของศรีลังกา อยู่ที่จังหวะก้าวของ Mahinda Rajapaksa และเครือข่ายพันธมิตรของเขาภายในพรรค United People’s Freedom Alliance: UPFA เพราะถึงแม้ตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการจะเป็นของไมตรีพละ สิริเสนา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่โปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัครพรรค UPFA กลับปรากฏภาพของ Mahinda Rajapaksa เป็นสื่อแสดงฝักฝ่ายและบทบาทการนำในพรรคอย่างชัดเจน
 
ยิ่งไปกว่านั้นในการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัคร UPFA จำนวนไม่น้อยยังปรากฏนักการเมืองในขั้วของ Mahinda Rajapaksa ซึ่งยังครองบทบาทและอิทธิพลในระดับสูงภายในพรรคเข้าร่วมปราศรัยหาเสียงให้กับผู้สมัครด้วย
 
การเมืองภายในศรีลังกาจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการชิงชัยระหว่างพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่เข้าร่วมช่วงชิงจำนวนที่นั่ง 225 ที่นั่งในรัฐสภาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการประลองกำลังและความนิยมในแนวนโยบายแบบมุ่งความจำเริญทางเศรษฐกิจตามแนวทางที่ Mahinda Rajapaksa พยายามนำเสนอมาต่อเนื่องกว่าทศวรรษที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของศรีลังกา
 
และการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปที่เน้นการตรวจสอบและถ่วงดุลที่ไมตรีพละ สิริเสนา หัวหน้าพรรค UPFA และพันธมิตรนอกพรรค พยายามนำเสนอด้วยหวังว่าจะสามารถผนวกผสานความจำเริญทางเศรษฐกิจเข้ากับพัฒนาการทางสังคม และวิวัฒนาการทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน
 
ผลของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในศรีลังกา จึงมีความสำคัญไม่ใช่ในมิติของการช่วงชิงอำนาจผลประโยชน์ของกลุ่มขั้วทางการเมืองเท่านั้น หากแต่จะเป็นประหนึ่งสัญญาณแห่งความชัดเจนที่นักลงทุนและผู้สังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยต่างให้ความสนใจติดตาม เพราะจะเป็นการบ่งบอกแนวทางการพัฒนาของศรีลังกาในระยะถัดไปจากนี้ว่าจะเคลื่อนไปในทิศทางใด
 
เป็นภาวะที่โพ้นไปจากคำถามว่าด้วย “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่” ที่ทำให้บางประเทศต้องอยู่ในสภาพ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ไปไกลมากแล้วนะคะ